Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








๓. ประเด็นปัญหา

24 มิ.ย. 2565

๓.ประเด็นปัญหา

๓.๑ ปัญหาผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวไม่ได้รับใบอนุญาต

ประเด็นปัญหา : กรณีที่ผู้บริโภคพบปัญหาว่า ผู้ประกอบธุรกิจได้มีการเปิดโฆษณาขายทัวร์ต่างประเทศผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว มีการเสนอขายโปรแกรมทัวร์ต่างประเทศนำภาพของนักท่องเที่ยวซึ่งกำลังเที่ยวที่ต่างประเทศมาโพสต์ลงหน้าเพจเฟซบุ๊กของตนเพื่อให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาดูและเกิดความน่าเชื่อถือ หลอกลวงนักท่องเที่ยวโดยการรับจองทัวร์ โดยเก็บเงินครบตามจำนวนค่าบริการ และเมื่อใกล้ถึงวันเดินทางจะอ้างว่าคนจองทัวร์น้อยจึงทำให้ทัวร์ไม่สามารถออกเดินทางได้ หรือแจ้งว่าจองผิดวัน ทำให้ลูกค้าไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวตามที่ซื้อโปรแกรมทัวร์ไว้ โดยผู้ใดประสงค์จะประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องทำการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวจากนายทะเบียนก่อน หากผู้ใดประกอบธุรกิจ นำเที่ยวโดยไม่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น ก่อนเลือกซื้อผู้บริโภคควรตรวจสอบว่าบริษัทมีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวหรือไม่ จะต้องตรวจสอบเลขที่ วัน เดือน ปี ที่ออกใบอนุญาต และควรตรวจสอบประวัติของบริษัทนำเที่ยวจากกรมการท่องเที่ยวก่อนว่าบริษัทเหล่านั้นมีเรื่องร้องเรียน หรืออยู่ระหว่างการพักใช้ใบอนุญาตหรือไม่ ขณะที่การเลือกซื้อรายการนำเที่ยวจะต้องมีการระบุรายละเอียดชัดเจนว่าราคาดังกล่าวได้รับอะไรบ้าง หากผู้บริโภคพบเจอผู้ประกอบธุรกิจไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ให้แจ้งร้องเรียนไปยังกรมการท่องเที่ยว โทร ๐ ๒๑๔๑ ๓๓๓๓ เว็บไซต์ www.dot.go.th

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่ พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑

ช่องทางการร้องเรียน : กรมการท่องเที่ยว อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (อาคาร B) ชั้น ๒ – ๓ เลขที่ ๑๒๐ หมู่ที่ ๓ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐

โทร : ๐ ๒๑๔๑ ๓๓๓๓

อีเมล : webmaster@tourism.go.th

เว็บไซต์ : www.dot.go.th




พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๕

พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๘๐



******************************


๓.๒ ปัญหาผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดให้มีมัคคุเทศก์เดินทางไปกับนักท่องเที่ยว

ประเด็นปัญหา : กรณีที่ผู้บริโภคพบปัญหาว่าผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้มีการจัดให้มัคคุเทศก์หรือผู้นำเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวไปกับนักท่องเที่ยว ซึ่งตามปกติแล้วมัคคุเทศก์จะเป็นผู้ให้บริการเป็นปกติธุระในการ นำนักท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่างๆ โดยให้บริการเกี่ยวกับคำแนะนำและความรู้ด้านต่างๆ แก่นักท่องเที่ยว และในส่วนของผู้นำเที่ยวจะเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลและอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในการเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ซึ่งการที่ผู้ประกอบการจะต้องมีการจัดมัคคุเทศก์หรือผู้นำเที่ยวให้แก่นักท่องเที่ยวทุกครั้ง กรณีที่กรุ๊ปทัวร์เดินทางไปต่างประเทศ ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวต้องจัดให้มีผู้นำเที่ยวที่ได้ขึ้นทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เดินทางไปกับนักท่องเที่ยว ในการเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ของมัคคุเทศก์หรือผู้นำเที่ยว ให้ถือว่าเป็นการกระทำในทางการที่จ้างของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ซึ่งการที่ผู้ประกอบธุรกิจไม่ได้มีการจัดให้มีมัคคุเทศก์หรือผู้นำเที่ยวให้แก่นักเที่ยวให้การเดิน ผู้ประกอบธุรกิจต้องรับโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

ดังนั้น หากผู้บริโภคพบเจอปัญหาผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดให้มีมัคคุเทศก์หรือผู้นำเที่ยวเดินทางไปกับนักท่องเที่ยวสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังกรมการท่องเที่ยว โทร ๐ ๒๑๔๑ ๓๓๓๓ เว็บไซต์ www.dot.go.th

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่ พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑

ช่องทางการร้องเรียน : กรมการท่องเที่ยว อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (อาคาร B) ชั้น ๒ – ๓ เลขที่ ๑๒๐ หมู่ที่ ๓ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐

โทร : ๐ ๒๑๔๑ ๓๓๓๓

อีเมล : webmaster@tourism.go.th

เว็บไซต์ : www.dot.go.th




พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔

พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔

พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓๓ วรรคหนึ่ง

พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓๓ วรรคสอง

พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓๓ วรรคสาม

พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๘๕



******************************


๓.๓ ปัญหาบุคคลทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์โดยไม่ได้รับใบอนุญาต

ประเด็นปัญหา : ปัจจุบันนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนมัคคุเทศก์ จึงทำให้เกิดปัญหามัคคุเทศก์เถื่อนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมัคคุเทศก์เถื่อนโดยส่วนมากไม่ได้ถือสัญชาติไทย ทำให้มีผลเสียต่อประเทศชาติและยังก่อให้เกิดการว่างงานของมัคคุเทศก์ในพื้นที่ แหล่งท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มัคคุเทศก์ในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก และนอกจากนี้มัคคุเทศก์เถื่อนส่วนมากมีพฤติกรรมนำบัตรมัคคุเทศก์ปลอม มาทำหน้าที่เป็นไกด์นำเที่ยวให้กลุ่มทัวร์ชาวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวเมืองไทย โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมที่ดีของเมืองไทย ทำให้นักท่องเที่ยวไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง เนื่องจากไม่ได้ผ่านการอบรมที่ถูกต้องที่ไม่ผ่านการอบรม และเป็นการกระทำไปเพื่อหลอกลวง เอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ทำให้บริษัททัวร์นำเที่ยวหลายคณะเสียหาย ซึ่งผู้ใดประสงค์จะเป็นมัคคุเทศก์จะต้องยื่นคำขอรับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์จากนายทะเบียน แสดงเครื่องหมายการเป็นมัคคุเทศก์ซึ่งได้รับใบอนุญาต และมัคคุเทศก์ต้องไม่กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง อันจะนำซึ่งความเสื่อมเสียชื่อเสียงเกียรติยศและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ ๑๐ หากผู้ใดทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ หรือทำหน้าที่มัคคุเทศก์ในระหว่างถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตอันเป็นการฝ่าฝืน ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ๑๑

ดังนั้น หากผู้บริโภคพบเห็นพฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายการกระทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นมัคคุเทศก์ สามารถดำเนินการร้องเรียนไปยังนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กลางหรือนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์สาขา แล้วแต่กรณี หรือตรวจสอบใบอนุญาตมัคคุเทศก์ได้ที่ กรมการท่องเที่ยว โทร ๐ ๒๑๔๑ ๓๓๓๓ เว็บไซต์ www.dot.go.th หรือสามารถดำเนินการร้องทุกข์ได้ที่ สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่ พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑

ช่องทางการร้องเรียน : กรมการท่องเที่ยว อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (อาคาร B) ชั้น ๒ – ๓ เลขที่ ๑๒๐ หมู่ที่ ๓ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐

โทร : ๐ ๒๑๔๑ ๓๓๓๓

อีเมล : webmaster@tourism.go.th

เว็บไซต์ : www.dot.go.th




พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔๙

๑๐ กฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๓๖) ออกตามความในพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๓๕

๑๑ พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๘๖



******************************


๓.๔ ปัญหาบุคคลทำหน้าที่เป็นผู้นำเที่ยวโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียน

ประเด็นปัญหา : ในกรณีที่ผู้บริโภคพบปัญหาว่าผู้นำเที่ยว ซึ่งมีหน้าที่นำลูกค้าจากประเทศไทยเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ คอยอำนวยความสะดวก การแนะนำข้อมูล แก้ไขปัญหาให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจ ลักษณะการทำงานคือ นำลูกค้าออกจากประเทศไทยและกลับมายังประเทศไทยอย่างปลอดภัย รวมถึงประสานงานการนาเที่ยวกับมัคคุเทศก์ตั้งแต่เริ่มต้นการเดินทางจนเดินทางกลับมายังประเทศ โดยบุคคลใดที่จะเป็นผู้นำเที่ยวต้องขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเที่ยวตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ๑๒ แต่กลับพบว่าผู้นำเที่ยวไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น การที่ผู้ใดทำหน้าที่เป็นผู้นำเที่ยวโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้นำเที่ยว ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ๑๓

ดังนั้น หากผู้บริโภคพบเจอปัญหาบุคคลที่เป็นผู้นำเที่ยวโดยไม่ได้มีการจดทะเบียนสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังกรมการท่องเที่ยว โทร ๐ ๒๑๔๑ ๓๓๓๓ เว็บไซต์ www.dot.go.th

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่ พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑

ช่องทางการร้องเรียน : กรมการท่องเที่ยว อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (อาคาร B) ชั้น ๒ – ๓ เลขที่ ๑๒๐ หมู่ที่ ๓ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐

โทร : ๐ ๒๑๔๑ ๓๓๓๓

อีเมล : webmaster@tourism.go.th

เว็บไซต์ : www.dot.go.th




๑๒ พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๖๔

๑๓ พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๙๐



******************************


๓.๕ ปัญหาการขอยกเลิกการนำเที่ยวและไม่ได้รับเงินคืน

ประเด็นปัญหา : ในกรณีที่นักท่องเที่ยวพบปัญหาว่า ได้มีการจองทริป (การนำเที่ยว) และได้มีการชำระเงินค่าบริการ การจองทั้งหมดหรือบางส่วน ต่อมามีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางได้ หรือมีเหตุให้ต้องยกเลิกการจองทริป (การนำเที่ยว) ซึ่งไม่ใช่ความผิดของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว โดยผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องดำเนินการจ่ายเงินคืนให้แก่นักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่าอัตราตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศน์กำหนดไว้ ๑๔ซึ่งในกรณีที่นักท่องเที่ยวมีเหตุดังกล่าว การที่จะขอเงินค่าบริการที่ชำระไว้แล้วคืนให้นักท่องเที่ยวจะต้องแจ้งความประสงค์ขอรับเงินคืนจากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว โดยเมื่อนักท่องเที่ยวแจ้งความประสงค์ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทราบแล้ว ให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการที่จะต้องจ่ายเงินคืนแก่นักท่องเที่ยวในอัตรา ๑๕ ดังต่อไปนี้

(๑) ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทราบไม่น้อยกว่าสามสิบวันก่อนวันที่นำเที่ยว ให้คืนอัตราเดิมของเงินค่าบริการทั้งหมด

(๒) ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทราบไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันที่นำเที่ยว ให้คืนในครึ่งหนึ่งของเงินค่าบริการทั้งหมด

(๓) ถ้านักท่องเที่ยวแจ้งยกเลิกการเดินทางล่วงหน้าให้ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวทราบน้อยกว่าสิบห้าวันก่อนวันที่นำเที่ยว ไม่ต้องคืนเงินค่าบริการ

การคืนเงินนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคืนเงินจำนวนเงินที่หลังผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวได้นำมาหักค่าใช้จ่ายที่จ่ายจริง แต่ถ้าค่าใช้จ่ายสูงกว่าเงินค่าบริการที่ได้ชำระไว้ ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะเรียกจากนักท่องเที่ยวไม่ได้ ทั้งนี้ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องมีหลักฐานในการจ่าย ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการขอวีซ่า ค่ามัดจำบัตรโดยสารเครื่องบิน และค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ ๑๖ หากผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวไม่คืนเงินค่าบริการ ที่นักท่องเที่ยวได้ชำระไว้ หรือคืนน้อยกว่า ให้นักท่องเที่ยวร้องเรียนต่อนายทะเบียน ๑๗

ดังนั้น หากนักท่องเที่ยวได้พบเจอปัญหาการยื่นขอยกเลิกทริป (การนำเที่ยว) โดยไม่ได้รับเงินค่าบริการคืนจากผู้ประกอบธุรกิจ ให้ดำเนินการร้องเรียนไปยังนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์กลางหรือนายทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์สาขา แล้วแต่กรณี หรือดำเนินการแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยัง กรมการท่องเที่ยว โทร ๐ ๒๑๔๑ ๓๓๓๓ เว็บไซต์ www.dot.go.th

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑

(๒) ประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. ๒๕๕๓

ช่องทางการร้องเรียน : กรมการท่องเที่ยว อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (อาคาร B) ชั้น ๒ – ๓ เลขที่ ๑๒๐ หมู่ที่ ๓ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้องเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐

โทร : ๐ ๒๑๔๑ ๓๓๓๓

อีเมล : webmaster@tourism.go.th

เว็บไซต์ : www.dot.go.th




๑๔ พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๘

๑๕ ประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๑

๑๖ ประกาศคณะกรรมการธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๒

๑๗ พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔๐ ประกอบ ประกาศคณะกรรมการธุรกิจ นำเที่ยวและมัคคุเทศก์ เรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการเกี่ยวกับอัตราการจ่ายเงินค่าบริการคืนให้แก่นักท่องเที่ยว พ.ศ. ๒๕๕๓ ข้อ ๓



******************************


๓.๖ ปัญหาผู้ประธุรกิจนำเที่ยวไม่ได้จัดบริการตามที่ได้มีการโฆษณาหรือชี้ชวนเกี่ยวกับรายการนำเที่ยว

ประเด็นปัญหา : ปัจจุบันถือได้ว่าสื่อโฆษณาเป็นจุดขายอย่างหนึ่งที่สำคัญสำหรับผู้ประกอบการในการช่วยเหลือให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น เมื่อได้มีการซื้อทริป (การนำเที่ยว) มาแล้วกลับพบว่าไม่ได้เป็นไปตามที่ได้มีการโฆษณาไว้ เช่น ได้มีการโฆษณาเที่ยวเกาะ ๔ เกาะภายในหนึ่งวัน โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม จ่ายเพียง ๙๙๙ บาท แต่เมื่อซื้อทริปไปแล้วกลับพบว่า มีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเนื่องจากราคาที่ได้มีการโฆษณาไว้ ซึ่งการโฆษณาชี้ชวนเกี่ยวกับรายการนำเที่ยวนั้น ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวจะต้องจักทำเป็นเอกสาร เช่น ๑๘ ชื่อผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว และสถานที่และเลขที่ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ระยะเวลาที่ใช้ในการนำเที่ยว ค่าบริการและวิธีการชำระค่าบริการ ลักษณะและประเภทของยานพาหนะที่ใช้ในการเดินทาง จุดหมายปลายทางและที่แวะพัก รวมทั้งสถานที่สำคัญในการนำเที่ยว ลักษณะและประเภทของที่พัก และจำนวนครั้งของอาหารที่จัดให้ การจัดให้มีมัคคุเทศก์หรือผู้นำเที่ยว จำนวนขั้นต่ำของนักท่องเที่ยวสำหรับการนำเที่ยว ในกรณีมีเงื่อนไขว่าต้องมีนักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่าจำนวนที่กำหนด การจัดให้มีการประกันภัยสำหรับอุบัติเหตุ

ดังนั้น หากผู้ประกอบการไม่ได้มีการแจ้งราคาดังกล่าวให้ครบถ้วนจะต้องรับโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงห้าหมื่นบาท ๑๙

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑

ช่องทางการร้องเรียน : กรมการท่องเที่ยว อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (อาคาร B) ชั้น ๒ – ๓ เลขที่ ๑๒๐ หมู่ที่ ๓ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐

โทร : ๐ ๒๑๔๑ ๓๓๓๓

อีเมล : webmaster@tourism.go.th

เว็บไซต์ : www.dot.go.th




๑๘ พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๖

๑๙ พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๘๓



******************************


๓.๗ ปัญหาการหลอกขายทริปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ

ประเด็นปัญหา : เนื่องจากปัจจุบันการมักจะมีการเปิดบูธขายโปรแกรมทริปเที่ยวเป็นประจำในราคาถูก โดยการจองโปรแกรมทัวร์มีทั้งแบบกำหนดวันและไม่กำหนดวันเดินทาง จึงทำให้เกิดความน่าเชื่อถือมีนักท่องเที่ยวหลงเชื่อจำนวนมากซื้อโปรแกรมทัวร์ และเมื่อใกล้ถึงกำหนดวันเดินทางถูกแจ้งยกเลิก เมื่อทำการติดต่อทางผู้ประกอบธุรกิจอ้างว่าบริษัทฯ ขาดสภาพคล่องทางการเงินจึงไม่มีเงินจ่ายค่ามัดจำกับทางโรงแรมที่จองไว้ จึง ไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวในวันและเวลาดังกล่าวได้ เมื่อทวงถามเพื่อจะขอเงินค่าซื้อโปรแกรมการทัวร์คืน กลับถูกปฏิเสธและบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา และปิดบริษัทหลบหนีไป ในกรณีดังกล่าวผู้ประกอบธุรกิจได้มีการกระทำความผิดฐานฉ้อโกง หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ๒๐ อีกทั้งเป็นการแสดงให้เห็นได้ชัดเจนว่า ผู้ประกอบธุรกิจมีเจตนาไม่เปิดทริปเที่ยวตั้งแต่แรก แต่ออกบูธเปิดขายเพื่อให้คนเข้ามาซื้อเพื่อหวังเอาเงินของผู้ซื้อและปิดบริษัทหนีไปถือว่าเป็นความผิดฉ้อโกงประชาชน ผู้กระทำต้องรับโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ๒๑ และผู้บริโภคควรรีบดำเนินการร้องเรียนหรือปรากฏต่อนายทะเบียนว่าผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับธุรกิจนำเที่ยว ให้นายทะเบียนดำเนินการสอบหาข้อเท็จจริงและวินิจฉัยโดยเร็วและเป็นธรรม ๒๒

ดังนั้น ผู้บริโภคต้องการจะซื้อโปรแกรมทริปเที่ยวควรทำการศึกษาบริษัทที่จะทำการซื้อโปรมแกรมเที่ยวให้ถี่ถ้วน อย่าเห็นแก่ราคาถูกหรือโปรโมชั่น หากผู้บริโภคพบเจอปัญหาดังกล่าวสามารถทำการร้องเรียนได้ที่กรมการท่องเที่ยว โทร ๐ ๒๑๔๑ ๓๓๓๓ เว็บไซต์ www.dot.go.th

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง: ได้แก่

(๑) พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑

(๒) ประมวลกฎหมายอาญา

ช่องทางการร้องเรียน : กรมการท่องเที่ยว อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ (อาคาร B) ชั้น ๒ – ๓ เลขที่ ๑๒๐ หมู่ที่ ๓ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๑๔๑ ๓๓๓๓

อีเมล : webmaster@tourism.go.th

เว็บไซต์ : www.dot.go.th




๒๐ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑

๒๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๓ วรรคแรก

๒๒ พระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔๐



******************************


๓.๘ ปัญหาผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต

ประเด็นปัญหา : กรณีที่ผู้บริโภคพบเจอปัญหาว่า โรงแรมที่ตนเข้าพักไม่ได้มีการการอนุญาตประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย หมายถึง การประกอบธุรกิจโรงแรมได้นั้น จะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมจากนาย ทะเบียนโรงแรม ๒๓ ได้แก่ อธิบดีกรมการปกครองหากโรงแรมตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด ในกรณีตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวังต่างๆ โดยโรงแรมจะต้องมีสถานที่ตั้งทำเลที่เหมาะสม ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและอนามัยของผู้พักและมีการคมนาคมสะดวกและปลอดภัย เส้นทางเข้าออกโรงแรมต้องไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านการจราจร หรือในกรณีที่ใช้พื้นที่ประกอบธุรกิจโรงแรมในอาคารเดียวกันกับการประกอบกิจการอื่นต้องแบ่งสถานที่ให้ชัดเจน และการประกอบกิจการอื่นต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจโรงแรม ไม่ตั้งอยู่ในบริเวณหรือใกล้เคียงกับโบราณสถาน ศาสนสถานหรือสถาน อันเป็นที่เคารพในทางศาสนา หรือสถานที่อื่นใดอันจะทำให้เกิดทัศนียภาพที่ไม่เหมาะสม กระทบต่อความมั่นคงและการดำรงอยู่ของสถานที่ หรือจะทำให้ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่น ๒๔ โดยทางโรงแรมจะต้องจัดให้มีการบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พัก ๒๕ ซึ่งการที่ผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมไม่ได้มีการยื่นคำขอในการขออนุญาต ถือว่าไม่ได้มีการตรวจสอบสถานที่พักจากนายทะเบียน ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ตั้ง ขนาด ลักษณะ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือมาตรฐานการประกอบธุรกิจของโรงแรมแต่ละประเภทเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งหากฝ่าฝืนการประกอบธุรกิจโดยไม่มีใบอนุญาต ผู้นั้นจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังฝ่าฝืนอยู่ ๒๖

ดังนั้น หากผู้บริโภคพบเจอปัญหาประกอบธุรกิจโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต สามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนไปยังกรมการปกครอง โทร : ๐ ๒๒๒๑ ๐๑๕๑ เว็บไซต์ : www.dopa.go.th

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. ๒๕๔๗

(๒) กฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ๒๕๕๑

ช่องทางการร้องเรียน : ได้แก่

(๑) กรมการปกครอง ถนนอัษฎางค์ แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐

โทร : ๐ ๒๒๒๑ ๐๑๕๑ ๘

อีเมล : webmaster@dopa.go.th

เว็บไซต์ : www.dopa.go.th

(๒) ต่างจังหวัดให้ยื่น ณ ที่ทำการปกครองอำเภอ หรือที่ทำการปกครองกิ่งอำเภอท้องที่ที่โรงแรมตั้งอยู่




๒๓ พระราชบัญญัติโรงแรมพ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๑๕

๒๔ กฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๓

๒๕ กฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๔

๒๖ พระราชบัญญัติโรงแรมพ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๕๙



******************************


๓.๙ ปัญหาการเปลี่ยนแปลงประเภทของโรงแรม เพิ่มหรือลดจำนวนห้องพัก หรือเปลี่ยนชื่อโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาต

ประเด็นปัญหา : ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงแรมได้มีการเปลี่ยนแปลงประเภทของโรงแรม เพิ่มหรือลดจำนวนห้องพักหรือเปลี่ยนชื่อโรงแรม การจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องยื่นคำขอหรือแจ้งความประสงค์ทั่วไป ตามแบบ ร.ร. ๑/๓ ๒๗ ต่อนายทะเบียน ณ ท้องที่ที่โรงแรมตั้งอยู่ โดยนายทะเบียนจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบความถูกต้องให้ครบถ้วน หรือความสมบูรณ์ของคำขอ ๒๘ และให้นายทะเบียนแจ้งผลการตรวจสอบให้ผู้ขอทราบภายในห้าวันทำการนับแต่วันยื่นคำขอ พร้อมทั้งกำหนดระยะเวลาให้ผู้ขอแก้ไข หากพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้วผู้ขอไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ให้นายทะเบียนคืนคำขอแก่ผู้ขอ หากในกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจได้ยื่นคำขอไปแล้วและไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จหรือไม่ดำเนินการตามที่ได้ยื่นคำขอ และมีการเปลี่ยนแปลงประเภทของโรงแรม เพิ่มหรือลดจำนวนห้องพักซึ่งมีผลกระทบต่อโครงสร้างของโรงแรมโดยที่ยังไม่ได้รับอนุญาต ๒๙ ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมต้องรับโทษปรับทางปกครองไม่เกินห้าแสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกินสองหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ๓๐ และกรณีของการเปลี่ยนชื่อโรงแรมโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม ต้องรับโทษปรับทางปกครองไม่เกินหนึ่งแสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกินห้าพันบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ๓๑

ดังนั้น หากผู้ประกอบธุรกิจจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงใดๆ ควรที่จะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการประกอบกิจการโรงแรม หากผู้บริโภคพบเจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนได้ที่ กรมการปกครอง โทร : ๐ ๒๒๒๑ ๐๑๕๑ ๘ เว็บไซต์ : www.dopa.go.th

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. ๒๕๔๗

(๒) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดแบบคำขอรับใบอนุญาต คำขอต่ออายุใบอนุญาตคำขอโอน/รับโอนใบอนุญาต คำขอหรือการแจ้งความประสงค์ทั่วไป และใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. ๒๕๔๗

(๓) ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเปลี่ยนแปลงประเภทของโรงแรมเพิ่มหรือลดจำนวนห้องพัก หรือเปลี่ยนชื่อโรงแรม

ช่องทางการร้องเรียน : ได้แก่

(๑) กรมการปกครอง ถนนอัษฎางค์ แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐

โทร : ๐ ๒๒๒๑ ๐๑๕๑ ๘

อีเมล : webmaster@dopa.go.th

เว็บไซต์ : www.dopa.go.th

(๒) ต่างจังหวัดให้ยื่น ณ ที่ทำการปกครองอำเภอ หรือที่ทำการปกครองกิ่งอำเภอท้องที่ที่โรงแรมตั้งอยู่




๒๗ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง กำหนดแบบคำขอรับใบอนุญาต คำขอต่ออายุใบอนุญาต คำขอโอน/รับโอนใบอนุญาต คำขอหรือการแจ้งความประสงค์ทั่วไป และใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรมตาม พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๑ (๔)

๒๘ ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเปลี่ยนแปลงประเภทของโรงแรม เพิ่มหรือลดจำนวนห้องพัก หรือเปลี่ยนชื่อโรงแรม ข้อ ๑

๒๙ พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๒๒

๓๐ พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๕๐

๓๑ พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๕๑



******************************


๓.๑๐ ปัญหาโรงแรมปฏิเสธไม่รับบุคคลที่ประสงค์จะเข้าพักในโรงแรมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

ประเด็นปัญหา : ในกรณีที่ผู้บริโภคพบเจอปัญหาโรงแรมปฎิเสธไม่ให้พักทั้งที่มีห้องว่างสามารถให้นักท่องเที่ยวพักได้ แต่กลับปฎิเสธทั้งที่ไม่มีเหตุอันสมควรใดๆ ซึ่งการปฎิเสธนั้น ทางโรงแรมหรือผู้จัดการสามารถดำเนินการปฎิเสธได้ ๓๒ หากมีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าบุคคลนั้นจะเข้าไปหลบซ่อน มั่วสุม หรือกระทำการใดอันเป็นความผิดอาญาขึ้นในโรงแรม หรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้พักอื่นในโรงแรม หรือมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นไม่สามารถจ่ายค่าห้องพักได้ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคติดต่อตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ หรือมีเหตุอันใดที่สมควรแก่การไม่ให้พัก ดังนั้น การที่ผู้ประกอบธุรกิจหรือโรงแรมปฏิเสธไม่รับบุคคลที่ประสงค์จะเข้าพักในโรงแรมโดยไม่มีเหตุดังกล่าว ต้องรับโทษปรับทางปกครองตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท ๓๓

ดังนั้น หากผู้บริโภคต้องการหาที่พักโรงแรมควรศึกษาสอบถามทางโรงแรมก่อนเดินทาง หรือวางแผนการพักผ่อนโดยการจองโรงแรมไว้ล่วงหน้าเพื่อตัดปัญหาไม่มีที่พัก หาผู้บริโภคพบเจอโรงแรมปฏิเสธไม่รับเข้าพักในโรงแรมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรให้แจ้งเรื่องร้องเรียนไปยัง กรมการปกครอง โทร : ๐๒ ๒๒๑๐ ๑๕๑๘ เว็บไซต์ : www.dopa.go.th

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่ พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. ๒๕๔๗

ช่องทางการร้องเรียน : ได้แก่

(๑) กรมการปกครอง ถนนอัษฎางค์ แขวงวัดราชบพิธ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๐๐

โทร : ๐ ๒๒๒๑ ๐๑๕๑ ๘

อีเมล : webmaster@dopa.go.th

เว็บไซต์ : www.dopa.go.th

(๒) ต่างจังหวัดให้ยื่น ณ ที่ทำการปกครองอำเภอ หรือที่ทำการปกครองกิ่งอำเภอท้องที่ที่โรงแรมตั้งอยู่




๓๒ พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๓๙

๓๓ พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. ๒๕๔๗ มาตรา ๕๘



******************************


๓.๑๑ ปัญหาห้องพักไม่ตรงตามที่ได้มีการโฆษณา

ประเด็นปัญหา : กรณีที่ผู้บริโภคพบว่าได้มีการจองห้องพักผ่านทางแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่ง่ายและสะดวก เนื่องสามารถขอดูห้องพักได้ โดยผ่านทางแอปพลิเคชั่นต่างๆ ได้ที่มีการโฆษณาห้องพัก ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งราคาที่มีให้เลือก อีกทั้งยังมีโปรโมชั่นลดราคาห้องพักเป็นสิ่งดึงดูดใจผู้บริโภค แต่เมื่อผู้บริโภคเข้าพัก กลับพบว่าห้องพักไม่ตรงตามที่ได้มีการโฆษณาไว้ เนื่องจากสภาพห้องจริงดูเก่า สกปรกไม่มีความสะอาด ทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเข้าใช้บริการ เช่น แอร์เสียไม่ทำงาน มีเชื้อราติดเกาะเป็นคราบที่ชักโคก ฝักบัวน้ำไหลออกเป็นสีสนิม เตียงมีคราบสกปรกต่างๆ ติดอยู่ รวมทั้งเดินทางไกลกว่าที่ได้มีการแจ้งไว้ในทางแอปพลิเคชั่น ทำให้การเดินทางลำบากขาดความสะดวกในการเดินทาง อาคารที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรมหรือปล่อยให้มีสภาพรกรุงรังจนอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้บริโภคที่เข้าใช้บริการหรือมีลักษณะไม่ถูกต้องด้วยสุขลักษณะของการใช้เป็นที่อยู่อาศัย เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ผู้ประกอบกิจการจัดการแก้ไข เปลี่ยนแปลงหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดซึ่งต่อเนื่องกับอาคารทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือจัดการอย่างอื่นตามความจำเป็นเพื่อมิให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หรือให้ถูกต้องด้วยสุขลักษณะภายในเวลาซึ่งกำหนดให้ตามสมควร ๓๔ หากผู้ประกอบกิจการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร หรือขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือปรับไม่เกินสองหมื่นห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ๓๕ และการที่ผู้ประกอบกิจการทำให้ผู้บริโภคเข้าใจ สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับบริการไม่ว่าจะเป็นของตนเอง หรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ผู้ประกอบกิจการต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ๓๖ และถ้าผู้กระทำความผิดซ้ำ ผู้กระทำต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ๓๗

ดังนั้น หากผู้บริโภคเจอห้องพักไม่ตรงปก สามารถแจ้งผู้ประกอบกิจการขอร้องเรียนได้ดังนี้ ขอย้ายสถานที่ ขอเปลี่ยนห้องพัก ขอลดราคาที่พัก โดยในกรณีที่ไม่สามารถดำเนินการดังกล่าวได้ ให้ผู้บริโภค รวมหลักฐานต่างๆ เช่น รายการต่างๆที่ดำเนินการจองห้องพัก รูปถ่ายภายในห้องพัก และรวบรวมหลักฐานดำเนินการร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สายด่วน ๑๑๖๖

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) พระราชบัญญัติการสาธารสุข พ.ศ.๒๕๓๕

(๒) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒

ช่องทางการร้องเรียน : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น ๕ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐

สายด่วน : ๑๑๖๖

ร้องทุกข์ทางอิเล็กทรอนิกส์ : complaint.ocpb.go.th

เว็บไซต์ : www.ocpb.go.th




๓๔ พระราชบัญญัติการสาธารสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๑

๓๕ พระราชบัญญัติการสาธารสุข พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๗๙

๓๖ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง

๓๗ พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๗ วรรคสอง



******************************



( ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ )