Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








๓. ประเด็นปัญหา

01 ก.ย. 2565

๓. ประเด็นปัญหา

๓.๑ ปัญหาการแสดงราคาขายสินค้าในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์

ประเด็นปัญหา : การที่ผู้ประกอบธุรกิจประกาศขายสินค้าในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์โดยไม่แจ้งราคาให้ชัดเจนแต่กลับให้ส่งข้อความเพื่อสอบถามราคา เป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๘ ได้กำหนดให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ มีอำนาจกำหนดให้ผู้ผลิตผู้จำหน่าย ผู้ซื้อเพื่อจำหน่ายหรือผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายสินค้าหรือบริการแสดงราคาสินค้าหรือบริการในการนี้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าหรือบริการ หรือคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ อาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแสดงราคาสินค้าหรือบริการไว้ด้วยก็ได้ ตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๗๐ พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ โดยกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงราคาจำหน่าย ค่าบริการ รวมถึงประเภท ชนิด ลักษณะ ขนาด น้ำหนัก และรายละเอียดของสินค้าหรือบริการ โดยการเขียน พิมพ์ หรือกระทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่นใด ในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ของผู้ประกอบธุรกิจนั้น ในลักษณะที่ชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผยสามารถอ่านได้โดยง่าย ซึ่งการแสดงราคาจำหน่ายสินค้า ค่าบริการดังกล่าว ให้แสดงราคาต่อหน่วย ราคาหรือค่าบริการนั้นจะมีตัวเลขภาษาใดก็ได้ แต่ต้องมีตัวเลขอารบิคอยู่ด้วย สำหรับข้อความหรือรายการที่แสดงควบคู่กับราคาจำหน่ายหรือค่าบริการต้องเป็นภาษาไทย แต่จะมีภาษาอื่นก็ได้ นอกจากนี้ กรณีที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากราคาจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการที่ให้บริการที่แสดงไว้ดังกล่าวผู้ประกอบธุรกิจต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจนครบถ้วนและเปิดเผย โดยแสดงไว้ควบคู่กับการแสดงราคาจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการที่ให้บริการ ส่วนการแสดงราคาจำหน่ายปลีกสินค้าหรือค่าบริการที่ให้บริการดังกล่าวต้องแสดงให้ตรงกับราคาที่จำหน่ายหรือค่าบริการที่ให้บริการ ผู้ใดไม่แสดงราคาหรือไม่ปฏิบัติ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา ๒๘ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการต้องรับโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท

เหตุที่กฎหมายให้ความสำคัญกับการแสดงราคาเมื่อมีการซื้อสินค้า เนื่องจากสัญญาซื้อขายเกิดจากการแสดงเจตนาที่ต้องตรงกันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภค โดยทั้งสองฝ่ายจำต้องมีความรู้หรือมีข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ต้องการก่อนเป็นอย่างน้อย ซึ่งหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งปกปิดหรือไม่แสดงข้อความที่เป็นจริงจะมีผลเป็นการแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล ทำให้สัญญาตกเป็นโมฆียะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งในการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญานั้น

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒

(๒) ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๗๐ พ.ศ. ๒๕๖๓เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์

ช่องทางการร้องเรียน : กรมการค้าภายใน (กระทรวงพาณิชย์) ๕๖๓ ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสออำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐

สายด่วน : ๑๕๖๙

อีเมล : saraban@dit.go.th

เว็บไซต์ : www.dit.go.th



พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๘

ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๗๐ พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ข้อ ๔

ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๗๐ พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ข้อ ๕

ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๗๐ พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ข้อ ๖

พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๐


******************************

 

๓.๒ ปัญหาผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้วได้รับสินค้าไม่ตรงตามที่โฆษณา

ประเด็นปัญหา : กรณีที่ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เมื่อผู้บริโภคได้รับสินค้าแล้วปรากฏว่าสินค้าที่ผู้บริโภคได้รับนั้น ไม่ตรงตามที่ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้โฆษณาขายในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงมีเจตนาที่จะหลอกผู้บริโภคเกี่ยวกับที่มาของสินค้าสภาพ คุณภาพหรือปริมาณของสินค้า เพื่อให้ผู้บริโภคหลงเชื่อ และซื้อสินค้านั้น เช่น ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้โฆษณาสินค้าโดยอ้างว่าแหล่งกำเนิดของสินค้าอยู่ที่ประเทศอังกฤษ แต่สินค้ากลับผลิตที่ประเทศจีนที่มีราคาถูกกว่าโดยสภาพและคุณภาพของสินค้าไม่เป็นไปตามที่ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโฆษณาหรือปริมาณสินค้าไม่ครบตามจำนวนที่ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้โฆษณาไว้ เป็นต้น นอกจากนี้ ความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง กรณีสินค้าไม่ตรงกับที่โฆษณาผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงอาจมีความผิดตามกฎหมายดังต่อไปนี้

(๑) ประมวลกฎหมายอาญา

ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๑ "ผู้ใดขายของโดยหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกง ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” มาตรานี้จะเอาผิดกับผู้ขายที่ได้หลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อ ซึ่งการหลอกลวงนี้อาจเป็นการหลอกลวงโดยวาจาหรือกิริยาก็ได้หากผู้ประกอบการกระทำการหลอกลวงด้วยประการใด ๆ ให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิดสภาพคุณภาพ หรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จ ถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นความผิดฐานฉ้อโกงต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๒) พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕

พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๒๙ "ให้นำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ในส่วนที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการโฆษณามาใช้บังคับแก่การสื่อสารข้อมูล เพื่อเสนอขายสินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงโดยอนุโลม โดยให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรี และให้ถือว่าอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการว่าด้วยการโฆษณาเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ”

(๓) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๒ "การโฆษณาจะต้องไม่ใช้ข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวมทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ หรือลักษณะของสินค้าหรือบริการ ตลอดจนการส่งมอบ การจัดหา หรือการใช้สินค้าหรือบริการ” ซึ่งข้อความดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่เป็นการไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม

(๑) ข้อความที่เป็นเท็จหรือเกินความจริง

(๒) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริง หรือไม่ก็ตาม

(๓) ข้อความที่เป็นการสนับสนุนโดยตรงหรือโดยอ้อมให้มีการกระทำผิดกฎหมายหรือศีลธรรมหรือนำไปสู่ความเสื่อมเสียในวัฒนธรรมของชาติ

(๔) ข้อความที่จะทำให้เกิดความแตกแยกหรือเสื่อมเสียความสามัคคีในหมู่ประชาชน

(๕) ข้อความอย่างอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวงเว้นแต่ข้อความที่ใช้ในการโฆษณาที่บุคคลทั่วไปสามารถรู้ได้ว่าเป็นข้อความที่ไม่อาจเป็นความจริงได้โดยแน่แท้ ไม่เป็นข้อความที่ต้องห้ามในการโฆษณาตามมาตรา ๒๒ (๑)

หากผู้ใดโดยเจตนาก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ปริมาณ หรือสาระสำคัญประการอื่นอันเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ไม่ว่าจะเป็นของตนเองหรือผู้อื่น โฆษณาหรือใช้ฉลากที่มีข้อความอันเป็นเท็จหรือข้อความที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเช่นว่านั้น ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าผู้กระทำความผิดดังกล่าวกระทำผิดซ้ำอีกผู้กระทำต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีที่ผู้บริโภคใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาต้องเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) ส่งคืนสินค้าไปยังผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง

(๒) เก็บรักษาสินค้าไว้ตามสมควรภายในระยะเวลายี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่ใช้สิทธิเลิกสัญญาเว้นแต่ สินค้านั้นเป็นของเสียง่ายโดยสภาพไม่อาจเก็บรักษาได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้เก็บรักษาตามเวลาและวิธีการอันควรแก่สภาพ เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้ว ผู้บริโภคจะเก็บรักษาสินค้านั้นไว้หรือไม่ก็ได้

หน้าที่ของผู้บริโภคในการส่งคืนสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ

หากผู้บริโภคเลือกเก็บรักษาสินค้าไว้หลังจากบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้บริโภคมีหน้าที่ส่งคืนสินค้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ได้โดยวิธีดังต่อไปนี้ ๑๐

(๑) ให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงมารับคืนสินค้านั้น ณ ภูมิลำเนาของผู้บริโภค

(๒) กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงขอให้ผู้บริโภคส่งคืนสินค้า ทางไปรษณีย์โดยเก็บเงินปลายทางผู้บริโภคต้องส่งสินค้าภายในยี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา

(๓) กรณีที่เป็นสินค้าสิ้นเปลือง ผู้บริโภคมีหน้าที่คืนเฉพาะส่วนที่เหลือจากการใช้ก่อนใช้สิทธิเลิกสัญญา ๑๑

(๔) ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะยึดหน่วงสินค้าไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินคืนที่ผู้บริโภคจ่ายไปในการซื้อสินค้านั้น ๑๒

หน้าที่ของผู้ประกอบการกรณีผู้บริโภคส่งคืนสินค้า

เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญา ให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคเต็มจำนวนตามที่ผู้บริโภคได้จ่ายไป ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา ๑๓ ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงใดไม่คืนเงินตามจำนวนและภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้น ชำระเบี้ยปรับตามอัตราที่คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงประกาศกำหนดให้แก่ผู้บริโภค ๑๔

ขั้นตอนการดำเนินการ

(๑) รวบรวมหลักฐานที่ได้ติดต่อกับผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงไว้ทั้งหมด หากสินค้ามีปัญหาหรือเกิดความเสียหายขึ้นสามารถใช้เป็นหลักฐานในการเปลี่ยนหรือขอคืนสินค้าหรือแจ้งความโดยให้เก็บรวบรวมหลักฐาน ดังต่อไปนี้ ๑๕

(๑.๑) ใบสั่งซื้อสินค้าหรือคำสั่งซื้อสินค้า

(๑.๒) ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ข้อมูลร้านค้า

(๑.๓) หลักฐานการชำระเงิน

(๑.๔) ถ่ายรูปสินค้าและเก็บสินค้าไว้เป็นหลักฐาน

 

(๒) ติดต่อผู้ขาย เพื่อให้ผู้ขายรับผิดชอบหรือเปลี่ยนสินค้าใหม่

(๒.๑) กรณีซื้อแล้วพบปัญหาทันที หรือพบหลังจากนั้นไม่เกินระยะเวลาเงื่อนไขการคืนที่ผู้ขายระบุให้รีบดำเนินการส่งคืนสินค้าหรือเคลมสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อเรียกร้องให้ผู้ขายแก้ไขหรือคืนเงินโดยทำตามขั้นตอนที่ร้านค้าแจ้งไว้

(๒.๒) กรณีพ้นกำหนดระยะเวลาการรับประกันของผู้ขาย ให้ดูว่ามีใบรับประกันตัวสินค้าหรือไม่เพราะสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น จะมีการรับประกันโดยผู้ผลิตสินค้า ให้ติดต่อบริษัทผู้ผลิตโดยตรง

 

(๓) หากร้านค้าไม่รับผิดชอบในความเสียหาย ให้ผู้บริโภคนำหลักฐานทั้งหมดมาแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ เพื่อเป็นหลักฐานและร้องเรียนได้กับหน่วยงานหรือองค์กร ดังนี้

(๓.๑) ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนปัญหาออนไลน์ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)

(๓.๒) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)

(๓.๓) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.)

(๓.๔) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

(๓.๕) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.)

(๓.๖) กรมการค้าภายใน (กระทรวงพาณิชย์)

ทั้งนี้ เมื่อผู้บริโภคพบว่าได้รับสินค้าไม่ตรงกับสินค้าที่ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้โฆษณา ผู้บริโภคไม่ควรแสดงความคิดเห็นหรือข้อความลงบนสื่อโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Instagram Twitter Tiktok เป็นต้น ด้วยข้อความที่มีถ้อยคำรุนแรงหรือแสดงความรู้สึกมากกว่าข้อเท็จจริง เพราะอาจถูกฟ้องร้องดำเนินคดีและเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ๑๖ หากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงพิสูจน์ได้ว่าข้อความนั้นได้ถูกบิดเบือนข้อมูลไปจากความเป็นจริงและมีข้อมูลที่เป็นเท็จปรากฏอยู่อีกทั้งยังเป็นความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาท หากข้อความนั้นเป็นการแสดงทัศนคติเชิงลบและน่าจะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ๑๗ ดังนั้น กรณีที่ไม่อาจสามารถตกลงกับผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้ควรแจ้งความกับตำรวจหรือร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการกับผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต่อไป

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) ประมวลกฎหมายอาญา

(๒) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒

(๓) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐

(๔) พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕

 

ช่องทางการร้องเรียน : ได้แก่

(๑) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ อาคารเดอะไนน์ทาวเวอร์ แกรนด์ พระรามเก้า(อาคารบี) ชั้น ๒๐ - ๒๒ เลขที่ ๓๓/๔ ถนนพระราม ๙ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ๑๐๓๑๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๑๒๓ ๑๒๓๔

สายด่วน : ๑๒๑๒

อีเมล : 1212@mdes.go.th

เว็บไซต์ : www.etda.or.th

 

(๒) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ที่อยู่ ๔/๒ ซอยวัฒนโยธิน แขวงถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร ๑๐๔๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๒๔๘ ๓๗๓๔ ถึง ๓๗

อีเมล : complaint@consumerthai.org

เว็บไซต์ : www.consumerthai.org

 

(๓) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา อาคาร B ชั้น ๕ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐

สายด่วน : ๑๑๖๖

อีเมล : consumer@ocpb.go.th

เว็บไซต์ : www.ocpb.go.th

 

(๔) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ๘๘/๒๔ ถนนติวานนท์ ตำบลตลาดขวัญอำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๕๙๐ ๗๐๐๐

สายด่วน : ๑๕๕๖อีเมล : saraban@fda.moph.go.th

เว็บไซต์ : www.fda.moph.go.th

 

(๕) สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ห้องเลขที่ W๐๑ W๑๙ H๑๕ และ H๑๖ ถนนพระราม ๙แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ๑๐๓๑๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๒๓๙ ๑๘๓๙

อีเมล : contact@tcc.or.th

เว็บไซต์ : www.tcc.or.th

 

(๖) กรมการค้าภายใน (กระทรวงพาณิชย์) ๕๖๓ ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสอ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐สายด่วน : ๑๕๖๙

อีเมล : 1569@dit.go.th

เว็บไซต์ : www.dit.go.th

 

 


ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๑

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๒

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๗

พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง

๑๐ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๔ วรรคสอง

๑๑ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๔ วรรคสาม

๑๒ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๔ วรรคห้า

๑๓ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๖

๑๔ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๖ วรรคสอง

๑๕ สืบค้นจาก สภาองค์กรของผู้บริโภค www.tcc.or.th

๑๖พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔

๑๗ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒๖

 

******************************

 

๓.๓ ปัญหาผู้บริโภคได้รับสินค้าชำรุดบกพร่องจากการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ประเด็นปัญหา : ปัจจุบันผู้บริโภคนิยมซื้อสินค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นจำนวนมากปัญหาการซื้อสินค้าผ่านช่องทาง Facebook Instagram Twitter Tiktok Line ปรากฏว่าสินค้าที่ได้รับเกิดการชำรุดบกพร่อง ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๔๗๒ ได้กำหนดความรับผิดเพื่อความชำรุดบกพร่องเป็นความรับผิดของผู้ขายที่มีต่อผู้บริโภค ในกรณีที่ทรัพย์สินซึ่งขายนั้นชำรุดบกพร่องอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นเหตุให้เสื่อมราคา หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติก็ดี ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญาก็ดี ผู้ขายต้องรับผิด ทั้งที่ผู้ขายรู้อยู่แล้ว หรือไม่รู้ว่าความชำรุดบกพร่องมีอยู่

ในกรณีที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นตลาดแบบตรง โดยผู้ประกอบธุรกิจได้จดทะเบียนตลาดแบบตรงตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ หากผู้บริโภคได้รับสินค้าชำรุดบกพร่องจากการสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอรับเงินคืนจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ตามพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้กำหนดสิทธิของผู้บริโภค ในการเลิกสัญญาโดยการส่งหนังสือแสดงเจตนาภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ๑๘

ในกรณีที่มีการฟ้องคดีผู้บริโภคเรื่องสินค้าชำรุดบกพร่อง ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดว่า หากศาลเชื่อว่าความชำรุดบกพร่องดังกล่าวมีอยู่ในขณะส่งมอบสินค้านั้นและไม่อาจแก้ไขให้กลับคืนสภาพที่ใช้งานได้ตามปกติหรือแก้ไขแล้วแต่หากนำไปใช้บริโภคแล้วอาจเกิดอันตรายแก่ร่างกายสุขภาพ หรืออนามัยของผู้บริโภคที่ใช้สินค้านั้นให้ศาลมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้แก่ผู้บริโภคแทนการแก้ไขซ่อมแซมสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้นก็ได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงลักษณะของสินค้าที่อาจเปลี่ยนทดแทนกันได้ พฤติการณ์ของผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ตลอดจนความสุจริตของผู้บริโภคประกอบด้วย และหากข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการใช้สินค้าหรือได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สินค้านั้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้บริโภคชดใช้ค่าใช้ทรัพย์หรือค่าเสียหายแล้วแต่กรณี ให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้นได้ตามที่เห็นสมควร การฟ้องคดีดังกล่าว ถ้าผู้ถูกฟ้องมิใช่ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้านั้น ให้ศาลมีคำสั่งเรียกผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าดังกล่าวเข้ามาในคดีตามมาตรา ๕๗ (๓) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง และมีอำนาจพิพากษาให้บุคคลดังกล่าวร่วมรับผิดในหนี้ที่ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงมีต่อผู้บริโภคด้วย ๑๙

กรณีที่ผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์แล้วสินค้าที่ได้รับเกิดความชำรุดบกพร่อง ผู้บริโภคควรดำเนินการดังต่อไปนี้ ๒๐

(๑) เมื่อพบความบกพร่องของสินค้า ควรถ่ายรูปสินค้าในทุกมุมเก็บไว้ และติดต่อไปยังผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงเพื่อแจ้งให้ทราบถึงข้อบกพร่องของสินค้าและวิธีการเยียวยาความเสียหาย

(๒) ปฏิบัติตามขั้นตอนและเงื่อนไขในการรับผิดชอบตามที่เว็บไซต์กำหนดไว้

(๓) ถ้าซื้อผ่านโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook Instagram Twitter Tiktok Line ให้ติดต่อไปยังร้านค้าของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อเจรจาให้รับผิดชอบในความเสียหาย

(๔) ถ้าไม่สามารถเจรจาต่อรองกับร้านค้าผู้ประกอบธุรกิจได้ ให้ผู้บริโภคร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่าง ๆที่เกี่ยวข้องในการร้องเรียน ผู้บริโภคต้องเตรียมหลักฐานเบื้องต้น ดังนี้

(๔.๑) ใบสั่งซื้อสินค้าหรือคำสั่งซื้อสินค้า

(๔.๒) ข้อความสนทนาการซื้อสินค้าระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ

(๔.๓) ข้อมูลร้านค้า

(๔.๔) หลักฐานการชำระเงิน

(๔.๕) ถ่ายรูปสินค้าและเก็บสินค้าไว้

(๔.๖) นำหลักฐานทั้งหมดแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษที่สถานีตำรวจท้องที่ที่เกิดเหตุ

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

(๒) พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕

(๓) พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑

 

ช่องทางการร้องเรียน : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ๘๐ พรรษา อาคาร B ชั้น ๕ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐สายด่วน : ๑๑๖๖

อีเมล : consumer@ocpb.go.th

ร้องทุกข์ออนไลน์ : https://complaint.ocpb.go.th

เว็บไซต์ : www.ocpb.go.th

 


๑๘ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๓

๑๙ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๔๑

๒๐ สืบค้นจาก สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) www.ocpb.go.th

 

******************************

 

๓.๔ ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการซื้อสินค้า (ได้รับสินค้าที่ไม่ปลอดภัย) ผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

ประเด็นปัญหา : กรณีที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าหรือบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้วได้รับความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย อนามัย ทรัพย์สิน หรือจิตใจจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยไม่ว่าจะเกิดจากความบกพร่องในการผลิตหรือออกแบบสินค้า หรือสินค้านั้นไม่ได้กำหนดวิธีใช้ วิธีเก็บรักษา คำเตือน ข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า หรือได้กำหนดไว้แต่ไม่ถูกต้องหรือไม่ชัดเจน ผู้บริโภคมีสิทธิฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจไปยังศาลที่มีเขตอำนาจได้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจทุกคนร่วมกันรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยและสินค้านั้นได้มีการขายให้แก่ผู้บริโภคแล้ว ไม่ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการจงใจหรือประมาทเลินเล่อก็ตาม ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนต่อคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคสมาคมและมูลนิธิ ซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้การรับรองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวฟ้องคดีแทน (กรณีให้หน่วยงานฟ้องคดีแทนจะได้รับการยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียม) ๒๑

นอกจากนี้ สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ เป็นอันขาดอายุความเมื่อพ้นสามปีนับแต่วันที่ผู้เสียหายรู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิด หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่มีการขายสินค้านั้นในกรณีที่ความเสียหายเกิดขึ้นต่อชีวิต ร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัย โดยผลของสารที่สะสมอยู่ในร่างกายของผู้เสียหายหรือเป็นกรณีที่ต้องใช้เวลาในการแสดงอาการ ผู้เสียหายหรือผู้มีสิทธิฟ้องคดีแทนตามมาตรา ๑๐ ต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในสามปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหายและรู้ตัวผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องรับผิด แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่รู้ถึงความเสียหาย ๒๒


สิทธิของผู้บริโภคที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ดังต่อไปนี้ ๒๓

(๑) ค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อจิตใจอันเป็นผลเนื่องมาจากความเสียหายต่อร่างกาย สุขภาพ หรืออนามัยของผู้เสียหาย และหากผู้เสียหายถึงแก่ความตาย สามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดานของบุคคลนั้นชอบที่จะได้รับค่าเสียหายสำหรับความเสียหายต่อจิตใจ

(๒) หากข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ผลิต นำเข้า หรือขายสินค้าโดยรู้อยู่แล้วว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย หรือมิได้รู้เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือเมื่อรู้ว่าสินค้าไม่ปลอดภัยภายหลังจากการผลิต นำเข้า หรือขายสินค้านั้นแล้วไม่ดำเนินการใด ๆ ตามสมควรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าสินไหมทดแทนเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงที่ศาลกำหนดได้ตามที่ศาลเห็นสมควร แต่ไม่เกินสองเท่าของค่าสินไหมทดแทนที่แท้จริงนั้น ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ เช่น ความร้ายแรงของความเสียหายที่ผู้เสียหายได้รับ การที่ผู้ประกอบธุรกิจรู้ถึงความไม่ปลอดภัยของสินค้า ระยะเวลาที่ผู้ประกอบธุรกิจปกปิดความไม่ปลอดภัยของสินค้า การดำเนินการของผู้ประกอบธุรกิจเมื่อทราบว่าสินค้านั้นเป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ผลประโยชน์ที่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับ สถานะทางการเงินของผู้ประกอบธุรกิจ การที่ผู้ประกอบธุรกิจได้บรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ตลอดจนการที่ผู้เสียหายมีส่วนในการก่อให้เกิดความเสียหายด้วย

หมายเหตุ ข้อตกลงระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้ทำไว้ล่วงหน้าก่อนเกิดความเสียหายและประกาศหรือคำแจ้งความของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดของผู้ประกอบธุรกิจต่อความเสียหายอันเกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย จะนำมาอ้างเป็นข้อยกเว้นหรือจำกัดความรับผิดไม่ได้เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้บริโภคมีความหมายเช่นเดียวกับนิยามคำว่า "ผู้บริโภค” ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค ๒๔

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่ พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑

ช่องทางการร้องเรียน : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ๘๐ พรรษา อาคาร B ชั้น ๕ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐

สายด่วน : ๑๑๖๖

อีเมล : consumer@ocpb.go.th

ร้องทุกข์ออนไลน์ : https://complaint.ocpb.go.th

เว็บไซต์ : www.ocpb.go.th



๒๑ พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๐

๒๒ พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๒

๒๓ พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๑

๒๔ พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๙


******************************

 

๓.๕ ปัญหาผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้วไม่ได้รับสินค้า

ประเด็นปัญหา : ในปัจจุบันมีร้านค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก และถือเป็นช่องทางที่สะดวกในการสั่งซื้อสินค้า แต่การสั่งสินค้าผ่านทางระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ กรณีที่ให้ผู้บริโภคได้ชำระเงินก่อนที่จะได้รับสินค้า โดยการโอนเงินไปยังผู้ขาย ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสี่ยงอาจทำให้ผู้บริโภคไม่ได้รับสินค้า เนื่องจากเมื่อผู้บริโภคได้ชำระเงินแล้ว ผู้ขายอาจหนีหายไม่ส่งของมาให้ผู้บริโภค ติดต่อไม่ได้ ถือว่าผู้ขายเข้าข่ายความผิดฐานฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๑ โดยการทุจริตหลอกลวงผู้บริโภคด้วยข้อความที่เป็นเท็จหรือ ปกปิดข้อความจริง ซึ่งควรบอกและแจ้งให้ทราบ ผู้ขายจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ โดยจะมีอายุความสามเดือน นับตั้งแต่วันที่รู้เรื่องกระทำผิดและรู้ตัวผู้กระทำผิด ๒๕ ผู้เสียหายต่อรีบแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ทั้งนี้ อาจมีความผิดตามมาตรา ๑๔ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ ที่เกี่ยวกับการนำเข้า ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ หลอกลวง ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย มีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ๒๖

ดังนั้น หากผู้บริโภคพบเจอปัญหาสั่งสินค้าแล้วไม่ได้รับสินค้าดังกล่าว ให้รวบรวมหลักฐานที่สำคัญเพื่อนำไปแจ้งความ เช่น หน้าโปรไฟล์ของร้านค้า ลิงก์ URL ของเว็บไซต์ หรือในโซเชียลมีเดียทุกช่องทางที่มีโพสต์ที่ประกาศขายสินค้านั้น ๆ รวบรวมข้อความที่คุยรายละเอียดเพื่อการซื้อของออนไลน์ ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทร และเลขบัญชีของร้านค้า หลักฐานการโอนเงินต่าง ๆ เช่น ใบเสร็จการโอนเงิน (สลิปโอนเงิน) ใบนำฝากที่ผู้บริโภคจ่ายค่าสินค้าไป สำเนาบัตรประชาชนและสมุดบัญชีธนาคารของผู้บริโภค

เมื่อผู้บริโภคได้รวบรวมหลักฐานที่สำคัญครบถ้วนแล้ว ให้นำหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความเพื่อดำเนินคดี ซึ่งวิธีการแจ้งความดำเนินคดีเพื่อเอาผิดกับร้านค้าออนไลน์ สามารถทำได้ ๒ วิธี ดังต่อไปนี้

(๑) เข้าแจ้งความที่โรงพักในเขตของผู้บริโภค โดยนำหลักฐานทั้งหมดที่มีไปแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น ผู้บริโภคโอนเงินที่บ้าน ก็ไปแจ้งความได้ที่สถานีตำรวจใกล้บ้านโดยนำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความ พร้อมระบุว่า "ขอให้ดำเนินคดีจนถึงที่สุด” ไม่ใช่แค่ลงบันทึกประจำวันและขอถ่ายเอกสารใบแจ้งความที่มีเลขที่เอกสารและตราครุฑเก็บไว้

(๒) แจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (TCSD) ให้นำหลักฐานทั้งหมดเข้าแจ้งความที่ TCSD อาคารกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ทั้งนี้ช่องทางนี้อาจไม่สะดวกสำหรับคนที่อยู่ต่างจังหวัด เพราะอาจจะต้องเดินทางมาขึ้นศาลที่กรุงเทพมหานคร สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.tcsd.go.th

 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) ประมวลกฎหมายอาญา

(๒) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐

 

ช่องทางการร้องเรียน : ได้แก่

(๑) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถนนพระรามที่ ๑ แขวงปทุมวัน เขตปทุมวันกรุงเทพมหานคร ๑๐๓๓๐

สายด่วน : ๑๕๙๙

อีเมล : webmaster@royalthaipolice.go.th

เว็บไซต์ : www.royalthaipolice.go.th

 

(๒) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี อาคารกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เลขที่ ๑๑๐๖ ถนนพหลโยธิน แขวงจอมพล เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทร : ๐ ๒๑๔๒ ๒๕๕๖ , ๐ ๒๑๔๓ ๘๐๗๘ , ๐ ๒๑๔๓ ๘๐๗๙ , ๐ ๒๑๔๓ ๘๐๘๐

เว็บไซต์ : www.tcsd.go.th

 

 


๒๕ ประมวลกฎหมาย มาตรา ๓๔๑

๒๖ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๑๔

 

 

******************************

 



( ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ )