Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








๕. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

02 ก.ย. 2565

๕. กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

 

(๑) กฎหมายทั่วไป

(๑.๑) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับความรับผิดของผู้ขายหรือผู้ประกอบการกับผู้ซื้อหรือผู้บริโภค ดังต่อไปนี้

(๑) หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ขายตามสัญญาซื้อขาย คือ ผู้ขายต้องส่งมอบทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ ซึ่งการส่งมอบนั้นจะทำอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ เพื่อให้ทรัพย์สินนั้นไปอยู่ในมือของผู้ซื้อ

(๒) หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ขายในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ทำการซื้อขายนั้นไม่ว่าจะเป็นกรณีสินค้าเสื่อมราคา เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ เสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา ผู้ขายจะต้องรับผิด แต่กรณีทรัพย์สินที่ซื้อขายชำรุดบกพร่องเล็กน้อยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เสื่อมราคาหรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์อันมุ่งจะใช้เป็นปกติ หรือเสื่อมความเหมาะสมแก่ประโยชน์ที่มุ่งหมายโดยสัญญา ผู้ขายก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อชำรุดบกพร่องดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๗๒

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

 



ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๖๑

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๖๒

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๗๒


******************************



(๑.๒) ประมวลกฎหมายอาญา

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่กำหนดความรับผิดทางอาญาแก่ผู้ประกอบการที่กระทำความผิดตามกฎหมายอาญา และกำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐมีอำนาจจับกุมผู้กระทำความผิดได้โดยไม่ต้องมีคำร้องทุกข์ของผู้เสียหาย และกำหนดโทษให้สูงขึ้นเพื่อให้ผู้กระทำความผิดเกรงกลัว ปัจจุบันได้มีการขายของโดยหลอกลวงให้ผู้ซื้อหลงเชื่อในแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพหรือปริมาณแห่งของนั้นอันเป็นเท็จเพิ่มมากขึ้น

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง



******************************



(๒) กฎหมายเฉพาะ

(๒.๑) พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่บัญญัติให้ความคุ้มครองผู้บริโภคในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้

(๑) กำหนดห้ามมิให้ผู้ใดประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เว้นแต่จะได้จดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง

(๒) กำหนดให้ห้างหุ้นส่วน บริษัท หรือบุคคลใดประสงค์จะประกอบธุรกิจขายตรงหรือประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง ให้ยื่นคำขอต่อนายทะเบียน

(๓) ในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงต้องส่งมอบเอกสารการซื้อขายให้แก่ผู้บริโภค ซึ่งเอกสารดังกล่าวต้องเป็นภาษาไทย ระบุชื่อผู้ซื้อขาย วันที่ส่งมอบ และสิทธิของผู้บริโภคในการบอกเลิกสัญญา

(๔) การซื้อสินค้าหรือบริการในธุรกิจตลาดแบบตรง กฎหมายกำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาได้ โดยการส่งหนังสือแสดงเจตนาไปยังผู้ประกอบธุรกิจภายในเจ็ดวัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ แต่การใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาที่ไม่สามารถนำไปใช้กับสินค้าหรือบริการได้ทุกชนิดขึ้นอยู่กับประเภทและราคาหรือชนิดของสินค้าและบริการ

(๕) เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว ผู้บริโภคต้องส่งสินค้าคืนผู้ประกอบธุรกิจและเก็บรักษาสินค้าไว้ เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจมารับเงิน

(๖) เมื่อผู้บริโภคบอกเลิกสัญญาแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องคืนเงินเต็มจำนวนที่ผู้บริโภคจ่ายภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา

(๗) คำรับประกันสินค้าต้องเป็นภาษาไทย และระบุถึงสิทธิของผู้บริโภคในการเรียกร้องสิทธิตามคำรับประกันให้ชัดเจน

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๒) พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางแพ่งต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมุ่งเอาผิดผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาดแล้วก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ความเสียหายดังกล่าวในระยะแรกมุ่งไปที่ความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย และอนามัย ต่อมามีการขยายไปถึงความเสียหายทางจิตใจและความเสียหายที่เกิดแก่ทรัพย์สินด้วย ทั้งนี้ ตัวผู้เสียหายไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริโภคเท่านั้น หากยังรวมไปถึงบุคคลใดก็ตามที่ได้รับความเสียหายจากทรัพย์สินนั้นด้วย ผู้ผลิตสินค้าทุกชนิดจึงมีความเสี่ยงที่จะต้องรับผิดตามกฎหมายนี้ แต่สินค้าที่โดยสภาพเป็นสินค้าอันตรายหากผู้ประกอบธุรกิจดำเนินมาตรการเพื่อความปลอดภัยตามกฎหมาย มีการระบุวิธีใช้ข้อควรระวัง และวิธีเก็บรักษาให้ชัดเจนแม้เกิดความเสียหายจากการใช้ไม่ถูกวิธี เช่นนี้ ผู้ผลิตก็ไม่มีความรับผิดพระราชบัญญัติฉบับนี้ได้นิยามเรื่องความเสียหายไว้ใกล้เคียงกับของต่างประเทศ โดยระบุว่าความเสียหายหมายถึงความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยไม่ว่าจะเป็นความเสียหายต่อชีวิตร่างกาย สุขภาพอนามัย จิตใจหรือทรัพย์สินทั้งนี้ ไม่รวมถึงความเสียหายต่อตัวสินค้าที่ไม่ปลอดภัยนั้น

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง



******************************



(๒.๓) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและคณะกรรมการเฉพาะเรื่องขึ้น เพื่อทำหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้บริโภคกำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยหรือประนีประนอมข้อพิพาทเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคอันจะเป็นการช่วยลดปริมาณคดีที่จะไปสู่ศาล และมีการกำหนดมาตรการในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านต่าง ๆ ได้แก่ การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านโฆษณา การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านฉลาก การคุ้มครองผู้บริโภคในด้านสัญญาและการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านความปลอดภัย รวมทั้งแจ้งหรือประชาสัมพันธ์ข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียแก่สิทธิของผู้บริโภคอย่างกว้างขวางและทั่วถึงกำหนดให้มีหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบในการตรวจตรา ดูแลและประสานงานกับส่วนราชการต่าง ๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำผิดและผู้ที่กระทำการฝ่าฝืนมาตรการตามที่กฎหมายกำหนด โดยกำหนดให้เจ้าหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภค สมาคมและมูลนิธิ ที่มีวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองผู้บริโภคมีอำนาจดำเนินคดีแพ่งและอาญาแก่ผู้กระทำการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคในศาล รวมทั้งมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ได้ร้องขอความคุ้มครองด้วย และกำหนดให้ค่าปรับที่ได้รับจากการเปรียบเทียบของเจ้าพนักงานท้องถิ่นที่ได้รับมอบหมายตกเป็นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีรายรับสำหรับใช้พัฒนาท้องถิ่นนั้นอันจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๔) พระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๙๙

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่กำหนดเกี่ยวกับการจดทะเบียนพาณิชย์ของผู้ประกอบพาณิชยกิจกำหนดให้ผู้ประกอบการพาณิชยกิจ การซื้อขายสินค้าหรือบริการออนไลน์และการบริการ โดยเป็นตลาดกลางทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (E - Marketplace) และกำหนดโทษเพื่อป้องกันการกระทำผิดกฎหมาย

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๕) พระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. ๒๕๖๐

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำกับดูแล ตรวจสอบการดำเนินงานระหว่างธนาคาร (ICAS)ได้แก่ ระบบที่เป็นศูนย์กลางหรือเครือข่ายระหว่างผู้ใช้บริการของระบบเพื่อรองรับการโอนเงิน การหักบัญชี เป็นต้น

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/


เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๖) พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. ๒๕๕๐

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับมาตรการป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดต่อระบบคอมพิวเตอร์โดยกำหนดลักษณะฐานความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อาทิเช่น การเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งระบบคอมพิวเตอร์หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ การทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นหรือเพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ถูกระงับชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ การส่งข้อมูล คอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอื่น อันเป็นการรบกวนการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ของบุคคลอื่นโดยปกติสุขและการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชนการรักษาความมั่นคงความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ เป็นต้น

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๗) พระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในกรณีที่จำเป็นเพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์หรือเพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ หรือเพื่อป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชนโดยพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๔๔ กำหนดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อกำหนดว่าการประกอบธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ใดเป็นกิจการที่ต้องแจ้งให้ทราบ ต้องขึ้นทะเบียน หรือต้องได้รับใบอนุญาตก่อนแล้วแต่กรณี โดยกำหนดเรื่องการชดใช้หรือเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ การทำธุรกรรมในการติดต่อสื่อสารที่อาศัยการพัฒนาทางเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีความสะดวกรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการรองรับสถานะทางกฎหมายของข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้เสมอกับการทำเป็นหนังสือ หรือหลักฐานเป็นหนังสือ การรับรองวิธีการส่งและรับข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการรับฟังพยานหลักฐานที่เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๘) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่คุ้มครองผู้บริโภคในด้านราคาสินค้า กำหนดมาตรการในการควบคุมกำกับดูแลสินค้าให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม ไม่มีการฮั้วราคาหรือกำหนดราคาตามอำเภอใจ และกำหนดโทษของผู้ประกอบธุรกิจ

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๙) พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๔๑

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับระบวนพิจารณาคดีผู้บริโภค วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคในศาลชั้นต้นเช่น การฟ้องคดีที่ผู้ประกอบธุรกิจจะฟ้องผู้บริโภคเป็นคดีผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจมีสิทธิเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลหรือต่อศาลอื่นได้ด้วย ให้ผู้ประกอบธุรกิจเสนอคำฟ้องต่อศาลที่ผู้บริโภคมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลได้เพียงแห่งเดียว กำหนดให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมหรือมูลนิธิที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรองตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีผู้บริโภคแทนผู้บริโภคได้ โดยให้ระบุชื่อและที่อยู่ของผู้บริโภคให้ชัดเจน เป็นต้น การพิจารณาคดี การอุทธรณ์และฎีกา เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย ได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยความรวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาให้ความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๑๐) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. ๒๕๕๑

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่ควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ และควบคุมการห้ามประกอบธุรกิจ การพักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาต

สืบค้น : https://www.bot.or.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๑๑) กฎกระทรวงการวางหลักประกันการประกอบธุรกิจขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๖๑

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงจะต้องนำหลักประกันมาวางต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อนำหลักประกันไปชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนจากการใช้สินค้าหรือบริการของผู้ประกอบธุรกิจ โดยที่ไม่ต้องใช้กระบวนการทางศาล

สืบค้น : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๑๒) กฎกระทรวงกำหนดการซื้อขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๖๑

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่กำหนดให้การซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์บางประเภท ไม่ถือว่าเป็นตลาดแบบตรง

(๑) การขายสินค้าหรือบริการของบุคคลธรรมดำซึ่งมิได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง และมีรายได้จากการขายสินค้าหรือบริการโดยวิธีการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไม่เกินหนึ่งล้านแปดแสนบาทต่อปี

(๒) การขายสินค้าหรือบริการของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

(๓) การขายสินค้าหรือบริการของวิสาหกิจชุมชนและเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน

(๔) การขายสินค้าหรือบริการของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรที่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๑๓) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ ฉบับที่ ๙๓ (พ.ศ. ๒๕๒๐) เรื่อง กำหนดพาณิชยกิจที่ไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๙๙

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่กำหนดพาณิชยกิจของกลุ่มเกษตรกร ซึ่งได้จดทะเบียนตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๔๑ ลงวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๑๕ เป็นพาณิชยกิจตามมาตรา ๗ (๖) แห่งพระราชบัญญัติทะเบียนพาณิชย์ พ.ศ. ๒๔๙๙ ที่ไม่ต้องจดทะเบียนพาณิชย์

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๑๔) ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง ให้ผู้ประกอบพาณิชยกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์ (ฉบับที่ ๑๑)พ.ศ. ๒๕๕๓

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจต้องจดทะเบียนพาณิชย์เพื่อเป็นตลาดกลางในการซื้อขายสินค้าหรือบริการ โดยวิธีใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ต้องจดทะเบียนพาณิชย์

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๑๕) ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๗๐ พ.ศ. ๒๕๖๓ เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่กำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจการแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสในการเปรียบเทียบราคาหรือค่าบริการก่อนตัดสินใจซื้อสินค้าหรือใช้บริการ

สืบค้น : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๑๖) ประกาศคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๕๐

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เมื่อผู้ประกอบธุรกิจขายตรง และผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้ยื่นคำขอจดทะเบียนการประกอบธุรกิจขายตรงและการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงแล้ว ให้นายทะเบียนตรวจสอบรายการ เอกสารและหลักฐานตามที่ระบุไว้ในแบบ ขต.๑ หรือแบบ ขต.๒ แล้วแต่กรณี ว่ามีเอกสารและหลักฐานครบถ้วนถูกต้องและกรณีเข้าเกณฑ์ที่อาจรับจดทะเบียนได้หรือไม่ ถ้าหากเอกสารและหลักฐานครบถ้วนถูกต้องและเข้าเกณฑ์ที่อาจรับจดทะเบียนได้ให้ลงเลขที่รับคำขอและให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนแต่หากเอกสารและหลักฐานไม่ครบถ้วนถูกต้องให้นายทะเบียนแจ้งผู้ยื่นคำขอให้แก้ไขภายในเวลาอันสมควรและกำหนดการแก้ไข เปลี่ยนแปลงเอกสาร

สืบค้น : https://www.krisdika.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๑๗) ข้อบังคับ ว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ระดับดี "DBD Verified Silver” ของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับการใช้เครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรอง และกำหนดหลักเกณฑ์การพักใช้หนังสืออนุญาต และการเพิกถอนหนังสืออนุญาต

สืบค้น : https://www.dbd.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************



(๒.๑๘) ข้อบังคับว่าด้วยการใช้เครื่องหมายรับรองผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ "DBD Registered” ของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พ.ศ. ๒๕๖๐

สาระสำคัญ : เป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับเงื่อนไขและการเพิกถอนเครื่องหมายรับรองของผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ "DBD Registered”

สืบค้น : https://www.dbd.go.th/

เอกสารที่เกี่ยวข้อง


******************************




( ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ )