Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








ประเด็นปัญหา

12 ก.ย. 2565

๓. ประเด็นปัญหา

๓.๑ ปัญหาเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าเกษตร

๓.๑.๑ ปัญหาที่ผู้บริโภคได้รับอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้หรือบริโภคสินค้าเกษตรที่ไม่ได้มาตรฐาน

ประเด็นปัญหา : กรณีที่ผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าเกษตรที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยมีสารพิษตกค้าง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ ๓๘๗ พ.ศ. ๒๕๖๐ เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง หมายความว่า สารตกค้างในอาหารที่เกิดจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร และให้หมายความรวมถึงกลุ่มอนุพันธ์ของวัตถุอันตรายทางการเกษตรนั้น ได้แก่ สารจากกระบวนการเปลี่ยนแปลง สารจากกระบวนการสร้างและสลาย สารจากการทำปฏิกิริยา และสารที่ปนอยู่ในวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่มีความเป็นพิษอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากการทำเกษตรกรรมโดยส่วนใหญ่ เกษตรกรมักจะต้องใช้สารเคมีต่าง ๆ ซึ่งใช้ป้องกันโรคพืช แมลง เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี ทำให้สารเคมีปนเปื้อนสะสมอยู่ในสินค้าเกษตรโดยผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าซึ่งสินค้าเกษตรได้จำหน่ายสินค้าเกษตรโดยไม่ได้รับรองมาตรฐาน เมื่อผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าเกษตรที่มีสารปนเปื้อนเข้าไปทำให้ได้รับผลกระทบต่อร่างกายของผู้บริโภค ซึ่งพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้มีการดำเนินการกับผู้ผลิต ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าซึ่งสินค้าเกษตร ในกรณีที่ผู้ผลิต ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าซึ่งสินค้าเกษตรไม่ดำเนินการจัดเก็บสินค้าเกษตรตามคำสั่งของสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าซึ่งสินค้าเกษตรไม่ปฏิบัติตามคำสั่งที่ให้แก้ไขปรับปรุง หรือเรียกคืนหรือทำลายสินค้าเกษตรต้องรับโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทและปรับอีกวันละไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทตลอดเวลาที่ยังไม่ได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง

การดำเนินการกรณีที่ผู้บริโภคได้รับอันตรายต่อสุขภาพจากการใช้หรือบริโภคสินค้าเกษตรที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานแต่กล่าวอ้างการรับรองมาตรฐาน แบ่งเป็นกรณีได้ ดังนี้

(๑) มาตรฐานบังคับ

- สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มีอำนาจสั่งให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้า แก้ไขปรับปรุงสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน หากไม่สามารถแก้ไขปรับปรุงได้ หรือหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปอาจก่อให้เกิดอันตราย ให้สั่งทำลายหรือส่งกลับคืน

- ในกรณีที่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าไม่ได้รับใบรับรองตามมาตรฐานบังคับโดยที่มีกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานบังคับสำหรับสินค้าเกษตรนั้น คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรอาจสั่งให้ทำลาย หรือในกรณีที่นำเข้าอาจสั่งให้ส่งกลับคืนไปก็ได้ หรือสั่งให้รอไว้เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า แล้วแต่กรณี ขอรับใบรับรองตามมาตรฐานบังคับ

ให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า แล้วแต่กรณี เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการแก้ไข การปรับปรุงการทำลาย การส่งกลับคืน หรือการรอไว้ซึ่งสินค้าเกษตรเพื่อขอรับใบรับรองตามมาตรฐานบังคับ หรือการทำลายเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปหรือการทำให้เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปหลุดพ้นจากสินค้าเกษตร

- ในกรณีที่ผลการตรวจสอบตามมาตรา ๔๓ (๑) (๒) (๓) หรือ (๔) ปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่าสินค้าเกษตรใดที่อยู่ภายใต้มาตรฐานบังคับไม่ปลอดภัยหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขอนามัยของประชาชนพืช หรือสัตว์ ให้สำนักงานโดยความเห็นชอบของ คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรมีอำนาจ

(๑) ประกาศผลการตรวจสอบให้ประชาชนทราบในหนังสือพิมพ์หรือวิธีการอื่นตามที่ คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรกำหนดโดยให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ด้วย

(ก) ในกรณีที่ปรากฏผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าซึ่งสินค้าเกษตรนั้นโดยแน่ชัดให้ระบุชื่อผู้ผลิตผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า พร้อมทั้งชนิดและลักษณะของสินค้าเกษตรหรือภาชนะบรรจุนั้น และถ้าสินค้าเกษตรหรือภาชนะบรรจุดังกล่าวมีชื่อทางการค้าหรือลำดับครั้งที่ผลิต ส่งออก หรือนำเข้าก็ให้ระบุชื่อทางการค้าหรือลำดับครั้งที่ผลิต ส่งออกหรือนำเข้านั้นด้วย แล้วแต่กรณี

(ข) ในกรณีที่ไม่ปรากฏผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าโดยแน่ชัดแต่ปรากฏผู้จำหน่ายหรือผู้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเกษตรนั้น ให้ระบุชื่อผู้จำหน่ายหรือผู้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย และสถานที่จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย พร้อมทั้งชนิดและลักษณะของสินค้าเกษตรหรือภาชนะบรรจุนั้น

(๒) เรียกเก็บสินค้าเกษตรหรือสั่งให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าซึ่งสินค้าเกษตรนั้นจัดเก็บสินค้าเกษตรภายในระยะเวลาที่สำนักงานกำหนด และให้ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีอำนาจทำลายสินค้าเกษตรดังกล่าว หรือดำเนินการอื่นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรประกาศกำหนด

ให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ผู้จำหน่าย หรือผู้มีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าเกษตรแล้วแต่กรณี เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการประกาศ การเรียกเก็บ การทำลาย หรือการดำเนินการตามมาตรา ๔๙ วรรคหนึ่ง

(๒) มาตรฐานทั่วไป

- ในกรณีที่สินค้าเกษตรได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานแล้ว ต่อมาปรากฏแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานดังกล่าว ให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีอำนาจสั่งให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า แล้วแต่กรณีดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐานนั้นภายในระยะเวลาที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติกำหนดหากไม่สามารถแก้ไขหรือปรับปรุงได้หรือหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขอนามัยของประชาชนพืช หรือสัตว์ ให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีอำนาจสั่งให้ทำลายหรือให้ส่งสินค้าเกษตรนั้นกลับคืนภายในระยะเวลาที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติกำหนดโดยให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า แล้วแต่กรณี เป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการทำลายหรือการส่งกลับคืนซึ่งสินค้าเกษตรนั้น การสั่งให้ดำเนินการแก้ไขหรือปรับปรุงและการสั่งให้ทำลายหรือส่งสินค้าเกษตรกลับคืนตามมาตรา ๓๒ วรรคหนึ่งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรประกาศกำหนด

- ในกรณีที่ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าไม่ได้รับใบรับรองตามมาตรฐานทั่วไปแต่ได้ใช้หรือแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไปอันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๕๖ คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรอาจสั่งให้แก้ไขหรือปรับปรุงสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐานทั่วไปหรือสั่งให้ทำลายเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปหรือทำให้เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปหลุดพ้นจากสินค้าเกษตรนั้นก็ได้ หากไม่สามารถทำลายเครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปหรือทำให้เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไปหลุดพ้นจากสินค้าเกษตรได้ก็อาจสั่งให้ทำลายสินค้าเกษตรนั้น

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑

ช่องทางการติดต่อ : กรมวิชาการเกษตร เลขที่ ๕๐ ตึกก่านชลวิจารณ์ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๕๗๙ ๐๑๕๑ - ๗ หรือ ๐ ๒๕๗๙ ๘๕๓๑

อีเมล : saraban@doa.in.th

เว็บไซต์ : www.doa.go.th

******************************

 

๓.๑.๒ ปัญหาการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร

(๑) ปัญหาการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด

ประเด็นปัญหา : กรณีที่ผู้บริโภคพบปัญหาการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรไม่ถูกต้องซึ่งกฎหมายได้กำหนดโทษของแต่ละปัญหาไว้ ดังต่อไปนี้

(๑.๑) กรณีที่เป็นผู้ได้รับใบรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร แต่ไม่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่กำหนดไว้ กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า สินค้าเกษตรที่ได้ใบรับรองตามมาตรฐานบังคับต้องแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ ก่อนนำออกจากสถานที่ผลิตหรือรับมอบไปจากเจ้าพนักงานศุลกากร (มาตรา ๕๕) หากไม่ปฏิบัติตามต้องรับโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท (มาตรา ๕๙)

สำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรที่ได้รับใบรับรองตามมาตรฐานทั่วไปพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ ไม่ได้มีบทกำหนดโทษในกรณีที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานทั่วไปแล้วแต่ไม่แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไปไว้ แต่ถ้ามีการแสดงเครื่องหมายต้องแสดงให้ถูกต้องตามที่กำหนด

ไว้ในกฎกระทรวงและประกาศที่เกี่ยวข้องกำหนด ดังนั้น หากปรากฏว่าผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานที่ได้รับใบรับรองแล้ว แต่ไม่มีการแสดงเครื่องหมายรับรองจะมีความผิดตามมาตร ๕๙ แต่ถ้าเป็นกรณีผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ หรือมาตรฐานทั่วไปที่ได้รับใบรับรองแล้วและแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานไม่ถูกต้องตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงและประกาศที่เกี่ยวข้องพนักงานเจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจตามมาตรา ๔๓ (๕) สั่งให้แก้ไขปรับปรุงได้และหากไม่ปฎิบัติตามต้องรับโทษตามมาตรา ๖๖

(๑.๒) กรณีที่ตรวจพบการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน โดยที่สินค้านั้นไม่ได้รับรองมาตรฐานผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือส่งออกแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานโดยที่สินค้านั้นไม่ได้มีการรับรองมาตรฐานสินค้าทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากสินค้าที่ได้ซื้อไปนั้นพบว่าเป็นสินค้าที่ยังไม่ได้มีการรับรองมาตรฐาน

ให้คณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตรมีอำนาจแก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐาน หรือทำลายเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรนั้น หากไม่สามารถทำลายเครื่องหมายสินค้าเกษตรนั้นได้ ก็ให้ทำลายสินค้าเกษตรนั้นได้เลย โดยกฎหมายห้ามไม่ให้บุคคลใดใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานเว้นแต่เป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าที่ได้รับใบรับรองตามมาตรฐานบังคับหรือมาตรฐานทั่วไป หากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้บริโภคพบเจอการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ยังไม่มีการรับรองมาตรฐานสินค้า หรือหากไม่แน่ใจว่าเครื่องหมายมาตรฐานสินค้าเกษตรนั้นได้มีการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรแล้วหรือไม่ ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนและส่งข้อมูลการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าเกษตรได้ที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

(๑.๓) กรณีปัญหาการเลียนเครื่องหมายรับรองมาตรฐานเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การที่ผู้ผลิตพยายามแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ในลักษณะการผลิตเพื่อพยายามลอกเลียนแบบหรือจงใจปลอมแปลงให้มีลักษณะคล้ายกับสินค้าของแท้ เป็นเหตุให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าเป็นเครื่องหมายการค้าที่แท้จริง ซึ่งกฎหมายห้ามไม่ให้ผู้ใดเลียนเครื่องหมายมาตรฐาน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายมาตรฐานต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้การลอกเลียนเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ หรือการจัดทำ หรือแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ ทั้งที่ไม่ได้รับรองมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)มีอำนาจสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรตามมาตรฐานบังคับ หากผู้บริโภคพบเจอปัญหาดังกล่าว สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(๑) เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรที่ได้รับใบรับรองมาตรฐานบังคับ มีลักษณะเป็นรูปอักษรภาษาอังกฤษตัวคิวสีเขียวทรงกลม อยู่ในกรอบหกเหลี่ยมสีเขียว โดยเครื่องหมายรับรองมาตรฐานจะมีขนาดเท่าใดก็ได้ แต่ต้องมีสัดส่วนตามแบบในกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ การใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๖๓

 

แบบ ก.

(๒) เครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไปสำหรับสินค้าเกษตรที่ได้รับใบรับรองตามมาตรฐานทั่วไปมี ๒ ลักษณะ ดังนี้

(๒.๑) เครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไป มีลักษณะเป็นรูปอักษรภาษาอังกฤษตัวคิวสีเขียวทรงกลมโดยเครื่องหมายรับรองมาตรฐานจะมีขนาดเท่าใดก็ได้ แต่ต้องมีสัดส่วนตามที่กฎกระทรวงกำหนดลักษณะการใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๖๓

 

แบบ ข.

(๒.๒) เครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไปเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์มีคำว่า Organic อยู่เหนือคำว่าThailand และมีเส้นคั่นกลาง โดยมีรูปวงกลมซึ่งเยื้องอยู่ทางด้านซ้ายซ้อนอยู่ด้านหลังใต้อักษรมีลายเส้น ๓ เส้นทั้งหมดอยู่ในกรอบวงกลม โดยแนวขอบวงกลมด้านล่างมีคำว่า ผลิตภัณฑ์อินทรีย์ โดยเครื่องหมายรับรองมาตรฐานจะมีขนาดเท่าใดและจะใช้สีใดก็ได้ แต่ต้องมีสัดส่วนตามที่กฎกระทรวงกำหนดลักษณะ การใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๖๓

 

แบบ ค.

การแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร

การแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตรให้เห็นได้ง่ายและชัดเจนไว้ที่สินค้าเกษตรหากไม่อาจแสดงหรือไม่สะดวกที่จะแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานไว้ที่สินค้าเกษตรได้ ให้แสดงไว้ที่สิ่งบรรจุหีบห่อ สิ่งหุ้มห่อ สิ่งผูกมัด ป้ายของสินค้า สถานประกอบการ หรือเอกสารโฆษณาประชาสัมพันธ์

นอกจากนี้มาตรฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติที่ดีสำหรับกระบวนการผลิต และการปฏิบัติที่ดีสำหรับการคัดบรรจุรวมทั้งมาตรฐานสินค้าเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์การปฏิบัติ หลักการทั่วไปเกี่ยวกับสุขลักษณะอาหาร (มกษ. ๙๐๒๓)และมาตรฐานที่เกี่ยวกับการปฏิบัติที่ดีด้านสุขลักษณะอื่น ๆ ให้ใช้ชื่อย่อว่า GMP

มาตรฐานเกี่ยวกับระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมให้ใช้ชื่อย่อว่า HACCP

มาตรฐานเกี่ยวกับหลักปฏิบัติหรือการปฏิบัติที่ดีสำหรับกระบวนการรวมสินค้าเกษตรด้วยสารเคมีเช่น ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เมทิลโบรไมด์ หรือฟอสฟีน เป็นต้น ให้ใช้ชื่อย่อว่า"GFP”

หมายเหตุ ก่อนซื้อสินค้าเกษตรทุกครั้ง ผู้บริโภคควรสังเกตเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรที่เชื่อถือได้ ซึ่งมีทั้งเครื่องหมายรับรองในประเทศและต่างประเทศ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑

(๒) ประกาศสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เรื่อง กำหนดรหัสในการใช้และแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตร

(๓) ประกาศสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ชื่อย่อของมาตรฐานสินค้าเกษตร

(๔) กฎกระทรวง กำหนดลักษณะ การใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรพ.ศ. ๒๕๖๓

 

ช่องทางการติดต่อ : สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เลขที่ ๕๐ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๕๖๑ ๒๒๗๗

อีเมล : itc@acfs.go.th

เว็บไซต์ : www.acfs.go.th


******************************


(๒) ปัญหาการโฆษณามาตรฐานสินค้าเกษตร

ประเด็นปัญหา : กรณีที่ผู้ใดโฆษณา ซึ่งสินค้าเกษตรที่มีกฎกระทรวงกำหนดลักษณะการใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๖๓ ให้เป็นไปตามมาตรฐานบังคับหรือแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน โดยรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าสินค้าเกษตรนั้นมิได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน ทำการโฆษณาสินค้าเกษตรโดยรู้หรือควรรู้ว่ายังไม่ได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานซึ่งโฆษณาในลักษณะเป็นการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปมีความสนใจต่อสินค้าเกษตรตามมาตรฐานการทำและแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานไว้ที่นามบัตร ปฏิทิน หัวจดหมาย หัวกระดาษสำนักงานพาหนะ แค็ตตาล็อก แผ่นพับ ป้ายโฆษณา หรือเผยแพร่ในสื่อโฆษณาต่าง ๆ ผู้ทำการโฆษณาสินค้าเกษตรจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากผู้บริโภคพบเจอการโฆษณามาตรฐานสินค้าเกษตรในลักษณะดังกล่าว สามารถร้องเรียนต่อสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑

(๒) กฎกระทรวง กำหนดลักษณะ การใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๖๓

ช่องทางการร้องเรียน : สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เลขที่ ๕๐ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๕๖๑ ๒๒๗๗

อีเมล : itc@acfs.go.th

เว็บไซต์ : www.acfs.go.th

 

******************************


๓.๒ ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับปุ๋ย

๓.๒.๑ ปัญหาปุ๋ยปลอม

(๑) กรณีปัญหาปุ๋ยเคมีปลอม

ประเด็นปัญหา : กรณีผู้บริโภคพบปัญหาเมื่อซื้อปุ๋ยจากผู้จำหน่ายรายย่อยแล้วพบว่ามีการทำปุ๋ยเคมีหรือวัตถุที่ทำเทียมทั้งหมดหรือเป็นบางส่วนทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อหรือสำคัญผิดว่าเป็นปุ๋ยเคมีแท้โดยแสดงชื่อว่าเป็นปุ๋ยเคมีอื่นซึ่งไม่ตรงกับความจริงแสดงชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า หรือที่ตั้งสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าไม่ตรงกับความจริงแสดงว่าเป็นปุ๋ยเคมีมาตรฐานหรือเป็นปุ๋ยเคมีที่ขึ้นทะเบียนไว้ซึ่งไม่ตรงกับความจริง และมีปริมาณธาตุอาหารรับรองธาตุใดธาตุหนึ่งต่ำกว่าร้อยละสิบตามที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือระบุไว้ในฉลากซึ่งจัดเป็นปุ๋ยเคมีปลอม ทำให้ผู้บริโภคหลงเชื่อหรือสำคัญผิดว่าเป็นปุ๋ยเคมีแท้ เป็นเหตุให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ผลผลิตทางการเกษตร หรือต่อร่างกาย หากผู้ใดผลิตปุ๋ยเคมีปลอมเพื่อการค้าต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท ถ้าผู้กระทำไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีปลอม ต้องรับโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท และถ้าผู้ใดขายหรือนำเข้าปุ๋ยเคมีปลอม ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปีและปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสองหมื่นบาทถึงสี่แสนบาทถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีปลอมต้องรับโทษปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงแปดหมื่นบาท

 

(๒) กรณีปัญหาปุ๋ยชีวภาพปลอม

ประเด็นปัญหา : ผู้ประกอบการบางรายมีการผลิตปุ๋ยชีวภาพปลอมออกมาจำหน่าย หรือนำเข้าปุ๋ยชีวภาพโดยแสดงชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อการค้าหรือสถานที่ตั้ง สถานที่ผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อการค้าไม่ตรงกับความจริง หรือแสดงว่าเป็นปุ๋ยที่ขึ้นทะเบียนไว้ซึ่งไม่ตรงกับความจริง หรือเป็นปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นโดยมีชนิดของจุลินทรีย์ไม่ตรงกับที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือที่ระบุไว้ในฉลาก ทำให้เกษตรกรเข้าใจผิดนำไปใช้แล้วไม่เกิดผลดีต่อผลิตผลทางการเกษตร ซึ่งหากผู้ใดผลิตเพื่อการค้า ขาย หรือนำเข้าปุ๋ยชีวภาพปลอม โดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยชีวภาพปลอม ปุ๋ยชีวภาพที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ปุ๋ยชีวภาพที่เพิกถอนทะเบียน หรือปุ๋ยชีวภาพที่มีสารเป็นพิษเกินกว่ากำหนดต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนด

 

(๓) กรณีปัญหาปุ๋ยอินทรีย์ปลอม

ประเด็นปัญหา : กรณีผู้บริโภคพบการระบาดและการจำหน่ายปุ๋ยอินทรีย์ปลอม หรือวัตถุที่ทำเทียมทั้งหมด หรือแต่บางส่วนเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อหรือสำคัญผิดว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่แสดงชื่อว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์อื่นซึ่งไม่ตรงกับความจริง โดยแสดงชื่อหรือเครื่องหมายการค้าของผู้ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าหรือที่ตั้งสถานที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้า ซึ่งไม่ตรงกับความจริงหรือแสดงว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นทะเบียนไว้ ซึ่งไม่ตรงกับความจริงหรือปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นโดยมีปริมาณอินทรียวัตถุรับรองต่ำกว่าร้อยละสิบตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือที่ระบุไว้ในฉลาก หากผู้ใดผลิตเพื่อการค้า ขาย หรือนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์ปลอมโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ปลอมปุ๋ยอินทรีย์ที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ปุ๋ยอินทรีย์ที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน หรือปุ๋ยอินทรีย์ที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ต้องรับโทษหนึ่งในสี่ของโทษที่กำหนดแล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ เนื่องจากปุ๋ยปลอมตรวจสอบได้ยากมากด้วยตาเปล่าหรือเพียงการสัมผัส การตรวจสอบให้ได้ผลที่แน่นอนต้องทำโดยวิธีการทางเคมีในห้องปฏิบัติการ ดังนั้น เมื่อสงสัยว่าจะเป็นปุ๋ยเคมีปลอมปุ๋ยชีวภาพปลอม หรือปุ๋ยอินทรีย์ปลอมควรเก็บตัวอย่างแล้วส่งไปยังสำนักงานเกษตรอำเภอ หรือสำนักงานเกษตรจังหวัดในท้องถิ่นเพื่อส่งให้ห้องปฏิบัติการตรวจสอบและสำหรับผู้บริโภคที่ต้องการซื้อปุ๋ยคุณภาพก่อนซื้อควรปรึกษาเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเพื่อตัดสินใจว่าควรจะซื้อปุ๋ยสูตรใด ตราใด จำนวนเท่าใดควรซื้อโดยการรวมกลุ่มกันซื้อโดยตรงจากบริษัทที่ไว้ใจได้โดยให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรเป็นผู้ประสานงานให้หรือจากร้านค้าที่เชื่อถือได้โดยเฉพาะร้านที่มีสัญลักษณ์ Q-Shop ของกรมวิชาการเกษตรและตรวจสอบว่ามีเลขทะเบียนของกรมวิชาการเกษตรหรือไม่ ควรเก็บใบเสร็จรับเงินจากร้านค้าไว้ เพราะหากพบปัญหาใด ๆ จะสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าผู้ผลิตและจำหน่ายนั้นได้

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กลุ่มควบคุมปุ๋ย เลขที่ ๕๐ ตึกก่านชลวิจารณ์ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๙๔๐ ๖๕๗๓

อีเมล : ard@doa.in.th

เว็บไซต์ : www.doa.go.th


******************************


๓.๒.๒ ปัญหาปุ๋ยผิดมาตรฐาน หรือต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน

(๑) กรณีปัญหาปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน

ประเด็นปัญหา : เนื่องจากปุ๋ยที่จำหน่ายในท้องตลาดมียี่ห้อที่หลากหลายทำให้ผู้บริโภคพบปัญหาว่าปุ๋ยเคมีบางชนิดผลิตขึ้นมีปริมาณธาตุอาหารรับรองธาตุใดธาตุหนึ่งต่ำกว่าที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือตามเกณฑ์ของปุ๋ยเคมีมาตรฐานแต่ไม่ถึงขนาดเป็นปุ๋ยเคมีปลอม ที่ผลิตขึ้นโดยมีความบริสุทธิ์หรือมีลักษณะอย่างอื่นที่สำคัญต่อคุณภาพของปุ๋ยเคมีผิดไปจากเกณฑ์ที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือผิดไปจากเกณฑ์ของปุ๋ยเคมีมาตรฐานและเป็นปุ๋ยอินทรีย์เคมีที่มีปริมาณอินทรียวัตถุต่ำกว่าที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือที่ระบุไว้ในฉลาก ซึ่งหากผู้ใดผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าโดยผลิตปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน ปุ๋ยที่รัฐมนตรีเพิกถอนทะเบียน หรือปุ๋ยเคมีที่มีสารพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีกำหนด ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสองแสนบาท ถ้าผู้ผลิตกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน ปุ๋ยที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน หรือปุ๋ยเคมีที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ต้องรับโทษปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท และถ้าผู้ใดขายหรือนำเข้าปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปีและปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาทแต่หากกระทำการโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานปุ๋ยที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนหรือปุ๋ยเคมีที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องรับโทษปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท

 

(๒) กรณีปัญหาปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์

ประเด็นปัญหา : กรณีผู้บริโภคพบปัญหาปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์ โดยพบว่าปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นโดยมีปริมาณจุลินทรีย์รับรองชนิดใดชนิดหนึ่งต่ำกว่าที่ขึ้นทะเบียนหรือที่ระบุไว้ในฉลาก หรือเป็นปุ๋ยชีวภาพที่สิ้นอายุเนื่องจากบางครั้งร้านจำหน่ายปุ๋ยอาจเก็บปุ๋ยชีวภาพไว้นาน และผู้บริโภคเองก็ไม่ได้ตรวจสอบก่อนเลือกซื้อให้ดีทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการเลือกซื้อสินค้าดังกล่าว ซึ่งถ้าผู้ใดผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อการค้าโดยเป็นปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์ ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสองปีหกเดือน และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ถ้าหากกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์ต้องรับโทษปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงเจ็ดหมื่นห้าพันบาท และถ้าผู้ใดขายหรือนำเข้าปุ๋ยชีวภาพโดยเป็นปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์ ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงหนึ่งปีหกเดือน และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท

 

(๓) กรณีปัญหาปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์

ประเด็นปัญหา : กรณีผู้บริโภคพบปัญหาปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์ โดยมีการใช้ส่วนผสมที่ไม่ถูกต้องปัญหาที่พบ ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้มีลักษณะต่ำกว่าเกณฑ์ คือ เป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นมีปริมาณอินทรียวัตถุรับรองต่ำกว่าร้อยละสิบ มีปริมาณธาตุอาหารหลักน้อย ปริมาณอินทรียวัตถุอัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจน หรือลักษณะจำเป็นอย่างอื่นของปุ๋ยอินทรีย์แต่ละชนิดไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งสามารถกำหนดบทลงโทษในแต่ละกรณีได้ดังต่อไปนี้

(๑) หากผู้ใดผลิตปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์เพื่อการค้า ต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสองปีหกเดือน และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท และถ้าผู้กระทำการกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์ต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงเจ็ดหมื่นห้าพันบาท

(๒) หากผู้ใดขายปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์เพื่อการค้าต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงหนึ่งปีหกเดือนและปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาทตามมาตรา ๗๐ วรรคสอง ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์ต้องรับโทษกึ่งหนึ่งปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาทตามมาตรา ๗๐ วรรคสี่

ดังนั้น ถ้าผู้บริโภคต้องการได้ปุ๋ยอินทรีย์ที่มีคุณภาพ สามารถเลือกซื้อได้จากร้านค้าที่เชื่อถือได้โดยเฉพาะร้านที่มีสัญลักษณ์ Q-Shop ของกรมวิชาการเกษตร และตรวจสอบว่ามีเลขทะเบียนของกรมวิชาการเกษตรหรือไม่ควรเก็บใบเสร็จรับเงินจากร้านค้าไว้ เพราะหากพบปัญหาใด ๆ จะสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าผู้ผลิตและจำหน่ายนั้น

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กลุ่มควบคุมปุ๋ย เลขที่ ๕๐ ตึกก่านชลวิจารณ์ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๙๔๐ ๖๕๗๓

อีเมล : ard@doa.in.th

เว็บไซต์ : www.doa.go.th


******************************


๓.๒.๓ ปัญหาการแสดงฉลากปุ๋ยทางการค้า

ประเด็นปัญหา : กรณีผู้บริโภคพบว่าการจำหน่ายสินค้าปุ๋ยในท้องตลาด หรือจากผู้จำหน่ายรายย่อยมีการแสดงฉลาก เลขที่ใบรับแจ้ง ของกรมวิชาการเกษตรไม่ถูกต้องมีการนำเอาเลขที่ของบริษัทอื่นมาแสดงในฉลากแทน และสินค้าบางส่วนยังไม่ได้รับอนุญาตขอขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ทำให้ผู้บริโภคไม่เข้าใจในรายละเอียด และนำไปใช้ไม่ถูกต้องทำให้เกิดความเสียหาย ซึ่งปุ๋ยถือว่าเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลากต้องรับโทษเป็นรายกรณี ดังนี้

(๑) ปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า จะต้องจัดให้มีฉลากภาษาไทยที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมีที่ผลิตขึ้นรับรองความถูกต้องของข้อความในฉลาก ซึ่งในฉลากต้องแสดงชื่อทางการค้าและมีคำว่าปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีมาตรฐานหรือปุ๋ยอินทรีย์เคมีแล้วแต่กรณี เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายอื่นแสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมีปริมาณธาตุอาหารรับรอง น้ำหนักสุทธิหรือขนาดบรรจุของปุ๋ยเคมีตามระบบเมตริก ชื่อผู้ผลิตและที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ชื่อทางเคมีและปริมาณของสารเป็นพิษที่อยู่ในปุ๋ยเคมีและข้อความอื่นที่กำหนดให้มีในฉลากหากผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามรายละเอียดข้างต้น ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๒) ปุ๋ยชีวภาพเพื่อการค้า จะต้องจัดให้มีฉลากภาษาไทยที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นรับรองความถูกต้องของข้อความในฉลาก และในฉลากต้องแสดงชื่อทางการค้า และมีคำว่าปุ๋ยชีวภาพ เครื่องหมายการค้าปุ๋ยชีวภาพ หรือเครื่องหมายอื่นใด ซึ่งแสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยชีวภาพ ปริมาณจุลินทรีย์รับรอง วิธีการเก็บรักษา น้ำหนักสุทธิหรือขนาดบรรจุของปุ๋ยชีวภาพตามระบบเมตริก วัสดุรองรับของปุ๋ยชีวภาพ ชื่อผู้ผลิตและที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อการค้า วันที่ผลิตและวันสิ้นอายุของปุ๋ยชีวภาพ และข้อความอื่นที่กำหนดให้มีในฉลากหากผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อการค้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามรายละเอียดข้างต้น ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(๓) ปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้า จะต้องจัดให้มีฉลากภาษาไทยที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นรับรองความถูกต้องของข้อความในฉลาก ซึ่งในฉลากต้องแสดงชื่อทางการค้า และมีคำว่าปุ๋ยอินทรีย์เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายอื่นใด ซึ่งแสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยอินทรีย์ ปริมาณอินทรียวัตถุรับรองน้ำหนักสุทธิหรือขนาดบรรจุของปุ๋ยอินทรีย์ตามระบบเมตริก ชื่อผู้ผลิต และที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้า และข้อความอื่นที่กำหนดให้มีในฉลาก

หากผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามรายละเอียดข้างต้น ต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดในมาตรา ๖๑ วรรคหนึ่ง

ข้อความดังต่อไปนี้เป็นข้อความอื่นที่กำหนดให้มีในฉลากปุ๋ย

(๑) ให้ระบุชื่อทางเคมี หรือชื่อสามัญ ถ้าปุ๋ยเคมีนั้นมีชื่อทางเคมีหรือชื่อสามัญ

(๒) ให้ระบุสูตรปุ๋ยเคมีเป็นเลขจำนวนเต็ม โดยคิดปริมาณธาตุอาหารรับรอง เป็นร้อยละโดยน้ำหนักเรียงตามลำดับธาตุอาหารรับรองคั่นด้วยขีด (-) ตามลำดับดังนี้ ไนโตรเจนทั้งหมด (N) – ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ (P2O5) - โพแทสเซียมที่ละลายน้ำ (K2O)

(๓) ในกรณีหินฟอสเฟตต้องแจ้งปริมาณฟอสฟอรัสทั้งหมด (Total P2O5) และความละเอียดบอกขนาดเป็นเมช (Mesh) เป็นร้อยละโดยน้ำหนักไว้ใต้สูตรปุ๋ยเคมี

(๔) ในกรณีของปุ๋ยอินทรีย์เคมี ให้ระบุปริมาณอินทรียวัตถุเป็นร้อยละโดยน้ำหนักไว้ใต้สูตรปุ๋ยเคมี

(๕) ให้ระบุข้อความว่า "ทะเบียนปุ๋ยเคมีเลขที่....../......(กรมวิชาการเกษตร)” โดยระบุเลขที่ทะเบียน/พ.ศ. .... ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมีไว้ด้านซ้ายของฉลาก

(๖) ให้ระบุข้อความว่า "ทะเบียนปุ๋ยชีวภาพเลขที่....../......(กรมวิชาการเกษตร)” โดยระบุเลขที่ทะเบียน/พ.ศ. .... ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยชีวภาพไว้ด้านซ้ายของฉลาก

(๗) ให้ระบุข้อความว่า "ทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์เลขที่....../......(กรมวิชาการเกษตร)” โดยระบุเลขที่ทะเบียน/พ.ศ. .... ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ไว้ด้านซ้ายของฉลาก

(๘) ให้ระบุข้อความว่า "ใบรับแจ้งเลขที่ ปฐ. ..../......(กรมวิชาการเกษตร)” โดยระบุเลขที่หนังสือสำคัญรับแจ้งปุ๋ยเคมีมาตรฐาน/พ.ศ. ....ที่ได้รับไว้ด้านซ้ายของฉลาก

(๙) ให้ระบุข้อความว่า "ใบรับแจ้งเลขที่ รส....../......(กรมวิชาการเกษตร)” โดยระบุเลขที่หนังสือสำคัญรับแจ้งปุ๋ยเคมีธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม/พ.ศ. ....ที่ได้รับไว้ด้านซ้ายของฉลาก

(๑๐) ให้ระบุข้อความว่า "ไม่แนะนำให้ใช้เป็นปุ๋ยข้าว” สำหรับปุ๋ยเคมีสูตรซ้ำกับสูตรปุ๋ยข้าวหรือสูตรปุ๋ยเคมีที่มีอัตราส่วนธาตุอาหารพืชซ้ำกับสูตรปุ๋ยข้าวที่กรมการข้าวแนะนำ เนื่องจากมีไนเทรตไนโตรเจน(Nitrate Nitrogen) นับรวมอยู่ในไนโตรเจนทั้งหมด (Total Nitrogen) ที่ขอขึ้นทะเบียน

(๑๑) ให้ระบุข้อความว่า "ถ้าใช้เป็นปุ๋ยข้าวแนะนำให้ใช้ในนาดินเหนียว” ในกรณีที่ปุ๋ยเคมีนั้นใช้เป็นปุ๋ยข้าวที่มีธาตุอาหารรับรอง ไนโตรเจนและฟอสฟอรัส

(๑๒) ให้ระบุข้อความว่า "ถ้าใช้เป็นปุ๋ยข้าวแนะนำให้ใช้ในนาดินทราย” ในกรณีที่ปุ๋ยเคมีนั้นใช้เป็นปุ๋ยข้าวที่มีธาตุอาหารรับรองไนโตรเจน ฟอสฟอรัสและโพแทสเซียม

(๑๓) ให้ระบุข้อความว่า "ปุ๋ยเหลวอาจมีก๊าซเกิดขึ้นและอาจเป็นอันตรายได้ง่าย ควรเปิดด้วยความระมัดระวัง” เป็นอักษรสีแดง อ่านได้ชัดเจน สำหรับปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์ที่เป็นปุ๋ยเหลว

(๑๔) ให้ระบุข้อความว่า "ควรคลุกเคล้าปุ๋ยให้เข้ากันก่อนใช้” อ่านได้ชัดเจน สำหรับปุ๋ยชนิดเม็ดที่ผลิตแบบไม่เป็นเนื้อเดียวกัน (Bulk Blending)

(๑๕) ให้ระบุชื่อและสถานที่ทำการของผู้นำเข้าปุ๋ยและระบุชื่อผู้ผลิต ประเทศที่ผลิต ในกรณีที่เป็นปุ๋ยนำเข้ามาในราชอาณาจักร

(๑๖) ให้ระบุข้อความ "สั่งจาก...(ชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต)...” ในกรณีเป็นปุ๋ยที่ผลิตแบบแบ่งบรรจุจากปุ๋ยที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร

(๑๗) ให้ระบุข้อความ "ปุ๋ยอินทรีย์เม็ด” หรือ "ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด” หรือ "ปุ๋ยอินทรีย์ผง”

แล้วแต่กระบวนการผลิตปุ๋ยอินทรีย์และตามที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ ไว้ที่ด้านข้างของฉลากให้เห็นชัดเจน

(๑๘) ให้ระบุประเภทของปุ๋ยชีวภาพตามที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยชีวภาพ ใต้คำว่า "ปุ๋ยชีวภาพ”

(๑๙) ให้ระบุข้อความว่า "วันผลิต...” โดยระบุ วันที่ เดือน และปี พ.ศ. ที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และข้อความว่า "ควรใช้ก่อน...” โดยระบุ วันที่ เดือน และปี พ.ศ.

(๒๐) ให้ระบุข้อความ "สั่งจาก...(ชื่อผู้ผลิตแบบผสมและจังหวัด)...” ในกรณีเป็นปุ๋ยที่ผลิตแบบแบ่งบรรจุจากผู้ผลิตแบบผสม

(๒๑) ให้ระบุวัตถุอันเป็นส่วนประกอบของปุ๋ยอินทรีย์ ตามที่ระบุไว้ในใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์

ดังนั้น หากผู้บริโภคพบเห็นการจำหน่ายปุ๋ยที่มีการแสดงฉลากสินค้าไม่ถูกต้อง สามารถร้องเรียนได้ที่กรมวิชาการเกษตร หรือเกษตรในท้องที่แต่ละจังหวัดและทั้งนี้ผู้บริโภคก็ควรตรวจสอบรายละเอียดก่อนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภคด้วยเช่นกัน

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กลุ่มควบคุมปุ๋ย เลขที่ ๕๐ ตึกก่านชลวิจารณ์ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๙๔๐ ๖๕๗๓

อีเมล : ard@doa.in.th

เว็บไซต์ : www.doa.go.th

 

******************************


๓.๒.๔ ปัญหาการจำหน่ายปุ๋ย

(๑) กรณีปัญหาการจำหน่ายปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ

ประเด็นปัญหา : กรณีผู้บริโภคพบว่ามีการจำหน่ายปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ โดยผู้จำหน่ายปุ๋ยนำเอาปุ๋ยเคมีที่เสื่อมคุณภาพมาวางจำหน่าย หมายถึง เป็นปุ๋ยเคมีที่ล่วงอายุ หรือถูกกระทบกระเทือนด้วยปัจจัยใด ๆ อันทำให้เสื่อมคุณภาพ โดยธาตุอาหารลดน้อยลง หรือเปลี่ยนสภาพไปมีลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยนไป หากผู้จำหน่ายไม่ได้จัดให้มีป้ายระบุข้อความว่าปุ๋ยเสื่อมคุณภาพและไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือแจ้งการมีปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพที่เหลืออยู่ในครอบครองต่อเจ้าหน้าที่ ทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายและหากผู้ใดขายหรือนำเข้าปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ หรือไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปีหรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงแปดหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กลุ่มควบคุมปุ๋ย เลขที่ ๕๐ ตึกก่านชลวิจารณ์ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๙๔๐ ๖๕๗๓

อีเมล : ard@doa.in.th

เว็บไซต์ : www.doa.go.th


******************************


(๒) กรณีปัญหาการจำหน่ายปุ๋ยราคาแพง

ประเด็นปัญหา : เนื่องจากปุ๋ยเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการพ.ศ. ๒๕๔๒ จึงมีการคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมในด้านราคา ปริมาณ และคุณภาพ ให้ผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งปุ๋ยเคมี แจ้งชื่อ ชื่อทางการค้า ปริมาณธาตุอาหารรับรองหรือสูตรปริมาณการนำเข้า ราคาซื้อ (ราคานำเข้า) ทุกครั้งที่มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ภายในสามสิบวันตั้งแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร

นอกจากนี้ยังมีการกำหนดให้ผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ซึ่งปุ๋ยเคมี แจ้งชื่อ ชื่อทางการค้าปริมาณธาตุอาหารรับรองหรือสูตร ต้นทุน ราคาจำหน่าย มาตรฐาน ขนาด ปริมาณน้ำหนักต่อหน่วยของปุ๋ยเคมีที่เป็นอยู่ในวันที่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๓๕ พ.ศ. ๒๕๖๔เรื่อง การแจ้งราคาปริมาณ สถานที่เก็บ และรายละเอียดเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีนี้ใช้บังคับ โดยให้แจ้งภายในสามสิบวันหรือกรณีที่มีการผลิตหรือนำเข้าปุ๋ยเคมีสูตรใหม่เพื่อจำหน่ายภายหลังวันที่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๓๕ พ.ศ. ๒๕๖๔ เรื่อง การแจ้งราคาปริมาณสถานที่เก็บ และรายละเอียดเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี แจ้งข้อมูลดังกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนนำสินค้าออกจำหน่าย

การที่ราคาปุ๋ยในท้องตลาดปรับราคาสูงขึ้นส่งผลให้ราคาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการบางรายฉกฉวยโอกาสนี้แสวงหาผลประโยชน์จากเกษตรกร จึงมีการกำกับดูแลให้ราคาอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใด ๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด คณะกรรมการอาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควร หรือทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใดก็ได้หลักเกณฑ์และวิธีการดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้บุคคลใดกักตุนสินค้าควบคุมโดยมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะกรรมการตามมาตรา ๒๕ (๑๒)หรือเก็บสินค้าควบคุมไว้ ณ สถานที่อื่นนอกจากสถานที่เก็บตามที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๒๕ (๕)หรือไม่นำสินค้าควบคุมที่มีไว้เพื่อจำหน่าย ออกจำหน่าย หรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่ายหรือประวิงการจำหน่ายหรือการส่งมอบสินค้าควบคุม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร

หากผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใด ๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควรหรือทำให้เกิดความปั่นป่วน ซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใดและบุคคลใดกักตุนสินค้าควบคุมโดยมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการหรือคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กรณีผู้บริโภคพบเห็นผู้ประกอบการแสวงหาผลประโยชน์จากเกษตรกรโดยการทำให้ปั่นป่วนซึ่งราคาของสินค้า และหากผู้บริโภคพบเห็นผู้ประกอบการรายใด หรือบุคคลใดกักตุนสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการกำหนด สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วน ๑๕๖๙กรมการค้าภายในหรือสำนักงานพาณิชย์ได้ทุกจังหวัด

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒

(๒) ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๓๕ พ.ศ. ๒๕๖๔ เรื่อง การแจ้งราคา ปริมาณ สถานที่เก็บ และรายละเอียดเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี

(๓) ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๓๖ พ.ศ. ๒๕๖๔ เรื่อง การแจ้งปริมาณราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ๕๖๓ ถนนนนทบุรี ตำบลบางกระสออำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี ๑๑๐๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๕๐๗ ๕๕๓๐

สายด่วน : ๑๕๖๙

อีเมล : saraban@dit.go.th

เว็บไซต์ : www.dit.go.th

 

******************************


(๓) กรณีปัญหาการแยกปุ๋ยเพื่อนำมาจำหน่าย

ประเด็นปัญหา : กรณีที่ผู้ขายนำปุ๋ยมาแยกขายโดยผู้ขายไม่ระบุปริมาณธาตุอาหารรับรองให้ตรงกับปุ๋ยเคมีที่แบ่งขาย อีกทั้งการนำปุ๋ยมาแบ่งขายปรากฏว่าภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยชำรุดและไม่มีข้อความที่ตรงกับภาชนะหรือหีบห่อเดิมทำให้ผู้บริโภคนำปุ๋ยมาใช้ไม่ถูกวิธี โดยกฎหมายได้กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตขายปุ๋ยจัดให้มีป้ายไว้ในที่เปิดเผยซึ่งเห็นได้ง่ายจากภายนอกอาคารหรือสถานที่ทำการ แสดงว่าเป็นสถานที่ขายปุ๋ยจัดให้มีการแยกเก็บปุ๋ยเป็นส่วนสัดต่างหากจากสิ่งบริโภคตามสมควร รักษาฉลากที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยและเอกสารกำกับปุ๋ยให้คงอยู่โดยครบถ้วนและชัดเจน หากผู้ขายแบ่งปุ๋ยเคมีจากภาชนะหรือหีบห่อบรรจุเพื่อขายปลีกผู้ขายต้องระบุปริมาณธาตุอาหารรับรองให้ตรงกับปุ๋ยเคมีที่แบ่งขายและรักษาภาชนะหรือหีบห่อที่บรรจุปุ๋ยให้คงอยู่ในสภาพเรียบร้อย ถ้าภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยชำรุด ให้เปลี่ยนภาชนะหรือหีบห่อบรรจุได้แต่ต้องจัดให้มีข้อความตรงกับภาชนะหรือหีบห่อบรรจุเดิมที่ชำรุด

วัตถุที่ใช้ทำภาชนะบรรจุ วิธีปิดผนึกภาชนะและขนาดบรรจุปุ๋ยเพื่อการค้า ซึ่งผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ใบอนุญาตผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อการค้า ใบอนุญาตผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้าและผู้รับใบอนุญาตนำเข้าปุ๋ยต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) วัตถุที่ใช้ทำภาชนะบรรจุปุ๋ยชนิดเม็ด ชนิดเกล็ด ชนิดผง หรือปุ๋ยชนิดที่ไม่เป็นของเหลวกำหนดให้ใช้วัตถุที่สามารถป้องกันความชื้นได้ มีความหนาเหนียวแน่นแข็งแรงทนทานต่อการขนส่ง การปิดผนึกภาชนะบรรจุปุ๋ยให้ผนึกด้วยเครื่องมือไฟฟ้า หรือเย็บด้วยเชือก หรือผูกมัดอย่างมั่นคง สามารถป้องกันความชื้นได้และทนทานต่อการขนส่งไม่รั่วไหล

(๒) ปุ๋ยชนิดน้ำ หรือปุ๋ยที่เป็นของเหลว ต้องบรรจุในภาชนะที่ทนต่อการกัดกร่อนของปุ๋ยภาชนะบรรจุต้องมีความหนาแข็งแรง ทนทานต่อการขนส่ง ใช้ฝาปิดแน่นสนิทและมั่นคงไม่รั่วไหล

(๓) ขนาดบรรจุปุ๋ยเพื่อการค้า ให้ใช้ระบบเมตริกและเป็นเลขจำนวนเต็ม

(๓.๑) ปุ๋ยชนิดเม็ด ชนิดเกล็ด ชนิดผง หรือปุ๋ยชนิดที่ไม่เป็นของเหลว ให้มีขนาดบรรจุน้ำหนักสุทธิเป็นกรัม หรือ กิโลกรัม

(๓.๒) ปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ยที่เป็นของเหลว ให้มีขนาดปริมาตรสุทธิเป็น ลบ.ซม. หรือ ลิตร

(๔) การนำปุ๋ย ชนิดเม็ด ชนิดเกล็ด ชนิดผง ที่ไม่ใช่ของเหลวและปุ๋ยน้ำ หรือปุ๋ยที่เป็นของเหลวเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งมีขนาดบรรจุในภาชนะตั้งแต่ ๕๐๐ กิโลกรัมขึ้นไป หรือตั้งแต่ ๒๐๐ ลิตร ขึ้นไปแล้วแต่กรณี ให้ถือว่าเป็นปุ๋ยที่ไม่ได้บรรจุภาชนะ

การกำหนดลักษณะ ขนาดของป้าย และข้อความที่แสดงในป้าย ซึ่งให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อการค้า ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้า ขายปุ๋ย และนำเข้าปุ๋ยปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า จัดทำป้ายด้วยวัตถุถาวร มีขนาดกว้างและยาวไม่น้อยกว่า ๒๐ × ๗๐ เซนติเมตร และมีข้อความเป็นอักษรไทยขนาดตัวอักษรสูงไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตร"สถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า”

(๒) ให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อการค้า จัดทำป้ายด้วยวัตถุถาวร มีขนาดกว้างและยาวไม่น้อยกว่า ๒๐ × ๗๐ เซนติเมตร และมีข้อความเป็นอักษรไทยขนาดตัวอักษรสูงไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตร"สถานที่ผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อการค้า”

(๓) ให้ผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้า จัดทำป้ายด้วยวัตถุถาวร มีขนาดกว้างและยาวไม่น้อยกว่า ๒๐ × ๗๐ เซนติเมตร และมีข้อความเป็นอักษรไทยขนาดตัวอักษรสูงไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตร"สถานที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้า”

(๔) ให้ผู้รับใบอนุญาตขายปุ๋ยจัดทำป้ายด้วยวัตถุถาวร มีขนาดกว้างและยาวไม่น้อยกว่า ๒๐ × ๗๐เซนติเมตร และมีข้อความเป็นอักษรไทย ขนาดตัวอักษรสูงไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตรว่า"สถานที่ขายปุ๋ย”

(๕) ให้ผู้รับใบอนุญาตนำเข้าปุ๋ย จัดทำป้ายด้วยวัตถุถาวร มีขนาดกว้างและยาวไม่น้อยกว่า ๒๐ × ๗๐เซนติเมตร และมีข้อความเป็นอักษรไทย ขนาดตัวอักษรสูงไม่น้อยกว่า ๓ เซนติเมตรว่า"สถานที่นำเข้าปุ๋ย”

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘

ช่องทางการร้องเรียน : กรมวิชาการเกษตร เลขที่ ๕๐ ตึกก่านชลวิจารณ์ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๕๗๙ ๐๑๕๑ – ๗ หรือ ๐ ๒๕๗๙ ๘๕๓๑

อีเมล : saraban@doa.in.th

เว็บไซต์ : www.doa.go.th


******************************


๓.๒.๕ ปัญหาการโฆษณาเกี่ยวกับปุ๋ย

(๑) กรณีปัญหาการโฆษณาปุ๋ยเกินจริง

ประเด็นปัญหา : การโฆษณาปุ๋ยที่มีลักษณะเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคซื้อปุ๋ย ซึ่งมีข้อความโอ้อวดเกินความเป็นจริงหรือเป็นเท็จ ทำให้เข้าใจว่ามีวัตถุใดเป็นตัวปุ๋ยหรือเป็นส่วนประกอบของปุ๋ย ซึ่งความจริงไม่มีวัตถุหรือส่วนประกอบนั้นในปุ๋ยและมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณปุ๋ยโดยบุคคลอื่น ซึ่งผู้บริโภคจะได้รับข้อมูลแต่เฉพาะข้อดีของสินค้า โดยไม่มีโอกาสพิจารณาข้อมูลอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีทำให้เกิดความเสียหายให้แก่ผู้บริโภค หากบุคคลใดโฆษณาขายปุ๋ยที่มีข้อความโอ้อวดเกินความเป็นจริงหรือเป็นเท็จ ทำให้เข้าใจว่ามีวัตถุใดเป็นตัวปุ๋ยหรือเป็นส่วนประกอบของปุ๋ย ซึ่งความจริงไม่มีวัตถุหรือส่วนประกอบนั้นในปุ๋ยและมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณปุ๋ยโดยบุคคลอื่น ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ดังนั้น ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อปุ๋ยคุณภาพ สามารถเลือกซื้อได้จากร้านค้าที่เชื่อถือได้โดยเฉพาะร้านที่มีสัญลักษณ์ Q-Shop ของกรมวิชาการเกษตร และตรวจสอบว่ามีเลขทะเบียนของกรมวิชาการเกษตรหรือไม่ควรเก็บใบเสร็จรับเงินจากร้านค้าไว้ เพราะหากพบปัญหาใด ๆ จะสามารถดำเนินการทางกฎหมายกับร้านค้าผู้ผลิตและผู้จำหน่ายนั้นได้ และถ้าหากเกษตรกรหรือผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาปุ๋ยเป็นที่น่าสงสัยหรือมีเบาะแสเกี่ยวกับการผลิตหรือจำหน่ายปัจจัยการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพสามารถแจ้งเบาะแสหรือร้องเรียนได้ที่ สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานภูมิภาคในสังกัดกรมวิชาการเกษตรได้ทุกแห่ง

หลักเกณฑ์ในการโฆษณาขายปุ๋ย มีข้อกำหนด ดังต่อไปนี้

(๑) ไม่แสดงสรรพคุณปุ๋ยเป็นเท็จหรือเกินความจริง

(๒) ไม่ทำให้เข้าใจว่ามีวัตถุใดเป็นตัวปุ๋ยหรือเป็นส่วนประกอบของปุ๋ย ซึ่งความจริงไม่มีวัตถุหรือส่วนประกอบนั้นในปุ๋ย หรือมีแต่ไม่เท่าที่ทำให้เข้าใจ

(๓) ไม่มีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณปุ๋ยโดยบุคคลอื่น

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กลุ่มควบคุมปุ๋ย เลขที่ ๕๐ ตึกก่านชลวิจารณ์ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๙๔๐ ๖๕๗๓

อีเมล : ard@doa.in.th

เว็บไซต์ : www.doa.go.th

 

******************************

 

 

(๒) กรณีปัญหาการโฆษณาปุ๋ยผ่านทางอินเทอร์เน็ต

ประเด็นปัญหา : กรณีที่ผู้ประกอบการอาศัยช่องทางการจำหน่ายปุ๋ยผ่านทางเว็บไซต์หรืออินเทอร์เน็ตซึ่งการโฆษณาส่วนใหญ่ไม่บ่งชี้ว่าเป็นปุ๋ยแน่ชัดหรือไม่ ซึ่งมีการจำหน่ายปุ๋ยทางอินเทอร์เน็ต มีการเลี่ยงกฎหมายใช้คำโฆษณาที่คลุมเครือและไม่ชัดเจน ทำให้เกษตรกรเกิดความสับสนและเข้าใจว่าสามารถช่วยเร่งการเจริญเติบโตของพืชได้ โดยโฆษณาว่าเมื่อใช้แล้วสามารถทำให้ได้ผลผลิตมากกว่า ๒ - ๓ เท่า ถือว่าเป็นการโฆษณาที่ไม่แสดงสรรพคุณปุ๋ยเป็นเท็จหรือเกินความจริง ไม่ทำให้เข้าใจว่ามีวัตถุใดเป็นตัวปุ๋ยหรือเป็นส่วนประกอบของปุ๋ยซึ่งความจริงไม่มีวัตถุหรือส่วนประกอบนั้นในปุ๋ย หรือมีแต่ไม่เท่าที่ทำให้เข้าใจ ไม่มีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณปุ๋ยโดยบุคคลอื่น หากบุคคลใดโฆษณาขายปุ๋ยที่มีข้อความโอ้อวดเกินความเป็นจริงหรือเป็นเท็จทำให้เข้าใจว่ามีวัตถุใดเป็นตัวปุ๋ยหรือเป็นส่วนประกอบของปุ๋ย ซึ่งความจริงไม่มีวัตถุหรือส่วนประกอบนั้นในปุ๋ยและมีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณปุ๋ยโดยบุคคลอื่น ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เกษตรกรควรเลือกซื้อปุ๋ยทางการเกษตรที่ขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับกรมวิชาการเกษตรที่สำคัญควรซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้ เช่น ร้านจำหน่ายปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพหรือร้าน Q-Shopไม่ควรซื้อปุ๋ยจากรถเร่หรือการขายตรง โดยสามารถแจ้งเบาะแสได้ที่ กลุ่มสารวัตรเกษตร สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘

ช่องทางการร้องเรียน : สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร เลขที่ ๕๐ ตึกก่านชลวิจารณ์ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๙๔๐ ๖๕๗๓

อีเมล : ard@doa.in.th

เว็บไซต์ : www.doa.go.th



******************************


๓.๓ ปัญหาเกี่ยวกับวัตถุอันตราย

๓.๓.๑ ปัญหาการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรโดยไม่ขออนุญาต และไม่ขอต่ออายุใบอนุญาตมีในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายเพื่อขาย

ประเด็นปัญหา : กรณีการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตรโดยไม่ขออนุญาต และไม่ขอต่ออายุใบอนุญาตมีในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายเพื่อขาย ซึ่งตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕มีการกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบการต้องทำการขออนุญาตการครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ซึ่งผู้ใดประสงค์ขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ชนิดที่ ๓ ให้ยื่นคำขอพร้อมด้วยเอกสารตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยการยื่นคำขอดังกล่าวให้ยื่นต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายหรือหน่วยงานอื่นที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา รายการประกอบคำขอใดถ้าเหมือนกับรายการที่ได้ส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ในการขออนุญาต ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายในครั้งที่แล้วมา ผู้ยื่นคำขอจะไม่ส่งรายการนั้นมาก็ได้ เว้นแต่พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

หลักเกณฑ์การพิจารณาคำขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓

(๑) ผู้ใดประสงค์จะขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ให้ยื่นคำขอพร้อมด้วยเอกสารตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอแบบ วอ. ๑ แบบ วอ. ๓ แบบ วอ. ๕ หรือแบบ วอ. ๗ จำนวน ๒ ชุดการยื่นคำขอดังกล่าว ให้ยื่นต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายนั้น หรือหน่วยงานอื่นที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ส่วนผู้ใดประสงค์จะขออนุญาต โดยผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของหน่วยงาน ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่หน่วยงานดังกล่าวกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา รายการประกอบคำขอใด ถ้าเหมือนกับรายการที่ได้ส่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่แล้วในการขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายในครั้งที่แล้วมา ผู้ยื่นคำขอจะไม่ส่งรายการนั้นมาก็ได้ เว้นแต่พนักงานเจ้าหน้าที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

(๒) ให้มีใบอนุญาตผลิต นำเข้า และส่งออกซึ่งวัตถุอันตราย สำหรับแต่ละผลิตภัณฑ์หรือแต่ละชื่อของวัตถุอันตราย และใบอนุญาตมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย สำหรับแต่ละสถานที่เก็บรักษาหรือแต่ละผลิตภัณฑ์หรือแต่ละชื่อของวัตถุอันตราย ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๕๖

(๓) ผู้ได้รับใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย ซึ่งจำเป็นต้องขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในใบอนุญาตดังกล่าว ให้ยื่นหนังสือพร้อมใบอนุญาตฉบับเดิมที่ได้รับอนุญาตและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายนั้นเพื่อขอแก้ไขเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงชื่อวัตถุอันตราย สูตรเคมี อัตราส่วน ลักษณะและสูตรของวัตถุอันตรายจะกระทำมิได้

ในกรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วเห็นควรให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการดังกล่าวได้ให้บันทึกการแก้ไขเปลี่ยนแปลงลงในใบอนุญาต หรือออกหนังสืออนุญาตให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือออกใบอนุญาตให้ใหม่โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม

(๔) ผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายให้ยื่นคำขอพร้อมด้วยเอกสารตามที่ระบุไว้ในแบบคำขอแบบ วอ. ๙ ท้ายกฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๕๕)ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ จำนวน ๒ ชุด การยื่นคำขอดังกล่าวให้ยื่นต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุมวัตถุอันตรายนั้น หรือหน่วยงานอื่นที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา กรณีผู้ใดประสงค์จะขอต่ออายุใบอนุญาตดังกล่าว โดยผ่านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของหน่วยงานนั้น ให้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่หน่วยงานดังกล่าวกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(๕) คำขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายหรือคำขอต่ออายุใบอนุญาตที่ยื่นไว้ก่อนวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการต่อไปได้ และในกรณีที่คำขอที่ยื่นไว้นั้นมีข้อแตกต่างไปจากคำขอตามกฎกระทรวง (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงนี้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมได้ตามความจำเป็น

กรณีดังกล่าวอาจส่งผลกระทบให้เกษตรกรหรือผู้บริโภคได้รับความเสี่ยงที่ร้านอาจจำหน่ายวัตถุอันตรายที่ไม่ได้มาตรฐานหรือด้อยคุณภาพ ทำให้เกษตรกรหรือผู้บริโภคได้ปัจจัยทางการเกษตรที่ไม่มีคุณภาพผู้ประกอบการที่ทำการฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๓ ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๓๖ ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หากผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวงโดยในกฎกระทรวงดังกล่าวให้กำหนดกรณีที่พึงอนุญาตได้และกรณีที่จะอนุญาตไม่ได้ไว้ให้ชัดเจนเท่าที่จะกระทำได้ เว้นแต่กรณีจำเป็นที่ไม่อาจคาดหมายได้ล่วงหน้าและให้กำหนดระยะเวลาสำหรับการพิจารณาอนุญาตให้ชัดเจนด้วย

กรณีผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ต้องปฏิบัติตามประกาศของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบที่ออกตามมาตรา ๒๐ (๑) (๑/๑) (๒) และ (๓) นั้นด้วย หากผู้ใดผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออกหรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕

(๒) กฎกระทรวง ฉบับที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๕๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕

ช่องทางการร้องเรียน : กรมวิชาการเกษตร เลขที่ ๕๐ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักรกรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๕๗๙ ๐๑๕๑ - ๗ หรือ ๐ ๒๕๗๙ ๘๕๓๑

อีเมล : saraban@doa.in.th

เว็บไซต์ : www.doa.go.th


******************************


๓.๓.๒ ปัญหาการจำหน่ายวัตถุอันตรายทางการเกษตร

ประเด็นปัญหา : วัตถุอันตรายทางการเกษตรเป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะสารเคมีซึ่งมีแนวโน้มความต้องการใช้เพิ่มขึ้น จากความต้องการวัตถุอันตรายทางการเกษตรของเกษตรกรที่เพิ่มมากขึ้น เป็นเหตุให้ผู้ประกอบการฉวยโอกาสจำหน่ายวัตถุอันตรายปลอม วัตถุอันตรายผิดมาตรฐานวัตถุอันตรายเสื่อมคุณภาพ ที่ทำให้เกษตรกรได้รับความเสียหายและมีผลกระทบกับระบบนิเวศทางการเกษตรก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตที่เกษตรกรจะได้รับ ซึ่งการจำหน่ายวัตถุอันตราย เช่น

(๑) การจำหน่ายวัตถุอันตรายปลอม คือ สิ่งที่ทำเทียมวัตถุอันตรายแท้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วนวัตถุอันตรายที่แสดงชื่อว่าเป็นวัตถุอันตรายอื่น หรือแสดงกำหนดเวลาที่วัตถุอันตรายหมดอายุการใช้เกินความเป็นจริง วัตถุอันตรายที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งของสถานที่ผลิตซึ่งมิใช่ความจริงวัตถุอันตรายที่แสดงว่าเป็นวัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนไว้ซึ่งมิใช่ความจริง วัตถุอันตรายที่ผลิตขึ้นโดยมีสารสำคัญน้อยหรือมากกว่าเกณฑ์ค่าคลาดเคลื่อนตามมาตรา ๒๐ (๓) ในระดับที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโดยความเห็นของคณะกรรมการกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง (การมีไว้ในครอบครองไม่ว่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น และไม่ว่าจะเป็นการมีไว้เพื่อขาย เพื่อขนส่ง เพื่อใช้ หรือเพื่อประการอื่นใด และรวมถึงการทิ้งอยู่หรือปรากฏอยู่ในบริเวณที่อยู่ในความครอบครองด้วย) ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ ๑ วัตถุอันตรายชนิดที่ ๒ หรือวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายปลอมและสำหรับกรณีเพิกถอนทะเบียนเพราะอาจเกิดอันตรายโดยไม่มีวิธีปกติตามควรที่จะป้องกันได้ ถ้าเป็นการกระทำเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ผู้กระทำต้องรับโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทของผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายดังกล่าว ผู้กระทำต้องรับโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท

(๒) วัตถุอันตรายผิดมาตรฐาน วัตถุอันตรายดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นวัตถุอันตรายผิดมาตรฐานวัตถุอันตรายที่ผลิตขึ้นโดยมีสารสำคัญน้อยหรือมากกว่าเกณฑ์ค่าคลาดเคลื่อนตามมาตรา ๒๐ (๓) แต่ไม่ถึงระดับที่กำหนดตามมาตรา ๔๗ (๕) และเป็นวัตถุอันตรายที่ผลิตขึ้นโดยมีความบริสุทธิ์ สิ่งเจือปน หรือลักษณะอื่นที่มีความสำคัญต่อคุณสมบัติของวัตถุอันตรายผิดไปจากเกณฑ์ที่กำหนดหรือที่ขึ้นทะเบียนไว้

ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง (การมีไว้ในครอบครองไม่ว่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น และไม่ว่าจะเป็นการมีไว้เพื่อขาย เพื่อขนส่ง เพื่อใช้ หรือเพื่อประการอื่นใด และรวมถึงการทิ้งอยู่หรือปรากฏอยู่ในบริเวณที่อยู่ในความครอบครองด้วย) ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ ๑ วัตถุอันตรายชนิดที่ ๒หรือวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายผิดมาตรฐานและสำหรับกรณีเพิกถอนทะเบียนเพราะไม่มีประโยชน์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ ถ้าเป็นการกระทำเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ผู้กระทำต้องรับโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทของผู้นำเข้าผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายดังกล่าว ผู้กระทำต้องรับโทษปรับไม่เกินสี่แสนบาท

(๓) วัตถุอันตรายเสื่อมคุณภาพ วัตถุอันตรายดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นวัตถุอันตรายเสื่อมคุณภาพวัตถุอันตรายที่หมดอายุการใช้ตามที่แสดงไว้ในฉลาก วัตถุอันตรายที่แปรสภาพจนมีลักษณะเช่นเดียวกับวัตถุอันตรายปลอมตามมาตรา ๔๗ (๕) หรือวัตถุอันตรายผิดมาตรฐาน

ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง (การมีไว้ในครอบครองไม่ว่าเพื่อตนเองหรือผู้อื่น และไม่ว่าจะเป็นการมีไว้เพื่อขาย เพื่อขนส่ง เพื่อใช้ หรือเพื่อประการอื่นใด และรวมถึงการทิ้งอยู่หรือปรากฏอยู่ในบริเวณที่อยู่ในความครอบครองด้วย) ซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ ๑ วัตถุอันตรายชนิดที่ ๒หรือวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายเสื่อมคุณภาพถ้าเป็นการกระทำเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องรับโทษปรับไม่เกินแปดหมื่นบาท

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : กรมวิชาการเกษตร เลขที่ ๕๐ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักรกรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๕๗๙ ๐๑๕๑ - ๗ หรือ ๐ ๒๕๗๙ ๘๕๓๑

อีเมล : saraban@doa.in.th

เว็บไซต์ : www.doa.go.th


******************************


๓.๓.๓ ปัญหาเกี่ยวกับฉลากวัตถุอันตรายทางการเกษตร

ประเด็นปัญหา : กรณีที่เกษตรกรซึ่งเป็นผู้บริโภคได้เลือกซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรซึ่งเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตร และการใช้สารเคมีดังกล่าวไม่ถูกต้อง กล่าวคือฉลากวัตถุอันตรายจะระบุเครื่องหมายและข้อความในแถบสีแสดงระดับความเป็นพิษ ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทั้งเฉียบพลันรุนแรงถึงแก่ชีวิตและเรื้อรัง ซึ่งจะสะสมในระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำให้เกิดความผิดปกติและโรคต่าง ๆ เช่น มะเร็ง สารเคมีกำจัดศัตรูพืชสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง โดยการสัมผัสทางผิวหนังการสูดหายใจละอองที่ฟุ้งกระจายในอากาศ เป็นต้น เมื่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายเห็นว่าฉลากใดไม่เป็นไปตามที่กำหนดให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดปริมาณองค์ประกอบ คุณสมบัติและสิ่งเจือปน ภาชนะบรรจุ วิธีตรวจและทดสอบภาชนะ ฉลาก การผลิต การนำเข้าการส่งออก ด่านศุลกากรที่นำเข้า ส่งออก หรือนำผ่าน การขาย การขนส่ง การเก็บรักษา การกำจัด การทำลายการปฏิบัติกับภาชนะของวัตถุอันตราย การให้แจ้งข้อเท็จจริงการให้ส่งตัวอย่าง หรือการอื่นใดเกี่ยวกับวัตถุอันตรายเพื่อควบคุม ป้องกัน บรรเทาหรือระงับอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงสนธิสัญญาและข้อผูกพันระหว่างประเทศประกอบด้วย คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าเลิกใช้ฉลากดังกล่าว หรือดำเนินการแก้ไขฉลากนั้นให้ถูกต้อง หากผู้ใดขายวัตถุอันตรายโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากไม่ถูกต้อง หรือขายวัตถุอันตรายที่มีฉลากที่คณะกรรมการสั่งเลิกใช้ หรือให้แก้ไขตามมาตรา ๕๐ ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องรับโทษปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท และถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าผู้กระทำต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

และถ้าหากเป็นกรณีที่ผู้ใดโดยเจตนาหรือโดยประมาทรับจ้างทำฉลากที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือรับจ้างติดตรึงฉลากที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือรับจ้างทำลายส่วนอันเป็นสาระสำคัญของฉลากที่ถูกต้องตามกฎหมายสำหรับวัตถุอันตรายอย่างหนึ่งอย่างใดตามความในหมวด ๒ ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ นอกจากบทกำหนดโทษดังกล่าวมาข้างต้นแล้ว ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ขนส่ง ผู้ที่ไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายมีหน้าที่และความรับผิดทางแพ่ง ดังนี้

(๑) ผู้ผลิตวัตถุอันตรายต้องระมัดระวังในการจัดหาวัตถุที่ใช้ในการผลิต การกำหนดวิธีการและขั้นตอนที่วางใจได้ของการผลิต การจัดให้มีภาชนะบรรจุที่มั่นคงแข็งแรงและปลอดภัยต่อการใช้การเคลื่อนย้ายและการขนส่ง การจัดให้มีฉลากที่แสดงสภาพอันตรายของสิ่งนั้นที่ชัดเจนเพียงพอความเหมาะสมของการเก็บรักษา และการตรวจสอบความเหมาะสมของผู้ที่รับมอบวัตถุอันตรายไปจากตนหรือผู้ที่อาจคาดหมายได้ว่าอาจจะได้รับมอบวัตถุอันตรายดังกล่าว

(๒) ผู้นำเข้าวัตถุอันตรายต้องระมัดระวังในการเลือกหาผู้ผลิต การตรวจสอบคุณภาพของวัตถุอันตรายการตรวจสอบความถูกต้องของภาชนะบรรจุและฉลาก การเลือกวิธีการขนส่งและผู้ขนส่ง ความเหมาะสมของการเก็บรักษา และการตรวจสอบความเหมาะสมของผู้ที่รับมอบวัตถุอันตรายไปจากตนหรือผู้ที่อาจคาดหมายได้ว่าอาจจะได้รับมอบวัตถุอันตรายดังกล่าว

(๓) ผู้ขนส่งต้องระมัดระวังในการตรวจสอบความถูกต้องของสิ่งที่ใช้ในการขนส่งหรือยานพาหนะและอุปกรณ์ความถูกต้องของภาชนะบรรจุและฉลาก ความเหมาะสมของวิธีการขนส่ง ความถูกต้องของการจัดวางบนยานพาหนะ และความไว้วางใจได้ของลูกจ้างหรือผู้จัดทำการงานให้แก่ตนหรือร่วมกับตน

(๔) ผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายต้องระมัดระวังในการตรวจสอบความเชื่อถือได้ของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าหรือผู้ที่จัดหาวัตถุอันตรายนั้นให้แก่ตน ความถูกต้องของภาชนะบรรจุและฉลาก ความเหมาะสมของการเก็บรักษาและความไว้วางใจได้ของผู้ที่รับมอบวัตถุอันตรายไปจากตนหรืออาจคาดหมายได้ว่าอาจจะได้รับมอบวัตถุอันตรายดังกล่าว

ดังนั้น ผู้บริโภคจะต้องให้ความสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าทางการเกษตรที่เป็นวัตถุอันตรายที่มีฉลากโดยผู้บริโภคจะต้องสังเกตฉลากวัตถุอันตรายทางการเกษตร เพื่อควบคุม ป้องกัน ระงับอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม

ฉลากวัตถุอันตรายที่ขาย หรือจำหน่าย หรือแสดงไว้เพื่อขายหรือจำหน่าย กำหนดวัตถุอันตรายที่จำหน่าย หรือแสดงไว้เพื่อขายหรือจำหน่าย ต้องมีฉลากขนาดที่เหมาะสมกับภาชนะบรรจุ ปิด หรือพิมพ์ไว้ที่ภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายทุกชนิด ฉลากสำหรับผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายที่จำหน่าย จะต้องมีเครื่องหมายและข้อความเป็นภาษาไทย ดังนี้

(๑) ชื่อทางการค้าของผลิตภัณฑ์ (ถ้ามี)

(๒) ชื่อสามัญตามระบบ ISO หรือชื่อสามัญในระบบอื่น ๆ หรือชื่อสามัญเคมี หากไม่สามารถระบุชื่อสามัญ ดังกล่าวได้ ก็ให้ระบุชื่อทางเคมีตามระบบ IUPAC หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ของสาระสำคัญและในกรณีที่ระบุชื่อสามัญต้องมีขนาดตัวอักษรใหญ่เป็น ๑/๓ เท่าของชื่อทางการค้า

(๓) อัตราส่วนผสมและลักษณะผลิตภัณฑ์

(๔) วัตถุประสงค์การใช้

(๕) เครื่องหมาย และภาพแสดงคำเตือนในการใช้ และการระมัดระวังอันตราย

(๖) ประโยชน์ วิธีใช้ วิธีเก็บรักษา วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับภาชนะบรรจุ และการป้องกันอันตรายหรือความเสียหาย

(๗) คำเตือน

(๘) อาการเกิดพิษ การแก้พิษเบื้องต้น คำแนะนำให้รีบส่งผู้ป่วยไปพบแพทย์พร้อมด้วยฉลากหรือภาชนะบรรจุ และคำแนะนำสำหรับแพทย์

(๙) ชื่อกลุ่มของสารเคมีเพื่อประโยชน์ในการรักษา (ถ้ามี)

(๑๐) ชื่อผู้ผลิต สถานที่ประกอบการ สถานที่ตั้งโรงงาน และชื่อผู้นำเข้าพร้อมสถานที่ประกอบการ

(๑๑) ขนาดบรรจุ

(๑๒) เดือนปีที่ผลิต หรือหมดอายุการใช้

(๑๓) เลขทะเบียนวัตถุอันตราย

แถบสี เครื่องหมายและข้อความแสดงระดับความเป็นพิษ

การจัดทำฉลาก เจ้าของผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายจะต้องจัดทำแถบสีแสดงระดับความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ โดยให้แถบสีอยู่ด้านล่างตลอดความยาวของฉลาก ดังนี้ แถบสีแดงแทนค่าความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ ให้มีเครื่องหมายหัวกะโหลกกับกระดูกไขว้ พร้อมด้วยข้อความว่า "พิษร้ายแรงมาก” แถบสีเหลืองแทนค่าความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ ให้มีเครื่องหมายกากบาท พร้อมด้วยข้อความว่า "อันตราย” แถบสีน้ำเงินแทนค่าความเป็นพิษของผลิตภัณฑ์ ให้มีข้อความว่า "ระวัง”

กรณีผู้บริโภคพบปัญหาให้นำฉลากวัตถุอันตรายที่ไม่ระบุ คำเตือน หรือสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายแสดงความเป็นอันตราย สามารถนำมาแจ้งหรือร้องเรียนได้ที่กลุ่มควบคุมวัตถุอันตราย กรมวิชาการเกษตร

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕

(๒) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง ฉลากและระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๓๘

ช่องทางการร้องเรียน : กรมวิชาการเกษตร เลขที่ ๕๐ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักรกรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๕๗๙ ๐๑๕๑ - ๗ หรือ ๐ ๒๕๗๙ ๘๕๓๑

อีเมล : saraban@doa.in.th

เว็บไซต์ : www.doa.go.th


******************************


๓.๓.๔ ปัญหาการโฆษณาวัตถุอันตราย

ประเด็นปัญหา : การโฆษณาวัตถุอันตรายส่วนมากจะกล่าวถึงสรรพคุณในด้านดีเท่านั้น ทำให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนต่อการใช้อันอาจเป็นอันตรายต่อร่างกายและชีวิต การโฆษณาวัตถุอันตรายจะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้อื่นหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิด สภาพ คุณภาพ ลักษณะของวัตถุอันตราย หรือการใช้วัตถุอันตราย ซึ่งข้อความดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้อื่นหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ได้แก่ ข้อความที่เป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติหรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม ข้อความอย่างอื่นตามที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบประกาศกำหนดโดยความเห็นของคณะกรรมการ และการโฆษณาจะต้องไม่กระทำด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกาย หรือจิตใจ หรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น

กรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อมจากการโฆษณาวัตถุอันตรายใด หน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยความเห็นของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับวัตถุอันตรายนั้น ในเรื่องการโฆษณาวัตถุอันตรายที่ต้องกระทำไปพร้อมกับคำแนะนำหรือคำเตือนเกี่ยวกับวิธีใช้หรืออันตราย จำกัดการใช้สื่อโฆษณาสำหรับวัตถุอันตราย ห้ามการโฆษณาวัตถุอันตราย ในกรณีที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบเห็นว่าการโฆษณาใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๑ มาตรา ๕๑/๑ หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๑/๒ ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้มีไว้ในครอบครอง หรือผู้ทำการโฆษณาซึ่งวัตถุอันตรายดำเนินการ ดังต่อไปนี้

(๑) ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในการโฆษณา

(๒) ห้ามการใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏในการโฆษณา

(๓) ระงับการโฆษณาหรือห้ามใช้วิธีการนั้นในการโฆษณา

(๔) ให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้อื่นที่อาจเกิดขึ้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนด

ในการออกคำสั่งตาม (๔) ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนด โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคประกอบกับความสุจริตในการกระทำของผู้ผลิตผู้นำเข้า ผู้มีไว้ในครอบครอง หรือผู้ทำการโฆษณาซึ่งวัตถุอันตราย

กรณีหน่วยงานผู้รับผิดชอบมีเหตุอันควรสงสัยว่า ข้อความใดที่ใช้ในการโฆษณาเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงตามมาตรา ๕๑ วรรคสอง (๑) ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้มีไว้ในครอบครอง หรือผู้ทำการโฆษณาซึ่งวัตถุอันตรายพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงได้ ในกรณีที่ผู้ผลิต ผู้นำเข้าผู้มีไว้ในครอบครอง หรือผู้ทำการโฆษณาซึ่งวัตถุอันตราย อ้างรายงานทางวิชาการ ผลการวิจัย สถิติ การรับรองของสถาบันหรือบุคคลอื่นใด หรือยืนยันข้อเท็จจริงอันใดอันหนึ่งในการโฆษณา ถ้าผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้มีไว้ในครอบครอง หรือผู้ทำการโฆษณาซึ่งวัตถุอันตรายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่ใช้ในการโฆษณาเป็นความจริงตามที่กล่าวอ้าง ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจออกคำสั่งตามมาตรา ๕๑/๓ ได้

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕

ช่องทางการร้องเรียน : กรมวิชาการเกษตร เลขที่ ๕๐ ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักรกรุงเทพมหานคร ๑๐๙๐๐

โทรศัพท์ : ๐ ๒๕๗๙ ๐๑๕๑ - ๗ หรือ ๐ ๒๕๗๙ ๘๕๓๑

อีเมล : saraban@doa.in.th

เว็บไซต์ : www.doa.go.th


******************************


๓.๓.๕ ปัญหาการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารเพิ่มประสิทธิภาพพืชและผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดิน

ประเด็นปัญหา : ปัจจุบันพบว่ามีการจำหน่ายสินค้าที่ใช้ในทางเกษตรที่ไม่จัดเป็นปุ๋ยตามกฎหมายว่าด้วยปุ๋ยและไม่จัดเป็นวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตราย โดยมีการใช้ข้อความบนฉลากสินค้าที่แสดงสรรพคุณของสินค้าในลักษณะข้อความที่อวดอ้างว่ามีคุณสมบัติหรือมีสารออกฤทธิ์ในการปรับปรุงคุณภาพดินหรือส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช เช่น สารจับใบ สารเพิ่มประสิทธิภาพพืช อาหารเสริมประสิทธิภาพพืชสารไคโตซาน สารสกัดจากสาหร่าย และกรดอะมิโนสำหรับพืช สารปรับปรุงดิน อาหารเสริมประสิทธิภาพดินเป็นสินค้าที่เกษตรหรือผู้บริโภคใช้แพร่หลายโดยไม่สามารถทดสอบพิสูจน์ได้ว่าสินค้าดังกล่าวมีคุณสมบัติหรือมีสารออกฤทธิ์ตามที่ระบุไว้ในฉลากสินค้า ดังนั้น เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์สารเพิ่มประสิทธิภาพพืชและผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๐และมาตรา ๓๑ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ คณะกรรมการว่าด้วยฉลากออกประกาศไว้ซึ่งฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลากจะต้องระบุข้อความ รูป รอยประดิษฐ์ หรือภาพตามความเหมาะสม แล้วแต่กรณีแต่ข้อความนั้นจะต้องตรงต่อความเป็นจริง ไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสาระสำคัญของสินค้านั้นและต้องเป็นภาษาไทยหรือภาษาไทยกำกับภาษาต่างประเทศ เพื่ออธิบายให้เข้าใจความหมายของรูปรอยประดิษฐ์หรือภาพที่สามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน แต่ไม่ใช้บังคับกับฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลากที่ผลิตขึ้นเพื่อการส่งออกและไม่ขายในประเทศไทย หากผู้ใดขายสินค้าที่ควบคุมฉลากโดยไม่มีฉลากหรือมีฉลากแต่ฉลากหรือการแสดงฉลากนั้นไม่ถูกต้อง หรือขายสินค้าที่มีฉลากที่คณะกรรมการว่าด้วยฉลากสั่งเลิกใช้แล้ว โดยรู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าการไม่มีฉลากหรือการแสดงฉลากดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมายต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย หรือผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย ผู้กระทำต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลากจะต้องระบุดังต่อไปนี้

(๑) ชื่อประเภทหรือชนิดของสินค้าที่แสดงให้เข้าใจได้ว่าสินค้านั้นคืออะไร

(๒) ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้ผลิตเพื่อขายในประเทศไทย

(๓) ชื่อหรือเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนในประเทศไทยของผู้สั่งหรือนำเข้ามาขายในราชอาณาจักรเพื่อขาย

(๔) ชื่อทางเคมีหรือชื่อสามัญ (ถ้ามี)

(๕) กรณีผลิตภัณฑ์สารเพิ่มประสิทธิภาพพืช ให้ระบุข้อความเกี่ยวกับคุณสมบัติ สรรพคุณคุณประโยชน์ของสารหรือผลิตภัณฑ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของพืช

(๖) กรณีผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดิน ให้ระบุข้อความเกี่ยวกับคุณสมบัติ สรรพคุณ คุณประโยชน์ของสารหรือผลิตภัณฑ์ในการปรับปรุงดิน

(๗) ผลิตภัณฑ์ที่มิใช่ของเหลว ให้ระบุเป็นร้อยละของสาระสำคัญอันเป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์

(๘) ผลิตภัณฑ์ที่เป็นของเหลว ให้ระบุความเข้มข้นของสาระสำคัญเป็นปริมาณน้ำหนักต่อปริมาตร

(๙) อัตราส่วนการใช้

(๑๐) วิธีการเก็บรักษา

(๑๑) อาการเกิดพิษและวิธีแก้พิษเบื้องต้น

(๑๒) ต้องระบุข้อความว่า "ผลิตภัณฑ์นี้ไม่จัดเป็นปุ๋ยตามกฎหมายว่าด้วยปุ๋ยและวัตถุอันตรายตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายทางเกษตร หรือสารป้องกันกำจัดศัตรูพืช” ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวต้องใช้ตัวอักษรขนาดไม่ต่ำกว่า ๕ มิลลิเมตร และสีของข้อความต้องตัดกับสีพื้นด้วย

(๑๓) ชื่อประเทศที่ผลิตสินค้า

(๑๔) สถานที่ตั้งของผู้ผลิตเพื่อขายหรือของผู้สั่งหรือนำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อขาย

(๑๕) ต้องแสดงขนาดหรือมิติ หรือปริมาณหรือปริมาตร หรือน้ำหนักของสินค้านั้นแล้วแต่กรณีสำหรับหน่วยที่จะใช้ชื่อเต็มหรือชื่อย่อ หรือสัญลักษณ์แทนก็ได้

(๑๖) ต้องแสดงวิธีใช้ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าใจวัตถุประสงค์ในการใช้งานได้อย่างถูกต้อง

(๑๗) ข้อแนะนำในการใช้หรือการเก็บรักษาเพื่อให้ผู้บริโภคใช้สินค้านั้นได้อย่างถูกต้อง

(๑๘) คำเตือน ข้อห้ามใช้ หรือข้อควรระวัง เพื่อให้ผู้บริโภคใช้สินค้าได้อย่างปลอดภัย ทั้งนี้ข้อความดังกล่าวต้องใช้ตัวอักษรขนาดใหญ่กว่าตัวอักษรอื่น และต้องใช้สีตัดกับสีพื้นโดยต้องสามารถเห็นและอ่านได้อย่างชัดเจนแตกต่างจากข้อความอื่น

(๑๙) วัน เดือน ปีที่ผลิต เว้นแต่ไม่สามารถระบุวันที่ผลิตที่ชัดเจนได้ ให้ระบุเฉพาะสัปดาห์และปีที่ผลิตหรือเดือนและปีที่ผลิตได้ เพื่อให้เข้าใจในประโยชน์ของคุณภาพหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น

(๒๐) วัน เดือน ปีที่หมดอายุ หรือวัน เดือน ปีที่ควรใช้ก่อน วัน เดือน ปีที่ระบุนั้นให้ระบุเฉพาะในกรณีที่เป็นสินค้าที่มีอายุการใช้งาน เพื่อให้เข้าใจในประโยชน์ของคุณภาพหรือคุณสมบัติของสินค้านั้น

(๒๑) ราคา โดยระบุหน่วยเป็นบาท และจะระบุหน่วยเป็นเงินสกุลอื่นไว้ด้วยก็ได้

การแสดงข้อความใน (๑๙) และ (๒๐) ให้แสดงโดยเรียงลำดับ วัน เดือน ปี ทั้งนี้ อาจแสดง "เดือน”เป็นตัวเลขหรือตัวอักษรก็ได้ สำหรับ "ปี” ให้ระบุเป็น "พ.ศ.” หรือ "ค.ศ.” ก็ได้ กรณีที่มีการแสดง วัน เดือน ปีไม่เรียงตามลำดับ ต้องมีข้อความหรือตัวอักษรที่สื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจอย่างชัดเจนถึงวิธีการแสดงข้อความดังกล่าวกำกับไว้ด้วย เช่น ปี เดือน วัน ที่ผลิต ๒๐๒๑/๐๘/๑๗ หมายความว่า ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ หรือ ผลิต ๑๗ สิงหาคม๒๕๖๔ หรือ ปี เดือน วัน ที่หมดอายุ ๒๐๒๑/๐๘/๑๗ หมายความว่า หมดอายุวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๔

การแสดงข้อความในฉลากสินค้าต้องให้เห็นและอ่านได้ชัดเจน ขนาดของตัวอักษรที่จะใช้ต้องสัมพันธ์กับขนาดของพื้นที่ฉลาก และขนาดความสูงของตัวอักษรจะต้องไม่น้อยกว่า ๒ มิลลิเมตร เว้นแต่กรณีที่ฉลากที่มีเนื้อที่น้อยกว่า ๓๕ ตารางเซนติเมตร ขนาดความสูงของตัวอักษรจะต้องไม่น้อยกว่า ๑.๕ มิลลิเมตร

ในกรณีที่ไม่อาจแสดงฉลากของสินค้าที่ควบคุมฉลากอย่างถูกต้องตามที่ระบุไว้ เช่น ไม่อาจแสดงไว้ที่สินค้าได้ทั้งหมด ก็ให้แสดงข้อความ รูป รอย ประดิษฐ์ หรือภาพ อย่างใดอย่างหนึ่งไว้ในส่วนหนึ่งส่วนใดที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับสินค้า หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสินค้า หรือในเอกสาร หรือคู่มือสำหรับใช้ประกอบกับสินค้า หรือป้ายที่ติดตั้ง หรือแสดงไว้ที่สินค้าหรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุสินค้านั้นแต่เมื่อรวมการแสดงฉลากไว้ทุกแห่งแล้วต้องสามารถเห็นและอ่านได้ชัดเจน

ดังนั้น หากผู้บริโภคพบเห็นการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สารเพิ่มประสิทธิภาพพืชและผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดิน โดยมีการใช้ข้อความบนฉลากสินค้าที่แสดงสรรพคุณของสินค้าในลักษณะข้อความที่อวดอ้างว่ามีคุณสมบัติหรือมีสารออกฤทธิ์ในการปรับปรุงคุณภาพดินหรือส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช หรือผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สินค้าดังกล่าว สามารถแจ้งเรื่องร้องทุกข์ไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สายด่วน ๑๑๖๖

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง : ได้แก่

(๑) พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒

(๒) ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์สารเพิ่มประสิทธิภาพพืชและผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

ช่องทางการร้องเรียน : สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค อาคารรัฐประศาสนภักดี ชั้น ๕ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา ๕ ธันวาคม ๒๕๕๐ ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่กรุงเทพมหานคร ๑๐๒๑๐

สายด่วน : ๑๑๖๖

อีเมล : consumer@ocpb.mail.go.th

ร้องทุกข์ออนไลน์ : https://complaint.ocpb.go.th

เว็บไซต์ : www.ocpb.go.th


 

******************************



( ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ )