Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








คคบ. ลงดาบผู้ประกอบธุกิจละเมิดสิทธิผู้บริโภค เรียกเงินคืนกว่า 2,900,000 บาท

28 มี.ค. 2566


วันอังคารที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายอนุชา นาคาศัย) ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ ณ ห้องประชุม ๓๐๒ ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร 
จากการประชุมได้มีมติให้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน ๔ เรื่อง  (ซื้อขายห้องชุด) และดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการทั่วไป จำนวน ๑๓ เรื่อง (ซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยว คอร์สฉีดผิว คอร์สเสริมความงาม บัตรคอนเสิร์ต เครดิตเซลล์ ซื้อเครื่องปรับอากาศ สั่งซื้อโซฟา 
ซื้อและติดตั้งเครื่องปรับลดกระแสไฟฟ้า รับบริการเสริมจมูก และสั่งซื้อสินค้าประเภทหม้อทอดไร้น้ำมัน) รายละเอียด ดังนี้ 
ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ จำนวน ๔ เรื่อง
๑. กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาซื้อห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา ๒๗,๖๐๘,๐๐๐ บาท
ได้ชำระเงินจอง ๒๐๐,๐๐๐ บาท เงินทำสัญญา ๘๐๐,๐๐๐ บาท และเงินดาวน์ ๗ งวด ๘๓๐,๐๐๐ บาท
รวมเป็นเงินที่ผู้บริโภคชำระไปแล้วทั้งหมด ๑,๘๓๐,๐๐๐ บาท ถึงกำหนดระยะเวลารับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุด
ปรากฏว่า  บริษัทฯ ก่อสร้างไม่แล้วเสร็จตามสัญญาและไม่สามารถโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดให้แก่ผู้บริโภคภายในกำหนดตามสัญญาจะซื้อจะขายได้ บริษัทฯ จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ดังนั้น บริษัทฯ จึงต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคทั้งหมด มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงิน ๑,๘๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๒. กรณีผู้บริโภคได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา ๒,๘๑๓,๐๐๐ บาท ชำระเงินจอง เงินทำสัญญา และเงินดาวน์ รวมจำนวน ๑๔๔,๐๐๐ บาท ต่อมาผู้บริโภคและบริษัทฯ ได้ทำบันทึกข้อตกลงยกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเดิม และทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดห้องใหม่ ในราคา ๓,๕๙๐,๐๐๐ บาท  โดยบริษัทฯ ได้นำเงินที่ผู้บริโภคชำระไปแล้วทั้งหมดของห้องชุดเดิม โยกไปเป็นเงินดาวน์ห้องชุดใหม่ และเมื่อพิจารณาจากสัญญาบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเห็นว่ามีลักษณะเป็นสัญญาสำเร็จรูป
และมีลักษณะหรือมีผลให้ผู้บริโภคปฏิบัติหรือรับภาระเกินกว่าที่จะได้ตามปกติ จึงเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และเมื่อสัญญาระหว่างผู้บริโภคและบริษัทฯ เลิกกัน จึงต้องคืนเงินให้ผู้บริโภค เมื่อบริษัทฯ ปฏิเสธไม่คืนจึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงิน ๑๔๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๓. กรณีผู้บริโภคทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่ง และชำระเงินจอง ๔,๙๐๐ บาท  เงินทำสัญญา ๑๙,๐๐๐ บาท และเงินผ่อนดาวน์ ๖๘,๘๐๐ บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๙๒,๗๐๐ บาท ต่อมาเมื่อโครงการสร้างเสร็จ ผู้บริโภคได้เข้าตรวจสอบห้องชุดพบว่า ไม่ได้ดำเนินการก่อสร้างสระว่ายน้ำไว้บนชั้นดาดฟ้า
ตามที่โฆษณา แต่สร้างอยู่ชั้นล่างและได้เปลี่ยนแปลงแผนผังห้องชุดและแผนผังอาคารชุดโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ
แต่อย่างใด ผู้บริโภคมีความประสงค์ขอเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดคืน ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ ไม่สามารถจัดสร้าง
สระว่ายน้ำไว้บนชั้น ๘ ของอาคารชุดตามที่โฆษณา ถือว่าบริษัทฯ เป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญา
มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงิน ๙๒,๗๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๔. กรณีผู้บริโภคทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดกับบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา ๒,๘๗๗,๐๐๐ บาท ชำระเงินจอง ๓๐,๐๐๐ บาท เงินทำสัญญา ๑๑๔,๐๐๐ บาท และเงินผ่อนดาวน์ ๑๔๑,๐๐๐ บาท รวมจำนวน ๒๘๕,๐๐๐ บาท แต่ผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ทำให้ไม่สามารถรับโอนกรรมสิทธิ์
ห้องชุดได้ จึงมีความประสงค์ขอเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดคืน เงินจองและเงินทำสัญญาถือว่าเป็นเงินมัดจำ
เมื่อผู้บริโภคไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาบริษัทฯ มีสิทธิริบเงินมัดจำ 
แต่ต้องคืนเงินดาวน์แก่ผู้บริโภค เมื่อบริษัทฯ ไม่คืนเงินดาวน์ การกระทำของบริษัทฯ จึงเป็นการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงิน ๑๔๑,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย   
ดำเนินคดีกับผู้ประกอบธุรกิจด้านสินค้าและบริการ รวมจำนวน ๑๓ เรื่อง
๑. กรณีผู้บริโภคซื้อแพ็กเกจท่องเที่ยวภูเก็ต ๓ วัน ๒ คืน กับบริษัทแห่งหนี่ง ชำระเงินจำนวน ๘,๓๘๐ บาท โดยแพ็กเกจดังกล่าวจะหมดอายุในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๖๒ ซึ่งผู้บริโภคยังไม่ระบุวันเข้าพัก ต่อมา บริษัทฯ ประกาศปิดกิจการ เนื่องจากกรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัทฯ ได้เสียชีวิตลง ผู้บริโภคมีความประสงค์ขอคืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ความเสียหายที่ตกไปยังทายาทที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดไปยังทายาทนั้น ๆ พฤติการณ์ที่บริษัทฯ ไม่เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ถือว่าบริษัทฯ มีเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการและทายาทจำนวน ๓ คน เพื่อร่วมและบังคับให้ร่วมกันหรือแทนกันคืนเงินจำนวน ๘,๓๘๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย และให้เรียกค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ
๒. กรณีผู้บริโภคได้ซื้อคอร์สฉีดผิวกับบริษัทแห่งหนึ่ง สามารถใช้บริการได้จำนวน 
๑๐ ครั้ง จำนวน ๑ คอร์ส ในราคา ๑๕,๐๐๐ บาท ต่อมาได้ซื้อคอร์สฉีดผิวเพิ่มจำนวน ๑ คอร์ส ในราคา ๑๕,๐๐๐ บาท รวมเป็นเงินจำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท โดยชำระผ่านบัตรเครดิตไปยังบัญชีธนาคารของบริษัทฯ
ใช้บริการไปแล้ว ๓ ครั้ง ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนผู้ดำเนินกิจการแทนบริษัทเดิม และเชิญผู้บริโภคไปรับทราบคอร์สที่เหลือพร้อมเสนอขายคอร์สเพิ่มเติม ผู้บริโภคจึงซื้อวิตามินรวมสามารถใช้บริการได้จำนวน ๒๕ ครั้ง
ในราคา ๒๐,๐๐๐ บาท ต่อมาปรากฏว่าบริษัทฯ ได้ปิดกิจการ จึงมีความประสงค์ขอคืนเงินในส่วนที่ยังไม่ได้รับบริการ มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำนวน ๔๕,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๓. กรณีผู้บริโภคทำสัญญาเข้าเป็นสมาชิกบริษัทแห่งหนึ่ง เพื่อเข้ารับบริการ Refresh Cell 
๕ ล้านเซลล์ จำนวน ๑ ครั้ง นวดหน้า Stem Cell จำนวน ๒ ครั้ง และปรึกษาแพทย์ฟรีตลอดชีพ ในราคา ๓๐,๐๐๐ บาท บริษัทฯ ได้ติดต่อให้ผู้บริโภคเข้ารับบริการในวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๔ แต่ผู้บริโภคไม่สะดวก จนกระทั่งเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๕๖๔ ผู้บริโภคเดินทางไปที่คลินิกเพื่อเข้ารับบริการ แต่ปรากฏว่าบริษัทฯ ปิดกิจการ ผู้บริโภคจึงมีความประสงค์ขอยกเลิกสัญญาและขอคืนเงิน มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อให้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภค จำนวน ๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๔. กรณีผู้บริโภคได้ซื้อบัตรคอนเสิร์ต ดำเนินการโดยบริษัทแห่งหนึ่ง เพื่อเข้าชมคอนเสิร์ตฯ 
ในราคา ๒,๕๐๐ บาท โดยจองบัตรคอนเสิร์ตฯ ผ่านแอปพลิเคชัน The Concert และชำระเงินผ่าน QR Code พร้อมเพย์แต่ปรากฏว่า ได้ประกาศยกเลิกการจัดงานคอนเสิร์ตฯ ดังกล่าว และแจ้งให้ผู้บริโภคลงทะเบียนผ่านแบบฟอร์มการคืนเงินและได้ระบุรายละเอียดการคืนเงินว่า "การคืนเงินอาจมีระยะเวลา ๒ เดือน”  จึงได้ส่งหลักฐานการซื้อบัตรและแจ้งหมายเลขบัญชีธนาคารเพื่อรับเงินคืน ซึ่งปัจจุบันครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว 
แต่ยังไม่ได้รับเงินคืน กรณีที่บริษัทฯ ไม่นำพาต่อความเสียหายที่จะเกิดแก่ผู้บริโภค จึงเห็นควรเพิ่มค่าเสียหายจากค่าเสียหายที่แท้จริงด้วย  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินให้แก่ผู้บริโภค จำนวน ๒,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายและเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อสั่งให้บริษัทดังกล่าว รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหาย เพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร
๕. กรณีผู้บริโภคได้เข้ารับบริการ HIFU กับบริษัทแห่งหนึ่ง ค่าบริการจำนวน ๗,๙๙๐ บาท 
โดยมีนายแพทย์เป็นแพทย์ผู้ให้บริการ หลังจากรับบริการเกิดแผลพองน้ำที่บริเวณแก้มด้านขวา แพทย์ฯ แนะนำให้รับประทานยาสเตียรอยด์ของคลินิก แต่แผลมีอาการบวมน้ำเหลืองไหล จึงไปพบแพทย์ฯ ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง  แต่แผลยังมีการอักเสบเกิดแผลดำและมีรอยหลุมเข็ม ผู้บริโภคจึงประสงค์ให้บริษัท ชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๒๒๐,๗๓๑.๕๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๖. กรณีผู้บริโภคได้ทำบันทึกข้อตกลงกับบริษัทแห่งหนึ่งโดยเป็นการเสนอเก็บเครดิตเซลล์ จำนวน ๕๙,๙๙๔ บาท สามารถใช้เครดิตเซลล์ได้จำนวน ๓ คน คนละ ๑๙,๙๙๘ บาท ต่อมาเมื่อผู้บริโภคติดต่อ
ไปยังบริษัทฯ ขอใช้เครดิตเซลล์ เพื่อไปทัวร์ประเทศญี่ปุ่น คนละ ๑๙,๙๙๘ บาท จำนวน ๓ คน ตามบันทึกข้อตกลงแต่ปรากฏว่า บริษัทฯ บ่ายเบี่ยง ให้ใช้เครดิตเซลล์ได้เพียงคนละ ๕,๐๐๐ บาท เท่านั้น ซึ่งไม่เป็นไป
ตามข้อตกลง มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่บริษัทฯ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๕๙,๙๙๔ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย 
๗. กรณีผู้บริโภคซื้อบริการเสริมความงามกับบริษัทแห่งหนึ่ง ในราคา ๓๕,๐๐๐ บาท
ต่อมาได้เพิ่มเงินจำนวน ๖๕,๐๐๐ บาท เพื่ออัพคอร์สเป็นลูกค้า VIP รวมเป็นเงินจำนวน ๑๐๐,๐๐๐ บาท สามารถใช้บริการในวงเงินจำนวน ๔๐๐,๐๐๐ บาท ซื้อคอร์สสปา จำนวน ๘ ครั้ง ในราคา ๓๐,๐๐๐ บาท 
ทั้ง ๒ คอร์ส ผู้บริโภคได้เข้าใช้บริการแล้วบางส่วน ต่อมาบริษัทฯ ปิดกิจการโดยไม่แจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้า จึงประสงค์ขอคืนเงินในส่วนที่ยังไม่ได้ใช้บริการ มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๗๙,๒๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย  
๘. กรณีผู้บริโภคซื้อเครื่องปรับอากาศพร้อมติดตั้ง ยี่ห้อ BEKO จำนวน ๓ เครื่อง กับบริษัท 
แห่งหนึ่ง กำหนดส่งมอบพร้อมติดตั้งเครื่องปรับอากาศในวันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ ปรากฏว่า บริษัทฯ จัดส่งเครื่องปรับอากาศจำนวนเพียง ๒ เครื่อง และตกลงว่าจะทำการส่งมอบและติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้ครบทุกเครื่อง
ในวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ แต่ไม่สามารถดำเนินการตามที่ตกลงได้ ผู้บริโภคจึงติดต่อบริษัทฯ เพื่อขอคืนสินค้าทั้งหมด แต่ได้รับการปฏิเสธ กรณีดังกล่าวทำให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่
ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๙. กรณีผู้บริโภคสั่งซื้อโซฟาขนาด ๒.๔ เมตร และโซฟาขนาด ๑.๘ เมตร ราคา ๒๐,๐๐๐ บาท จากร้านเฟอร์นิเจอร์แห่งหนึ่ง ชำระเงินครบถ้วนแล้ว ต่อมาผู้บริโภคสั่งซื้อโซฟาขนาด ๑.๘ เมตร โซฟาแบบสองที่นั่ง และเก้าอี้สตูลเพิ่มเติมและชำระเงินบางส่วน แต่ทางร้านจัดส่งสินค้าไม่ครบถ้วนโดยแจ้งว่าจะคืนเงินให้แต่ไม่คืน ผู้บริโภคทวงถามหลายครั้งแต่ร้านเฟอร์นิเจอร์เพิกเฉย มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับ
ให้คืนเงินจำนวน ๑๓,๕๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๑๐. กรณีผู้บริโภคซื้อและติดตั้งเครื่องปรับลดกระแสไฟฟ้าจำแนกเป็นอุปกรณ์ปรับแรงดัน
และกระแสไฟฟ้า (Electric Control Stabilizer) ราคา ๓๐,๐๐๐ บาท และอุปกรณ์ระบบสายดิน (Power Ground) ราคา ๒๕,๐๐๐ บาท กับผู้ขาย โดยตกลงกันว่าหากอุปกรณ์ดังกล่าวไม่สามารถปรับลดค่าไฟฟ้าบ้านผู้บริโภคให้ชำระค่าไฟฟ้าเดือนละไม่เกิน ๒,๐๐๐ บาท ภายในระยะเวลา ๓ เดือน นับตั้งแต่ติดตั้งได้ 
จะรับสินค้าคืนพร้อมชำระเงินค่าสินค้าจำนวน ๕๕,๐๐๐ บาท ปรากฏว่า ค่าไฟฟ้าที่บ้านของผู้บริโภคยังคง
สูงกว่า ๒,๐๐๐ บาท ผู้บริโภคจึงแจ้งผู้ขายสินค้าดังกล่าวให้ดำเนินการถอดอุปกรณ์และคืนเงิน แต่ได้รับการปฏิเสธ  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้คืนเงินจำนวน ๕๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย

๑๑. กรณีผู้บริโภคได้ซื้อคอร์สเสริมความงามจากคลินิกฯ แห่งหนึ่งเพื่อเข้ารับบริการ โดยชำระเงินค่าคอร์สจำนวน ๙๕,๐๐๐ บาท ต่อมาคลินิกฯ ได้ปิดให้บริการโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าให้ผู้บริโภค ประกอบกับคลินิกฯ บ่ายเบี่ยงไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนกับผู้บริโภค และไม่แจ้งแนวทางการคืนเงินหรือแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่า จากการตรวจสอบไม่พบสถานพยาบาลดังกล่าว ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการสถานพยาบาลตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ. ๒๕๔๑ และสำนักงานพาณิชย์จังหวัดชลบุรีกลุ่มทะเบียนธุรกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้า ได้ตรวจสอบข้อมูลทางทะเบียนจากฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแล้วไม่ปรากฏชื่อดังกล่าว เห็นได้ว่า การกระทำของผู้ประกอบธุรกิจทำโดยเจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือจงใจให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และเป็นการกระทำอันเป็นการฝ่าฝืนต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้มีอาชีพหรือธุรกิจอันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน  มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้ร่วมกันคืนเงินจำนวน ๙๕,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายและเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อสั่งให้บริษัทดังกล่าว รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร
๑๒. กรณีผู้บริโภคได้รับบริการเสริมจมูกกับคลินิกแห่งหนึ่ง ในราคา ๑๓,๐๐๐ บาท ต่อมาพบว่า จมูกเกิดอาการอักเสบและติดเชื้อ จึงเดินทางไปตรวจที่โรงพยาบาลซึ่งแพทย์ให้ความเห็นว่า จมูกของผู้บริโภคอักเสบและติดเชื้อต้องได้รับการรักษา ได้ติดต่อไปยังคลินิกฯ และได้รับการรักษาโดยการเอาแท่งซิลิโคนออก แต่ทางคลินิกฯ ไม่รับผิดชอบเรื่องค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคทำการรักษาที่โรงพยาบาล รวมทั้งค่าชดเชยการขาดรายได้จากการที่ไม่ได้ทำงาน ประสงค์ให้คลินิกฯ ชดใช้และเยียวยาค่าเสียหายแต่คลินิกฯ ปฏิเสธที่จะชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ เพื่อบังคับให้ร่วมกันคืนเงินจำนวน ๙๗,๙๕๓ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมาย
๑๓. กรณีผู้บริโภคได้สั่งซื้อสินค้าประเภทหม้อทอดไร้น้ำมัน ยี่ห้อ Tefal จำนวน ๑ เครื่อง
ราคา ๑,๐๙๐ บาท ผ่านแอปพลิเคชันของบริษัท ลาซาด้า จำกัด จัดจำหน่ายโดยร้านค้าแห่งหนึ่ง โดยเลือกชำระเงินแบบเรียกเก็บเงินปลายทาง ต่อมาได้รับสินค้ายี่ห้อไม่ตรงตามที่สั่งซื้อ และตรวจสอบพบว่า สินค้ามีความชำรุดเหมือนผ่านการใช้งานมาแล้ว จึงมีความประสงค์ขอเงินคืนและขอให้ตรวจสอบการโฆษณาขายสินค้า ส่วนบริษัทแอปพลิเคชันได้แจ้งให้ผู้บริโภคทำการคืนสินค้ามาก่อน จึงจะพิจารณาคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคได้ แต่ผู้บริโภคไม่ได้คืนสินค้าภายในระยะเวลาที่กำหนด ต่อมาทราบว่า ร้านค้าที่จำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มของบริษัทฯ ได้ถูกปิดไปทำให้ไม่สามารถติดต่อกับร้านค้าเพื่อดำเนินการคืนเงินค่าสินค้าให้แก่ผู้บริโภคได้ และบริษัทฯ ยินดีมอบโค้ดส่วนลดประเภทรหัสคูปอง จำนวน ๑,๕๐๐ บาท แบบไม่มีขั้นต่ำ ใช้ได้ภายใน ๓๐ วัน แต่ผู้บริโภคปฏิเสธรับข้อเสนอดังกล่าว และมีความประสงค์เรียกร้องค่าใช้จ่ายและค่าเสียประโยชน์ที่ต้องสูญเสียทั้งสิ้น จำนวน ๔๕,๐๐๐ บาท มติที่ประชุม ดำเนินคดีแพ่งแก่ผู้ประกอบการ จำนวน ๒ ราย เพื่อบังคับให้ร่วมกันคืนเงินจำนวน ๑,๐๙๐ บาท พร้อมกับค่าใช้จ่ายและค่าเสียประโยชน์ที่ต้องสูญเสียจำนวน ๕,๐๐๐ บาท รวมทั้งสิ้น ๖,๐๙๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายและเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อสั่งให้บริษัทดังกล่าว รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร
ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ ๓/๒๕๖๖ ได้มีการดำเนิน
คดีแพ่งแก่ผู้ประกอบธุรกิจที่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค รวมจำนวน ๑๗ ราย โดยบังคับให้ผู้ประกอบธุรกิจคืนเงินให้แก่ผู้บริโภค เป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น ๒,๙๒๕,๕๔๘.๕๐บาท (สองล้านเก้าแสนสองหมื่นห้าพันห้าร้อยสี่สิบแปดบาทห้าสิบสตางค์) พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายและเสนอเรื่องต่อศาลเพื่อสั่งให้บริษัทดังกล่าว รวมถึงผู้มีอำนาจลงนามจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษเพิ่มขึ้นจากจำนวนค่าเสียหายที่แท้จริงที่ศาลกำหนดตามที่เห็นสมควร


( กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ )