Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








๔. ข้อแนะนำที่ผู้บริโภคควรรู้

04 ก.ค. 2565

๔. ข้อแนะนำที่ผู้บริโภคควรรู้

๔.๑ ข้อแนะนำที่ผู้บริโภคควรรู้เกี่ยวกับการเลือกซื้อแพ็คเกจทัวร์ไม่ให้ถูกหลอก

(๑) เลือกซื้อทัวร์กับบริษัททัวร์ที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจนำเที่ยวอย่างถูกต้อง เช่น มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวถูกต้อง ตรงประเภท และยังไม่หมดอายุ (ใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยวโดยทั่วไป จะมีอายุ ๒ ปี และจะต้องทำการต่ออายุทุกๆ ๒ ปี) ทั้งนี้ ควรระวังบริษัททัวร์ที่ใส่เลขที่อนุญาตปลอมเพื่อให้ดูเหมือนว่าทัวร์เป็นทัวร์ที่ถูกต้อง ผู้บริโภคควรทำการตรวจสอบกับกรมการท่องเที่ยว

(๒) เลือกซื้อทัวร์กับบริษัททัวร์ที่มีความน่าเชื่อถือและมั่นใจได้จริง เช่น บริษัททัวร์ชั้นนำของสายการบิน บริษัททัวร์ที่ไม่เปลี่ยนชื่อบริษัทบ่อย เว็บไซต์ของบริษัทเป็นเว็บที่เปิดใช้เวลานานพอสมควร ลักษณะการจดทะเบียนธุรกิจ บริษัทที่ระบุชัดเจนได้ว่าสำนักงานที่ตั้ง มีตัวตนอยู่จริง มีเบอร์โทรและอีเมล์ที่สามารถติดต่อได้ และติดต่อกับบุคคลใดได้บ้าง หรืออ้างอิงจากเพื่อนหรือคนรู้จักที่เคยไปเที่ยวกับบริษัททัวร์ที่เลือกซื้อ เป็นต้น

(๓) เลือกทัวร์ที่มีโปรมแกรมเที่ยวอย่างชัดเจน

(๔) ไม่เลือกทัวร์ที่ราคาแพง หรือราคาถูกจนเกินไปโดยไม่ทราบถึงมาตรฐานการบริการ

(๕) บัญชีธนาคารที่โอนเงินเข้าไปควรตรวจสอบว่า เป็นชื่อของใครในบริษัท เช่น ชื่อกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัททัวร์ที่ซื้อจริง ไม่ควรโอนให้พนักงานหรือผู้ติดต่อเพราะความไว้วางใจ



******************************


๔.๒ ข้อแนะนำที่ผู้บริโภคควรรู้เกี่ยวกับสิทธิเยียวยาและชดเชยค่าเสียหายจากการจองห้องพักที่ไม่ตรงตามโฆษณา

ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ กำหนดให้ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา และสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ซึ่งสิทธิที่ผู้บริโภคพึงได้รับในอันดับแรกที่สามารถ เรียกร้องได้ทันทีเมื่อพบกับเหตุการณ์ห้องพักไม่ตรงปกคือ ขอย้ายสถานที่ เปลี่ยนห้องพัก ลดราคาที่พัก ย้ายที่พักไปสถานที่ใหม่ โดยผู้ประกอบการเป็นผู้ดำเนินการในเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมด หากทางผู้ประกอบการไม่รับผิดชอบผู้บริโภคสามารถเรียกร้องค่าเสียหายในข้อหา เจตนาเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไม่เป็นธรรมจงใจให้เกิดความเสียหายหรือเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือไม่นำพาต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภค หรือกระทำการเป็นการฝ่าฝืน ต่อความรับผิดชอบในฐานะผู้ประกอบอาชีพหรือธุรกิจได้ หรือสามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สายด่วน ๑๑๖๖ และทางเว็ปไซต์ www.ocpb.go.th




สืบค้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค www.ocpb.go.th

สืบค้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค www.ocpb.go.th



******************************


๔.๓ ข้อแนะนำที่ผู้บริโภคควรรู้เกี่ยวกับช่องทางการจองที่พัก

ผู้บริโภคสามารถจองที่พักได้หลายช่องทาง ดังนี้

(๑) บนเว็บไซต์ของที่พัก ที่พักหลายแห่งมีเว็บไซต์และระบบจองห้องพักเป็นของตัวเองซึ่งผู้บริโภค จะได้ข้อมูลและรายละเอียดของที่พักที่ถูกต้องที่สุดเพราะโรงแรมเป็นผู้จัดทำเอง ผู้บริโภคสามารถเห็นภาพรวมในการให้บริการของที่พักได้ มีความน่าเชื่อถือและปลอดภัย อย่างไรก็ตามสถานที่พักอาจไม่มีสภาพตามที่ได้โฆษณาในเว็บไซต์

(๒) โดยการติดต่อกับห้องพักทางโทรศัพท์หรือช่องทางสื่อสารอื่นๆ (Line, Facebook) ที่พัก ในประเทศไทยจำนวนมากเปิดให้ผู้บริโภคสามารถติดต่อเพื่อจองห้องพักในช่องทางที่ไม่เป็นทางการได้ โดยอาจรับจองห้องพักแล้วให้ผู้บริโภคโอนเงินมัดจำบางส่วนภายในเวลากี่วันนับแต่ที่จอง ช่องทางนี้ผู้บริโภคอาจได้อัตราราคาค่าที่พักดีกว่าที่ได้โฆษณาในช่องทางแบบทางการ รวมถึงสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม จากผู้ประกอบธุรกิจได้โดยตรง แต่ก็มีความเสี่ยงที่อาจถูกหลอกลวง หรือหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นอาจไม่มีหลักฐาน ที่ชัดเจนพอในการดำเนินคดี

(๓) บนเว็บไซต์รวมที่พัก เป็นช่องทางการจองที่พักผ่านเว็บไซต์ซึ่งรวบรวมที่พักให้ผู้บริโภคค้นหาตามปัจจัยพิจารณาต่างๆ เว็บไซต์มักดำเนินการในระดับสากล เช่น Booking Agoda หรือ Traveloka ผู้บริโภคสามารถค้นหาที่พักโดยระบุข้อมูลพื้นฐาน เช่น เมือง วันเวลาเข้าพัก จำนวนผู้เข้าพัก ก็จะแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับ ที่พักที่มีให้บริการ ทั้งภาพห้องพัก ลักษณะห้องพัก ราคาและเงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิก รายละเอียดอื่นๆ รวมถึงคะแนนและความเห็นจากผู้ที่เคยเข้าพัก ช่องทางนี้ก่อให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบธุรกิจ ผู้บริโภคสามารถเลือกที่พักได้ตามความต้องการของตนทั้งด้านราคาและคุณภาพ อย่างไรก็ตามการจองห้องพักตามช่องทางนี้เป็นการทำผ่านเว็บไซต์ตัวกลางซึ่งอาจมีปัญหาในการประสานงานกับเจ้าของที่พัก และอาจมีปัญหาการหลอกลวง เช่น ที่พักไม่มีอยู่จริง ซึ่งแม้เว็บไซต์จะได้พยายามตรวจสอบแล้วก็อาจมีกรณีหลุดรอดไปได้




สืบค้น สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย www.thaitourism.or.th



******************************


( ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ )