Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








๒. สิทธิของผู้บริโภค

01 ก.ย. 2565

๒. สิทธิของผู้บริโภค

๒.๑ สิทธิพื้นฐานของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและบริการทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

การพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ถือเป็นอีกวิธีการหนึ่งในการซื้อขายสินค้าหรือบริการซึ่งสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ ย่อมได้รับการคุ้มครอง ดังนี้

(๑) ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่ถูกต้องและเพียงพอ

(๒) ผู้บริโภคมีอิสระในการเลือกซื้อสินค้าหรือบริการ

(๓) ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ

(๔) ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหายจากการเลือกซื้อสินค้าและบริการ

(๕) ผู้บริโภคมีสิทธิได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา



พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔

 

******************************

 

๒.๒ สิทธิของผู้บริโภคในการบอกเลิกสัญญาและขอรับเงินคืน

นอกเหนือจากสิทธิทั่วไปในฐานะผู้ซื้อสินค้าแล้วผู้บริโภคทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นตลาดแบบตรงยังได้รับสิทธิบอกเลิกสัญญาและขอรับเงินคืนเพิ่มอีกด้วย ในการซื้อขายสินค้าหรือบริการจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงผู้บริโภคมีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้การบอกเลิกสัญญาในกรณีปกติจะต้องเป็นไปตามข้อสัญญาหรือเป็นไปตามข้อตกลงที่กำหนดไว้แต่การทำสัญญาซื้อขายทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นสัญญาที่เกิดขึ้นนอกสถานประกอบการของผู้ประกอบธุรกิจหรือเป็นสัญญาที่คู่สัญญาไม่ได้อยู่เฉพาะหน้าในขณะทำสัญญาผู้บริโภคอาจสั่งซื้อสินค้าจากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงหรือสั่งซื้อสินค้าผ่านทางโทรศัพท์ ไปรษณีย์ ตลอดจนการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ ซึ่งการทำสัญญารูปแบบนี้ผู้บริโภคไม่มีโอกาสเห็นหรือตรวจสอบสินค้านั้นก่อนหรือเห็นรูปลักษณะของสินค้าได้อย่างชัดเจน และสินค้าที่ผู้บริโภคสั่งซื้อมักไม่ตรงกับที่โฆษณาไว้ทั้งนี้ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ได้กำหนดสิทธิของผู้บริโภค ในการซื้อสินค้าหรือบริการจากการขายผ่านตลาดแบบตรงผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาโดยการส่งหนังสือแสดงเจตนาภายในเวลาเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับสินค้าหรือบริการ ไปยังผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง

กรณีที่ผู้บริโภคใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาต้องเลือกปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(๑) ส่งคืนสินค้าไปยังผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง

(๒) เก็บรักษาสินค้าไว้ตามสมควรภายในระยะเวลายี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่ใช้สิทธิเลิกสัญญาเว้นแต่สินค้านั้นเป็นของเสียง่ายโดยสภาพไม่อาจเก็บรักษาได้ภายในระยะเวลาดังกล่าว ให้เก็บรักษาตามเวลาและวิธีการอันควรแก่สภาพ เมื่อพ้นกำหนดนั้นแล้ว ผู้บริโภคจะเก็บรักษาสินค้านั้นไว้หรือไม่ก็ได้

หน้าที่ของผู้บริโภคในการส่งคืนสินค้าให้แก่ผู้ประกอบการ

หากผู้บริโภคเลือกเก็บรักษาสินค้าไว้หลังจากบอกเลิกสัญญาแล้วผู้บริโภคมีหน้าที่ส่งคืนสินค้าให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงได้โดยวิธีดังต่อไปนี้

(๑) ให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง มารับคืนสินค้านั้น ณ ภูมิลำเนาของผู้บริโภค

(๒) กรณีที่ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงขอให้ผู้บริโภคส่งคืนสินค้าทางไปรษณีย์โดยเก็บเงินปลายทางผู้บริโภคต้องส่งสินค้าภายในยี่สิบเอ็ดวันนับแต่วันที่ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญา

(๓) กรณีที่เป็นสินค้าสิ้นเปลือง ผู้บริโภคมีหน้าที่คืนเฉพาะส่วนที่เหลือจากการใช้ก่อนใช้สิทธิเลิกสัญญา

(๔) ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะยึดหน่วงสินค้าไว้ได้จนกว่าจะได้รับเงินคืนที่ผู้บริโภคจ่ายไปในการซื้อสินค้านั้น

หน้าที่ของผู้ประกอบการกรณีผู้บริโภคส่งคืนสินค้า

เมื่อผู้บริโภคใช้สิทธิเลิกสัญญาตามมาตรา ๓๓ แห่งพระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ ให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงจะต้องคืนเงินให้แก่ผู้บริโภคเต็มจำนวนตามที่ผู้บริโภคได้จ่ายไปเพื่อการซื้อสินค้าหรือบริการนั้นภายในสิบห้าวัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแสดงเจตนาเลิกสัญญา ส่วนกรณีที่ ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงใดไม่คืนเงินตามจำนวนและภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงนั้นชำระเบี้ยปรับตามอัตราที่คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงประกาศกำหนดให้แก่ผู้บริโภค ตามประกาศคณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรง เรื่อง กำหนดอัตราเบี้ยปรับกรณีผู้จำหน่ายอิสระตัวแทนขายตรง ผู้ประกอบธุรกิจขายตรงหรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงไม่คืนเงินตามจำนวนและภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้แก่ผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๔๗



พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๓

พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๔ วรรคหนึ่ง

พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๔ วรรคสอง

พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๔ วรรคสาม

พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๔ วรรคห้า

พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๖

พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๖ วรรคสอง


******************************

 

๒.๓ สิทธิการส่งมอบเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ

ให้ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงมีหน้าที่จัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการและส่งมอบให้แก่ผู้บริโภคพร้อมกับสินค้าหรือบริการ เอกสารการซื้อขายดังกล่าวต้องมีข้อความภาษาไทยที่อ่านเข้าใจง่ายโดยระบุชื่อผู้ซื้อและผู้ขาย วันที่ซื้อขาย และวันที่ส่งมอบสินค้าหรือบริการ รวมทั้งสิทธิของผู้บริโภค ในการเลิกสัญญาซึ่งสิทธิเลิกสัญญาดังกล่าวต้องกำหนดด้วยตัวอักษรที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป ๑๐

ผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงผู้ใดไม่จัดทำเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ หรือผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงผู้ใดไม่ส่งมอบเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการ หรือส่งมอบเอกสารการซื้อขายสินค้าหรือบริการไม่เป็นไปตามมาตรา ๓๐ วรรคสอง ต้องรับโทษปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ๑๑

คำรับประกันสินค้าหรือบริการให้จัดทำเป็นภาษาไทยและระบุถึงสิทธิของผู้บริโภคในการเรียกร้องสิทธิตามคำรับประกันที่ชัดเจนและสามารถเข้าใจได้ถึงเงื่อนไขที่ระบุไว้ รายละเอียดเกี่ยวกับคำรับประกันสินค้าหรือบริการดังกล่าวให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการขายตรงและตลาดแบบตรงประกาศกำหนด ๑๒ เนื่องจากการกำหนดข้อความที่จะใช้ในการสื่อสารข้อมูลเพื่อการเสนอขายสินค้าหรือบริการและการทำคำรับประกันถือว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ผู้บริโภคจะต้องได้รับรู้ก่อนเข้าทำสัญญากับผู้ประกอบการ หากผู้ประกอบธุรกิจตลาดแบบตรงไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้น ต้องรับโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาท ๑๓

 


พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๐ วรรคหนึ่ง

๑๐ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๐ วรรคสอง

๑๑ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๑/๒

๑๒ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๓๗

๑๓ พระราชบัญญัติขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๕๑


******************************

 


( ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ )