Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








ประเภท

08 ก.ย. 2565

๑.๒ ประเภท

(๑) ประเภทของมาตรฐานสินค้าเกษตร

มาตรฐานสินค้าเกษตร แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

(๑.๑) มาตรฐานบังคับ คือ มาตรฐานที่มีกฎกระทรวงกำหนดให้สินค้าเกษตรต้องเป็นไปตามมาตรฐาน

(๑.๒) มาตรฐานทั่วไป คือ มาตรฐานที่มีประกาศกำหนดเพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐานตามมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้กำหนดมาตรฐานบังคับหรือมาตรฐานทั่วไปสำหรับสินค้าเกษตรจะกำหนดในเรื่องดังต่อไปนี้ อย่างหนึ่งอย่างใด หรือหลายอย่างก็ได้

(๑) วิธีการ กรรมวิธีหรือกระบวนการจัดการการผลิตหรือคุณลักษณะของสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยทางเคมีชีวภาพ กายภาพ ความปลอดภัยด้านสุขอนามัยหรือสุขอนามัยพืช

หรือลักษณะอื่นที่เกี่ยวข้อง

(๒) หีบห่อ การบรรจุหีบห่อ การทำเครื่องหมายหรือฉลาก

(๓) การตรวจสอบ ประเมิน ทดสอบ ทดลอง วิเคราะห์ หรือวิจัยที่เกี่ยวกับ (๑) หรือ (๒)

(๔) ข้อกำหนดรายการอย่างอื่นที่เกี่ยวกับสินค้าเกษตรตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 



สืบค้น สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) www.acfs.go.th

 


******************************


 

(๒) ประเภทของปุ๋ย

ปุ๋ยโดยทั่วไปสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ประเภท คือ

(๒.๑) ปุ๋ยเคมี หมายความว่า ปุ๋ยที่ได้จากสารอนินทรีย์หรืออินทรียสังเคราะห์ รวมถึงปุ๋ยเชิงเดี่ยวปุ๋ยเชิงผสมปุ๋ยเชิงประกอบ และปุ๋ยอินทรีย์เคมี แต่ไม่รวมถึง ปูนขาว ดินมาร์ล ปูนปลาสเตอร์ยิปซัมโดโลไมต์หรือสารอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา และสารอนินทรีย์หรืออินทรีย์ไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือทำขึ้นก็ตามที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการอุตสาหกรรมหรือกิจการอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา

(๒.๒) ปุ๋ยอินทรีย์ หมายความว่า ปุ๋ยที่ได้หรือทำมาจากวัสดุอินทรีย์ ซึ่งผลิตด้วยกรรมวิธีทำให้ชื้นสับ หมัก บด ร่อน สกัดหรือด้วยวิธีการอื่น และวัสดุอินทรีย์ถูกย่อยสลายสมบูรณ์ด้วยจุลินทรีย์แต่ไม่ใช่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยชีวภาพ

(๒.๓) ปุ๋ยชีวภาพ หมายความว่า ปุ๋ยที่ได้จากการนำจุลินทรีย์ที่มีชีวิตที่สามารถสร้างธาตุอาหารหรือช่วยให้ธาตุอาหารเป็นประโยชน์กับพืชมาใช้ในการปรับปรุงบำรุงดินทางชีวภาพ ทางกายภาพ หรือทางชีวเคมีและให้หมายความรวมถึงหัวเชื้อจุลินทรีย์

ข้อแตกต่างระหว่างปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยชีวภาพ ได้แก่ หน้าที่ของจุลินทรีย์โดยในปุ๋ยอินทรีย์ซึ่งจุลินทรีย์จะทำหน้าที่ย่อยอินทรียวัตถุให้เป็นธาตุอาหารที่พืชนำไปใช้ได้โดยพืชจะได้รับธาตุอาหารจากอินทรียวัตถุในขณะที่ปุ๋ยชีวภาพจุลินทรีย์จะเป็นผู้ผลิตธาตุอาหารให้กับพืชโดยตรง




สืบค้น กองสำรวจดินและวิจัยทรัพยากรดิน กรมพัฒนาที่ดิน www.ldd.go.th

พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓

พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓

พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓


 

******************************


 

(๓) ผลิตภัณฑ์สารเพิ่มประสิทธิภาพพืชและผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดิน

เนื่องจากผลิตภัณฑ์สารเพิ่มประสิทธิภาพพืชและผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินมีทั้งที่ไม่จัดเป็นปุ๋ยตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ และจัดเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตรายพ.ศ. ๒๕๓๕และไม่จัดเป็นวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งสามารถอธิบายรายละเอียดได้ ดังนี้

(๑) การจำหน่ายสินค้าที่ใช้ในทางการเกษตรที่ไม่จัดเป็นปุ๋ยตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘และไม่จัดเป็นวัตถุอันตรายตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยมีการใช้ข้อความบนฉลากสินค้าที่แสดงสรรพคุณของสินค้าในลักษณะข้อความที่อวดอ้างว่ามีคุณสมบัติหรือมีสารออกฤทธิ์ในการปรับปรุงคุณภาพดินหรือส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งเป็นสินค้าที่เกษตรใช้แพร่หลาย โดยไม่สามารถทดสอบพิสูจน์ได้ว่าสินค้าดังกล่าว มีคุณสมบัติหรือมีสารออกฤทธิ์ตามที่ระบุไว้ในฉลากสินค้า ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคจึงได้กำหนดให้ผลิตภัณฑ์สารเพิ่มประสิทธิภาพพืชและผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก เรื่อง ให้ผลิตภัณฑ์สารเพิ่มประสิทธิภาพพืชและผลิตภัณฑ์สารปรับปรุงดินเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก

(๒) การจำหน่ายพืชผลหรือสินค้าเกษตรที่มีสารพิษตกค้าง ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเลขที่ ๓๘๗ พ.ศ. ๒๕๖๐ เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง นิยามคำว่า วัตถุอันตรายทางการเกษตร (pesticide)หมายความว่า สารที่มีจุดมุ่งหมายใช้เพื่อป้องกันทำลาย ดึงดูด ขับไล่ หรือควบคุม ศัตรูพืชและสัตว์หรือพืชและสัตว์ที่ไม่พึงประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ระหว่างการเพาะปลูก การเก็บรักษา การขนส่ง การจำหน่ายหรือระหว่างกระบวนการผลิตอาหารหรือสารที่อาจใช้กับสัตว์เพื่อควบคุมปรสิตภายนอก (ectoparasites)และให้หมายความรวมถึงสารควบคุมการเจริญเติบโตของพืช สารทำให้ใบร่วง สารทำให้ผลร่วง สารยับยั้งการแตกยอดอ่อนและสารที่ใช้กับพืชผลก่อนหรือหลังการเก็บเกี่ยวเพื่อป้องกันการเสื่อมเสียระหว่างการเก็บรักษาและการขนส่งแต่ทั้งนี้วัตถุอันตรายทางการเกษตรไม่รวมถึงปุ๋ย สารอาหารของพืชและสัตว์ วัตถุเจือปนอาหารวัตถุที่เติมในอาหารสัตว์ (feed additive) และยาสัตว์ (veterinary drug) ซึ่งประกาศดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุข

 



ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ ๓๘๗ พ.ศ. ๒๕๖๐ เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ข้อ ๓

 


******************************


 

(๔) ประเภทของวัตถุอันตราย

ประเภทของวัตถุอันตราย สามารถแบ่งออกได้เป็น ๔ ชนิด

(๑) วัตถุอันตรายชนิดที่ ๑ ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในการครอบครองต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด วัตถุอันตรายชนิดที่ ๑ ไม่ปรากฏในบัญชีรายชื่อวัตถุอันตรายแนบท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๖๓

(๒) วัตถุอันตรายชนิดที่ ๒ ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องแจ้งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ทราบก่อนและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด

วัตถุอันตรายชนิดที่ ๒ ในทางการเกษตร เช่น

(๒.๑) ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช เช่น บาซิลลัส ทูริงเยนซิส บาซิลลัส ซับทิลิส

(๒.๒) สารควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง

(๒.๓) นิวเคลียร์โพลีฮีโดรซีสไวรัส

(๒.๔) ไวต์ออยล์ หรือ รีไฟน์ ปีโตรเลียม ออยล์

(๒.๕) ไส้เดือนฝอย สไตเนอร์นีมา

(๓) วัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ได้แก่ วัตถุอันตรายที่การผลิต การนำเข้า การส่งออก หรือการมีไว้ในครอบครองต้องได้รับใบอนุญาต วัตถุอันตรายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมวิชาการเกษตร เช่น

(๓.๑) คลอโรพิคริน (chloropicrin) เฉพาะในสูตรผสมกับเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide)เพื่อใช้ในการรมควัน

(๓.๒) ฟลูมิออกซาซิน (flumioxazin) ที่ใช้ในการป้องกันจำกัดแมลง ศัตรูพืช โรคพืช วัชพืชและควบคุมการเจริญเติบโตของพืช

(๓.๓) สเตร็ปโตมัยซิน (streptomycin) ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการเกษตรเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและกำจัดโรคพืช

(๓.๔) คลอโรฟีนอล (chlorophenol) เป็นองค์ประกอบในยาปราบศัตรูพืช

(๓.๕) ออกซินเตตระไซคลินไฮโดรคลอไรด์ (oxytetracyclin hydrochloride) ใช้ในการเกษตรเพื่อประโยชน์ในการป้องกันและกำจัดโรคพืช

(๔) วัตถุอันตรายชนิดที่ ๔ ได้แก่ วัตถุอันตรายที่ห้ามมิให้มีการผลิต การนำเข้า การส่งออกการนำผ่าน หรือการมีไว้ในครอบครอง วัตถุอันตรายทางการเกษตรชนิดที่ ๔ เช่น คลอร์ไพริฟอส คลอร์ไพริฟอส-เมทิลพาราควอต พาราควอตไดคลอไรด์ พาราควอต [บิส (เมทิลซัลเฟต)] หรือ พาราควอตเมโทซัลเฟตรายละเอียดตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๖๓

 

 


พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๘

สืบค้น สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร www.doa.go.th

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ๖) พ.ศ. ๒๕๖๓

 


******************************




( ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ )