Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








มาตรการควบคุม

09 ก.ย. 2565

มาตรการควบคุม

(๑) มาตรการควบคุมสินค้าเกษตร ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑

ปัจจุบันสินค้าเกษตรหลายชนิดที่ผลิตขึ้นในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศยังไม่มีมาตรฐานใช้บังคับเป็นเหตุให้สินค้าเกษตรด้อยคุณภาพและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถืออันอาจส่งผลกระทบต่อการประกอบธุรกิจสินค้าเกษตรของไทยทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้จึงมีการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ได้มาตรฐานเพื่อความปลอดภัยหรือเพื่อป้องกันความเสียหายอันเกิดแก่ประชาชน หรือแก่กิจการสินค้าเกษตร หรือเศรษฐกิจของประเทศ

ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้มีการกำหนดให้มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร ๒ แบบ คือ

(๑) เครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ

เครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับ เป็นเครื่องหมายที่กำหนดไว้สำหรับสินค้าเกษตรที่ได้รับใบรับรองตามมาตรฐานบังคับที่มีกฎหมายให้ต้องเป็นไปตามมาตรฐาน เมื่อมีกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานบังคับสำหรับสินค้าเกษตรเรื่องใดแล้ว ผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายจะต้องผลิต ส่งออก นำเข้าหรือจำหน่ายสินค้าเกษตรที่เป็นไปตามมาตรฐานเท่านั้น เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคและป้องกันความเสียหายที่จะเกิดขึ้นแก่เศรษฐกิจของประเทศ

(๒) เครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไป

เครื่องหมายมาตรฐานทั่วไป เป็นเครื่องหมายที่กำหนดไว้สำหรับสินค้าเกษตรที่ได้รับใบรับรองตามมาตรฐานทั่วไปที่ประเทศกำหนดเพื่อส่งเสริมสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าที่สนใจยื่นขอรับการตรวจสอบและขอรับใบรับรองจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานเมื่อได้รับใบรับรองแล้วจึงมีสิทธิแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานทั่วไปได้

หมายเหตุ

- มาตรฐานทั่วไป หรือบังคับ ที่จัดทำขึ้นในทางเนื้อหาสามารถแบ่งได้ ๓ ประเภท คือ มาตรฐานสินค้ามาตรฐานระบบ และมาตรฐานข้อกำหนดทั่วไป

- การใช้และแสดงเครื่องหมายรับมาตรฐานทั่วไปหรือบังคับ กรณีสินค้าเกษตรที่ได้ใบรับรองเป็นมาตรฐานสินค้า มาตรฐาน GAP Organic ให้แสดงให้เห็นได้ง่ายและชัดเจนไว้ที่สินค้าเกษตร กรณีได้รับใบรับรองเป็นมาตรฐานระบบ เช่น GMP HACCP GFP ให้แสดงที่สถานประกอบการ


(๑.๑) มาตรการควบคุมการผลิต การส่งออก หรือการนำเข้า สินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานบังคับ

ผู้ผลิต ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรที่มีมาตรฐานบังคับ จะต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ซึ่งผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐาน มีสองประเภทได้แก่ ผู้ซึ่งได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานตามกฎหมาย โดยผู้ผลิต ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้าสินค้าเกษตรจะต้องนำสินค้าขอรับการตรวจสอบและได้รับใบรับรองจากผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานที่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) นอกจากนี้ผู้ผลิต ผู้ส่งออกหรือผู้นำเข้ายังต้องแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานบังคับกับสินค้าเกษตรที่เป็นมาตรฐานบังคับนั้นมีรายละเอียด ดังนี้

(๑) ห้ามผู้ใดผลิต ส่งออก หรือนำเข้าซึ่งสินค้าเกษตรนั้น เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิตผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าแล้วแต่กรณี ซึ่งสินค้าเกษตรนั้นจากสำนักงานหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมอบหมาย ๒/font1>

(๒) ใบอนุญาตให้ใช้กับผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าที่ระบุชื่อไว้ในใบอนุญาตเท่านั้นและให้มีอายุสามปีนับแต่วันที่ออกใบอนุญาต

(๓) ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้า ต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผยและเห็นได้ง่าย ณ สถานที่ทำการของผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าที่ระบุไว้ในใบอนุญาต

(๔) กรณีที่ผู้รับใบอนุญาตเป็นผู้ผลิต ผู้ส่งออก หรือผู้นำเข้าหรือผู้ประกอบการตรวจสอบมาตรฐานฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้นได้โดยจะสั่งได้ครั้งละไม่เกิน ๓ เดือน และผู้ที่ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตจะประกอบกิจการตามใบอนุญาตในระหว่างที่ถูกสั่งพักใช้ใบอนุญาตนั้นไม่ได้


(๑.๒) มาตรการควบคุมฉลากมาตรฐานสินค้าเกษตร

ฉลากมาตรฐานสินค้าเกษตร หมายถึง มาตรฐานบังคับและมาตรฐานทั่วไปซึ่งมีมาตรการควบคุมแบบเดียวกันสำหรับสินค้าเกษตรซึ่งได้กำหนดในเรื่องดังกล่าว เช่น วิธีการ กรรมวิธี หรือกระบวนการจัดการการผลิตหรือคุณลักษณะของสินค้าเกษตรที่เกี่ยวกับคุณภาพและความปลอดภัยด้านสุขอนามัย หรือสุขอนามัยพืช หรือ หีบห่อ การบรรจุหีบห่อ การทำเครื่องหมายหรือฉลาก เป็นต้น


(๑.๓) มาตรการควบคุมการโฆษณามาตรฐานสินค้าเกษตร

ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้บัญญัติเรื่องการโฆษณาสินค้าเกษตรไว้ในมาตรา ๗๕ กล่าวคือ ผู้ใดโฆษณา ซึ่งสินค้าเกษตรที่มีกฎกระทรวงกำหนดลักษณะการใช้และการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสำหรับสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๖๓ ให้เป็นไปตามมาตรฐานบังคับหรือแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน โดยรู้หรือมีเหตุอันควรรู้ว่าสินค้าเกษตรนั้นมิได้ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน ผู้ทำการโฆษณาสินค้าเกษตรจะต้องรับโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



 


พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๕๔

พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๐

พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๒

พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๓

พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๕๐

พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๑๖

พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๗๕



******************************



(๒) มาตรการควบคุมปุ๋ยตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘

ผู้บริโภคและเกษตรกรจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเป็นอาหารพืชหรือบำรุงดินเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นปัจจุบันมีการสั่งปุ๋ยเคมีจากต่างประเทศมาจำหน่ายและผสม เพื่อจำหน่ายให้แก่เกษตรกรในปริมาณมากขึ้น

แต่ปรากฏว่าปุ๋ยเคมีที่จำหน่ายในท้องตลาดนั้น มักจะเป็นปุ๋ยเคมีปลอม ปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน ปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพอีกทั้งน้ำหนักปุ๋ยเคมีก็มีปริมาณน้อยกว่าที่แจ้งไว้ในฉลาก ปริมาณธาตุอาหารพืชไม่ถูกต้องครบถ้วนตามข้อความที่แจ้งไว้ในฉลาก เป็นการเอาเปรียบเกษตรกรและหวังผลกำไรเกินควร จึงมีกฎหมายว่าด้วยปุ๋ยเพื่อควบคุมการผลิตการขาย และการนำหรือสั่งปุ๋ยเคมีเข้ามาในราชอาณาจักรให้เป็นไปโดยสุจริต รวมทั้งการควบคุมการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ด้วย


(๒.๑) มาตรการควบคุมการผลิต ส่งออก นำเข้าปุ๋ย และการจำหน่าย

ก่อนการผลิตปุ๋ยเคมี ปุ๋ยอินทรีย์ และปุ๋ยชีวภาพ เพื่อการค้า รวมทั้งนำเข้า หรือนำผ่านราชอาณาจักรมาเพื่อการจำหน่ายจะต้องนำปุ๋ยดังกล่าวไปขออนุญาตขึ้นทะเบียนก่อน เมื่อได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนแล้วจึงขออนุญาตผลิต นำเข้าหรือนำผ่านเฉพาะปุ๋ยที่ขึ้นทะเบียน

การควบคุมคุณภาพปุ๋ยประกอบด้วย การห้ามผลิต ส่งออก หรือนำเข้าปุ๋ย ดังต่อไปนี้

(๑) ปุ๋ยเคมีปลอม ห้ามบุคคลใดผลิตปุ๋ยเคมีปลอมเพื่อการค้า หากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุก

ตั้งแต่ห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสองล้านบาท หากผู้ผลิตกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีปลอมต้องรับโทษปรับตั้งแต่หนึ่งแสนห้าหมื่นบาทถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาท ๑๐ และห้ามบุคคลใดขาย หรือนำเข้าปุ๋ยเคมีปลอมหากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนสองหมื่นบาทถึงสี่แสนบาทหากผู้ขายหรือผู้นำเข้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีปลอม ต้องรับโทษปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงแปดหมื่นบาท ๑๑

(๒) ปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน ๑๒ ห้ามผลิตปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานเพื่อการค้า หากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หากผู้ผลิตกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานปุ๋ยที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน หรือปุ๋ยเคมีที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องรับโทษปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท ๑๓ และห้ามขายหรือนำเข้าปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐานหากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท หากผู้ขายหรือผู้นำเข้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีผิดมาตรฐาน ปุ๋ยที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน หรือปุ๋ยเคมีที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องรับโทษปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท ๑๔

(๓) ปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ ๑๕ ผู้รับใบอนุญาตผู้ใดมีปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพไว้ในครอบครองต้องแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ และหากประสงค์จะขายผู้ขายจะต้องเป็นผู้รับใบอนุญาตและหากผู้ใดมีปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพไว้ในครอบครอง ๑๖ ต้องแจ้งเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพภายในหกสิบวันนับตั้งแต่ทราบถึงการเสื่อมคุณภาพ ณ สํานักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร โดยมีรายละเอียดได้แก่

- เลขที่ใบสําคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี หรือเลขที่หนังสือสําคัญการรับแจ้งปุ๋ยเคมีมาตรฐานหรือเลขที่หนังสือสําคัญรับแจ้งปุ๋ยเคมีธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม แล้วแต่กรณี

- สาเหตุที่ทําให้ปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ

- ลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมรูปถ่าย

- ปริมาณปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพที่อยู่ในครอบครอง

- สถานที่เก็บปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ พร้อมรูปถ่ายหากผู้รับใบอนุญาตผู้ใดที่ได้แจ้งการมีปุ๋ยเสื่อมคุณภาพไว้ในครอบครองไว้แล้ว หากมีความประสงค์จะขายปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ ให้ปฏิบัติดังนี้ ๑๗

- ต้องขออนุญาตขายปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพเป็นหนังสือต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สํานักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร กรมวิชาการเกษตร

- ต้องขายให้ผู้ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าหรือผู้ใช้โดยตรงเท่านั้น

- กรณีขายให้แก่ผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ต้องแสดงเลขที่ใบสําคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี หรือเลขที่หนังสือสําคัญรับแจ้งปุ๋ยเคมีมาตรฐาน หรือเลขที่หนังสือสําคัญรับแจ้งปุ๋ยเคมีธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริม ปริมาณปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพที่จะขาย ชื่อและสถานที่ตั้งโรงงานของผู้ซื้อปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ และระยะเวลาการส่งมอบ

- กรณีขายให้กับผู้ใช้ปุ๋ยโดยตรง ต้องแสดงเลขที่ใบสําคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยเคมี หรือเลขที่หนังสือสําคัญรับแจ้งปุ๋ยเคมีมาตรฐาน หรือเลขที่หนังสือสําคัญรับแจ้งปุ๋ยเคมีธาตุอาหารรอง ธาตุอาหารเสริมแล้วแต่กรณี ปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ ปริมาณปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพที่จะขาย ชื่อ ที่อยู่และเลขประจําตัวประชาชนของผู้ซื้อปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ ระยะเวลาการส่งมอบ ต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน

(๔) ปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์ หรือปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์ ๑๘ ห้ามผลิตปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์เพื่อการค้า หากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสองปีหกเดือน และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาท ถึงหนึ่งแสนบาท ๑๙ ถ้าวัตถุแห่งการกระทำความผิดเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ผู้กระทำต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสองปีหกเดือนและปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ๒๐ และถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์ต้องรับโทษปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงเจ็ดหมื่นห้าพันบาท ๒๑ ถ้าผู้กระทำการกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์ต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงเจ็ดหมื่นห้าพันบาท ๒๒

ห้ามบุคคลใดขายหรือนำเข้าปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์ ๒๓ หากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงหนึ่งปีหกเดือน และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ๒๔ ถ้าวัตถุแห่งการกระทำความผิดเป็นปุ๋ยอินทรีย์ผู้กระทำต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงหนึ่งปีหกเดือน และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท ๒๕ หากกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยชีวภาพต่ำกว่าเกณฑ์ต้องรับโทษปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท ๒๖ ถ้าผู้กระทำการกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ต่ำกว่าเกณฑ์ต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท ๒๗

(๕) ปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ๒๘ ห้ามบุคคลใดผลิตเพื่อการค้าหรือนำเข้าปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้หากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปีและปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท ๒๙ หากผู้ผลิตกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนต้องรับโทษปรับตั้งแต่สามหมื่นบาทถึงแสนห้าหมื่นบาท ๓๐

ห้ามผู้ใดขายปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียน แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ ๓๑ หากฝ่าฝืนต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท ๓๒ หากบุคคลใดกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน ต้องรับโทษปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท ๓๓

(๖) ปุ๋ยที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน ๓๔ จะต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติปุ๋ยพ.ศ. ๒๕๑๘ แล้วแต่กรณี ดังนี้

- ผู้ใดผลิตเพื่อการค้า ขาย หรือนำเข้าปุ๋ยชีวภาพโดยฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๑) (๕) (๖) หรือ (๗)โดยปุ๋ยชีวภาพที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน ต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดตามมาตรา ๖๓ วรรคสองหรือมาตรา ๖๔ วรรคสอง มาตรา ๖๖ วรรคสอง มาตรา ๖๗ วรรคสอง มาตรา ๗๑ วรรคสอง หรือมาตรา ๗๒ วรรคสอง แล้วแต่กรณี

- ผู้ใดผลิตเพื่อการค้า ขาย หรือนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์โดยฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๑) (๕) (๖) หรือ (๗)โดยเป็นปุ๋ยอินทรีย์ที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียน หรือปุ๋ยอินทรีย์ที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องรับโทษหนึ่งในสี่ของโทษที่กำหนดตามมาตรา ๖๓ วรรคสอง หรือมาตรา ๖๔ วรรคสอง มาตรา ๖๖ วรรคสองมาตรา ๖๗ วรรคสอง มาตรา ๗๑ วรรคสอง หรือมาตรา ๗๒ วรรคสอง แล้วแต่กรณี

- ผู้ใดผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าโดยฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๒) (๖) หรือ (๗) ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสองแสนบาท ถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนต้องรับโทษปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท

- ผู้ใดขายหรือนำเข้าปุ๋ยเคมีโดยฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๒) (๖) หรือ (๗) ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท ถ้ากระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยที่รัฐมนตรีสั่งเพิกถอนทะเบียนต้องรับโทษปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท

(๗) ปุ๋ยที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ๓๕ จะต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ แล้วแต่กรณี ดังนี้

- ผู้ใดผลิตเพื่อการค้า ขาย หรือนำเข้าปุ๋ยชีวภาพโดยฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๑) (๕) (๖) หรือ (๗)เป็นปุ๋ยชีวภาพที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องรับโทษกึ่งหนึ่งของโทษที่กำหนดตามมาตรา ๖๓ วรรคสอง หรือมาตรา ๖๔ วรรคสอง มาตรา ๖๖ วรรคสอง มาตรา ๖๗ วรรคสอง มาตรา ๗๑วรรคสอง หรือมาตรา ๗๒ วรรคสอง แล้วแต่กรณี ๓๖

- ผู้ใดผลิตเพื่อการค้า ขาย หรือนำเข้าปุ๋ยอินทรีย์โดยฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๑) (๕) (๖) หรือ (๗)โดยปุ๋ยอินทรีย์ที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ต้องรับโทษหนึ่งในสี่ของโทษที่กำหนดตามมาตรา ๖๓ วรรคสอง หรือมาตรา ๖๔ วรรคสอง มาตรา ๖๖ วรรคสอง มาตรา ๖๗ วรรคสอง มาตรา ๗๑ วรรคสอง หรือมาตรา ๗๒ วรรคสอง แล้วแต่กรณี ๓๗

- ผู้ใดผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้าโดยฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๒) (๖) หรือ (๗) ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสองแสนบาท ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ต้องรับโทษปรับตั้งแต่หกหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท ๓๘

- ผู้ใดขายหรือนำเข้าปุ๋ยเคมีโดยฝ่าฝืนมาตรา ๓๐ (๒) (๖) หรือ (๗) ต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงสองแสนบาท ถ้าผู้กระทำการดังกล่าวกระทำโดยไม่รู้ว่าเป็นปุ๋ยเคมีที่มีสารเป็นพิษเกินกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดต้องรับโทษปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาท ๓๙


(๒.๒) การควบคุมราคาปุ๋ย ๔๐

การควบคุมราคาปุ๋ย ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้กำหนดให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการมีอำนาจ ดังนี้

(๑) กำหนดให้ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้ซื้อเพื่อจำหน่ายหรือผู้นำเข้าเพื่อจำหน่ายสินค้า หรือบริการแสดงราคาสินค้าหรือบริการ ในการนี้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ อาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการแสดงราคาสินค้าหรือบริการไว้ด้วยก็ได้ ๔๑ ซึ่งคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือคณะกรรมการส่วนจังหวัดว่าด้วยราคาสินค้าและบริการกำหนดอัตรากำไรสูงสุดต่อหน่วยของสินค้า หรือบริการควบคุมที่ผู้จำหน่ายจะได้รับจากการจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุม หรือกำหนดอัตราส่วนแตกต่างระหว่างราคาซื้อกับราคาขายสินค้าหรือบริการควบคุมในแต่ละช่วงการค้า และกำหนดหลักเกณฑ์ มาตรการ และเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการผลิต การนำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การซื้อ การจำหน่ายหรือการเก็บรักษาสินค้าหรือบริการควบคุม ๔๒

(๒) ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการใด ๆ โดยจงใจที่จะทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควรหรือทำให้เกิดความปั่นป่วน ซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด และคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ อาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการที่ถือว่าเป็นการทำให้ราคาต่ำเกินสมควร หรือสูงเกินสมควรหรือทำให้ปั่นป่วน ซึ่งราคาของสินค้าหรือบริการใด หลักเกณฑ์ และวิธีการดังกล่าวให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ๔๓

(๓) ห้ามมิให้บุคคลใดกักตุนสินค้าควบคุม โดยมีสินค้าควบคุมไว้ในครอบครองเกินปริมาณที่กำหนดไว้ในประกาศของคณะกรรมการ กล่าวคือ การกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการกักตุนสินค้าควบคุมหรือการครอบครองสินค้าควบคุมเกินปริมาณที่กำหนดหรือเก็บสินค้าควบคุมไว้ ณ สถานที่อื่นนอกจากสถานที่เก็บตามที่ได้แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ กล่าวคือ กำหนดให้แจ้งปริมาณ สถานที่เก็บ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย แผนการผลิตแผนการนำเข้ามาในราชอาณาจักร แผนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แผนการซื้อ แผนการจำหน่ายแผนการเปลี่ยนแปลงราคาหรือรายการอื่นใดหรือส่วนลดในการจำหน่าย กระบวนการผลิต และวิธีการจำหน่ายสินค้าหรือบริการควบคุมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือไม่นำสินค้าควบคุมที่มีไว้เพื่อจำหน่ายออกจำหน่ายหรือเสนอขายตามปกติ หรือปฏิเสธการจำหน่าย หรือประวิงการจำหน่ายหรือการส่งมอบสินค้าควบคุมโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ๔๔

และเนื่องจากปุ๋ยเคมีเป็นสินค้าควบคุมจึงได้มีการกำหนดมาตรการให้ผู้ว่าจ้างผลิต หรือผู้นำเข้าแจ้งราคาและรายละเอียดสินค้า ส่วนลด และห้ามจำหน่ายแตกต่างจากที่แจ้งไว้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตและกำหนดให้ผู้จำหน่ายปลีกปิดป้ายแสดงราคาจำหน่ายปลีก ทั้งนี้ ในส่วนของการดูแลที่ต้นทาง (ณ โรงงาน)ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาราคาปุ๋ยเคมี เพื่อดูแลไม่ให้การปรับราคาขายส่ง ณ โรงงานสูงเกินภาวะต้นทุนที่สูงขึ้นและการพิจารณาให้ปรับราคาจะคำนึงถึงความสมเหตุสมผล ให้ปรับราคาตามความจำเป็นมีความเป็นธรรมและเพื่อป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้าปุ๋ย หากมีการฝ่าฝืนจะดำเนินการตามกฎหมาย โดยการจัดตั้งศูนย์รับเรื่องร้องเรียนราคาสินค้า สายด่วน ๑๕๖๙ สร้างเครือข่ายภาคประชาชนอาสาธงฟ้า ๑๕๖๙ พร้อมทั้งจัดเตรียมหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เร็ว (Mobile Unit)ออกไปตรวจสอบได้ทันทีที่เกิดปัญหา


(๒.๓) มาตรการควบคุมฉลากปุ๋ย

สำหรับปุ๋ยที่ผลิตเพื่อการค้าหรือมีไว้เพื่อขาย คือ มีการกำหนดให้ปุ๋ยเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีการควบคุมต้องมีฉลาก มีเอกสารกำกับปุ๋ย และระบุขนาดบรรจุ และปริมาณธาตุอาหารรับรอง มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

(๑) ผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ๔๕ จะต้องจัดให้มีฉลากภาษาไทยที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมีที่ผลิตขึ้นรับรองความถูกต้องของข้อความในฉลาก และข้อความในฉลากต้องแสดงชื่อทางการค้าและมีคำว่า ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยเคมีมาตรฐาน หรือปุ๋ยอินทรีย์เคมี แล้วแต่กรณี เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายอื่นใดซึ่งแสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยเคมี ปริมาณธาตุอาหารรับรอง น้ำหนักสุทธิหรือขนาดบรรจุของปุ๋ยเคมีตามระบบเมตริก ชื่อผู้ผลิต และที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ผลิตปุ๋ยเคมีเพื่อการค้า ชื่อทางเคมีและปริมาณของสารเป็นพิษที่อยู่ในปุ๋ยเคมีและข้อความอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดให้มีในฉลาก

(๒) ผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อการค้า ๔๖ จะต้องจัดให้มีฉลากภาษาไทยที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตขึ้นรับรองความถูกต้องของข้อความในฉลาก และข้อความในฉลากต้องแสดงชื่อทางการค้า และมีคำว่า ปุ๋ยชีวภาพ เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายอื่นใดซึ่งแสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยชีวภาพ ปริมาณจุลินทรีย์รับรอง วิธีการเก็บรักษา น้ำหนักสุทธิหรือขนาดบรรจุของปุ๋ยชีวภาพตามระบบเมตริก วัสดุรองรับของปุ๋ยชีวภาพ ชื่อผู้ผลิต และที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อการค้า วันที่ผลิตและวันสิ้นอายุของปุ๋ยชีวภาพ และข้อความอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดให้มีในฉลาก

(๓) ผู้รับใบอนุญาตผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้า ๔๗ จะต้องจัดให้มีฉลากภาษาไทยที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นรับรองความถูกต้องของข้อความในฉลาก และในฉลากต้องแสดงชื่อทางการค้าและมีคำว่า ปุ๋ยอินทรีย์ เครื่องหมายการค้า หรือเครื่องหมายอื่นใดซึ่งแสดงที่ภาชนะหรือหีบห่อบรรจุปุ๋ยอินทรีย์ปริมาณอินทรียวัตถุรับรอง น้ำหนักสุทธิหรือขนาดบรรจุของปุ๋ยอินทรีย์ตามระบบเมตริก ชื่อผู้ผลิต และที่ตั้งสำนักงานและสถานที่ผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อการค้า และข้อความอื่นที่รัฐมนตรีกำหนดให้มีในฉลาก

(๔) กำหนดให้ผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่ายซึ่งปุ๋ยเคมี แจ้งชื่อ ชื่อทางการค้าปริมาณธาตุอาหารรับรองหรือสูตร ปริมาณการนำเข้า ราคาซื้อ (ราคานำเข้า) ทุกครั้งที่มีการนำเข้ามาในราชอาณาจักรภายในสามสิบวันตั้งแต่วันที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร ๔๘

(๕) กำหนดให้ผู้นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อจำหน่าย ซึ่งปุ๋ยเคมี แจ้งชื่อ ชื่อทางการค้าปริมาณธาตุอาหารรับรองหรือสูตร ต้นทุน ราคาจำหน่าย มาตรฐาน ขนาด ปริมาณ น้ำหนักต่อหน่วยของปุ๋ยเคมีที่เป็นอยู่ในวันที่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๓๕ พ.ศ. ๒๕๖๔เรื่อง การแจ้งราคา ปริมาณ สถานที่เก็บ และรายละเอียดเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีนี้ใช้บังคับ โดยให้แจ้งภายในสามสิบวันหรือกรณีที่มีการผลิตหรือนำเข้าปุ๋ยเคมีสูตรใหม่เพื่อจำหน่ายภายหลังวันที่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๓๕ พ.ศ. ๒๕๖๔ เรื่อง การแจ้งราคา ปริมาณ สถานที่เก็บ และรายละเอียดเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี แจ้งข้อมูลดังกล่าวล่วงหน้าเป็นเวลาไม่น้อยกว่าสิบห้าวันก่อนนำสินค้าออกจำหน่าย ๔๙


(๒.๔) มาตรการควบคุมการโฆษณาปุ๋ย

ห้ามโฆษณาขายปุ๋ย ๕๐ ในลักษณะดังต่อไปนี้

(๑) ไม่แสดงสรรพคุณปุ๋ยเป็นเท็จหรือเกินความจริง

(๒) ไม่ทำให้เข้าใจว่ามีวัตถุใดเป็นตัวปุ๋ยหรือเป็นส่วนประกอบของปุ๋ย ซึ่งความจริงไม่มีวัตถุหรือส่วนประกอบนั้นในปุ๋ย หรือมีแต่ไม่เท่าที่ทำให้เข้าใจ

(๓) ไม่มีการรับรองหรือยกย่องสรรพคุณปุ๋ยโดยบุคคลอื่นหากผู้ใดโฆษณาขายปุ๋ยโดยฝ่าฝืน ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ๕๑



 


พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๐ ประกอบประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการขอต่ออายุและการอนุญาตให้ต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ย การขอรับและการออกใบแทนใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๕๙

พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๒

๑๐ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๓

๑๑ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๔

๑๒ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๓

๑๓ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๖

๑๔ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๗

๑๕ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๑

๑๖ ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการครอบครองและขายปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพ พ.ศ. ๒๕๕๗ ข้อ ๓

๑๗ ประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการครอบครองและขายปุ๋ยเคมีเสื่อมคุณภาพพ.ศ. ๒๕๕๗ ข้อ ๕

๑๘ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๐ (๔)

๑๙ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๙ วรรคหนึ่ง

๒๐ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๙ วรรคสอง

๒๑ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๙ วรรคสาม

๒๒ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๙ วรรคสี่

๒๓ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๐ (๔)

๒๔ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗๐ วรรคหนึ่ง

๒๕ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗๐ วรรคสอง

๒๖ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗๐ วรรคสาม

๒๗ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗๐ วรรคสี่

๒๘ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๐ (๕)

๒๙ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗๑ วรรคหนึ่ง

๓๐ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗๑ วรรคสอง

๓๑ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๐ (๕)

๓๒ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง

๓๓ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗๒ วรรคสอง

๓๔ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๐ (๖)

๓๕ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๓๐ (๗)

๓๖ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๕ วรรคหนึ่ง

๓๗ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๕ วรรคสอง

๓๘ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๖

๓๙ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๖๗

๔๐ สืบค้น กรมการค้าภายใน www.dit.go.th

๔๑ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๘ วรรคหนึ่ง

๔๒ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๘ วรรคสอง

๔๓ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๒๙

๔๔ พระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๓๐

๔๕ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๑ (๔)

๔๖ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๑/๑ (๔)

๔๗ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๒๑/๒ (๔)

๔๘ ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๓๖ พ.ศ. ๒๕๖๔ เรื่อง การแจ้งปริมาณ ราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร

๔๙ ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ ๓๕ พ.ศ. ๒๕๖๔ เรื่อง การแจ้งราคา ปริมาณสถานที่เก็บ และรายละเอียดเกี่ยวกับปุ๋ยเคมี

๕๐ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๔๓

๕๑ พระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. ๒๕๑๘ มาตรา ๗๒/๑



******************************



(๓) มาตรการควบคุมวัตถุอันตรายทางการเกษตร ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕

เนื่องจากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้มีการนำเข้าวัตถุอันตรายมาใช้ในกิจการหลายประเภทและวัตถุอันตรายบางชนิดอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ และสิ่งแวดล้อมได้แม้ว่าจะมีกฎหมายของหน่วยงานต่าง ๆ ออกใช้ควบคุมอยู่บ้างก็ตาม แต่ก็ไม่ครอบคลุมเพียงพอ จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการควบคุมวัตถุอันตรายให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ตามพระราชบัญญัตินี้โดยมีหน่วยงานที่ควบคุม คือ กระทรวงอุตสาหกรรม เป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเป็นหลัก ซึ่งมาตรการควบคุมวัตถุอันตราย มีดังต่อไปนี้


(๓.๑) มาตรการควบคุมการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตราย

ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ ๑ วัตถุอันตรายชนิดที่ ๒ หรือวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ มีดังต่อไปนี้ ๕๑

(๑) วัตถุอันตรายปลอม ๕๓คือ สิ่งที่ทำเทียมวัตถุอันตรายแท้ทั้งหมดหรือแต่บางส่วน วัตถุอันตรายที่แสดงชื่อว่าเป็นวัตถุอันตรายอื่น หรือแสดงกำหนดเวลาที่วัตถุอันตรายหมดอายุการใช้เกินความเป็นจริงวัตถุอันตรายที่แสดงชื่อหรือเครื่องหมายของผู้ผลิตหรือที่ตั้งของสถานที่ผลิตซึ่งไม่ใช่ความจริง วัตถุอันตรายที่แสดงว่าเป็นวัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนไว้ซึ่งมิใช่ความจริง หากผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายปลอม หรือวัตถุอันตรายที่ถูกสั่งเพิกถอนทะเบียน สำหรับกรณีเพิกถอนทะเบียนเพราะอาจเกิดอันตรายโดยไม่มีวิธีปกติตามควรที่จะป้องกันได้ ถ้าเป็นการกระทำเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ผู้กระทำต้องรับโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินเจ็ดแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทของผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งวัตถุอันตรายดังกล่าว ผู้กระทำต้องรับโทษปรับไม่เกินห้าแสนบาท ๕๔

(๒) วัตถุอันตรายผิดมาตรฐาน ๕๕ คือ วัตถุอันตรายที่ผลิตขึ้นโดยมีสาระสำคัญน้อย หรือมากกว่าเกณฑ์ค่าคลาดเคลื่อนตามมาตรา ๒๐ (๓) แต่ไม่ถึงระดับที่กำหนดตามมาตรา ๔๗ (๕) และวัตถุอันตรายที่ผลิตขึ้นโดยมีความบริสุทธิ์ สิ่งเจือปน หรือลักษณะอื่นที่มีความสำคัญต่อคุณสมบัติของวัตถุอันตรายผิดไปจากเกณฑ์ที่กำหนดหรือที่ขึ้นทะเบียนไว้ หากผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออกวัตถุอันตรายผิดมาตรฐาน หรือวัตถุอันตรายที่ถูกสั่งเพิกถอนทะเบียนสำหรับกรณีเพิกถอนทะเบียนเพราะไม่มีประโยชน์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ ถ้าเป็นการกระทำเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ผู้กระทำต้องรับโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาทของผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายผู้กระทำต้องรับโทษปรับไม่เกินสี่แสนบาท ๕๖

(๓) วัตถุอันตรายเสื่อมคุณภาพ ๕๗ คือ วัตถุอันตรายที่หมดอายุการใช้ตามที่แสดงไว้ในฉลากและวัตถุอันตรายที่แปรสภาพจนมีลักษณะเช่นเดียวกับวัตถุอันตรายปลอมตามมาตรา ๔๗ (๕) หรือวัตถุอันตรายผิดมาตรฐาน หากผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออกวัตถุอันตรายเสื่อมคุณภาพ ถ้าเป็นการกระทำเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ต้องรับโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวเป็นการกระทำโดยประมาท ผู้กระทำต้องรับโทษปรับไม่เกินแปดหมื่นบาท ๕๘

(๔) วัตถุอันตรายที่ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ต่อมาปรากฏว่าไม่มีประโยชน์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้หรือหากนำมาใช้แล้วอาจเกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม ๕๙ คือ วัตถุอันตรายใดที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้ว ต่อมาปรากฏว่าไม่มีประโยชน์ตามที่ขึ้นทะเบียนไว้ หรือหากนำมาใช้แล้วอาจเกิดอันตรายแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อมโดยไม่มีวิธีปกติตามควรที่จะป้องกันได้ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยคำแนะนำของคณะกรรมการมีอำนาจเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตรายนั้นได้ และเมื่อมีการเพิกถอนทะเบียนวัตถุอันตรายใดแล้ว สิทธิในการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายนั้นเป็นอันระงับไปห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายชนิดที่ ๑ วัตถุอันตรายชนิดที่ ๒หรือวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียนแต่มิได้ขึ้นทะเบียนไว้ ๖๐ หากผู้ใดผลิต นำเข้าส่งออก ถ้าเป็นการกระทำเกี่ยวกับวัตถุอันตรายชนิดที่ ๓ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ๖๑

(๕) วัตถุอันตรายที่ถูกสั่งเพิกถอนทะเบียน ๖๒ คือ เจ้าของวัตถุอันตรายที่ถูกเพิกถอนทะเบียนต้องจัดการทำลายหรือดำเนินการกับวัตถุอันตรายของตนตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่มีคำสั่งภายในระยะเวลาที่พนักงานเจ้าหน้าที่กำหนด โดยมีรายละเอียด ดังนี้

(๕.๑) เมื่อกรณีปรากฏว่าผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ผู้นำผ่าน ผู้นำกลับเข้ามา ผู้ส่งกลับออกไปหรือผู้มีไว้ในครอบครองซึ่งวัตถุอันตรายดังกล่าวไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ไม่ว่าเพราะไม่มีความสามารถหรือเพราะเหตุอื่นใด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้บุคคลดังกล่าวส่งมอบวัตถุอันตรายนั้นแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ณ สถานที่ที่กำหนด เพื่อทำลายหรือจัดการตามควรแก่กรณี โดยคำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากวัตถุอันตรายดังกล่าวด้วย ๖๓

(๕.๒) กรณีที่วัตถุอันตรายนั้นอาจจำหน่ายได้ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการขายทอดตลาดหรือขายให้แก่หน่วยงานของรัฐภายในสามเดือนนับแต่วันได้รับมอบเงินที่ขายได้ เมื่อหักค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาการจำหน่าย และค่าภาระที่เกี่ยวข้องแล้วให้เก็บไว้เพื่อคืนแก่เจ้าของ แต่ถ้าพ้นกำหนดสามเดือนดังกล่าวแล้วยังจำหน่ายไม่ได้หากพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าการผ่อนเวลาต่อไปจะเป็นอันตรายหรือภาระเกินควรก็ให้มีอำนาจสั่งให้ทำลายหรือจัดการตามควรแก่กรณี ๖๔

(๕.๓) ในกรณีที่ต้องทำลายหรือจัดการตามควรแก่กรณีหากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นให้เจ้าของวัตถุอันตรายมีหน้าที่จ่ายหรือชดใช้เงินจำนวนนั้นแก่ทางราชการ ๖๕


(๓.๒) มาตรการควบคุมการโฆษณาวัตถุอันตราย

โฆษณา ๖๖ หมายความว่า การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ให้ประชาชนเห็น หรือได้ยิน หรือทราบข้อความ และให้หมายความรวมถึงการให้ข้อมูล การชักนำ หรือการกระทำ โดยวิธีใด ๆ โดยมุ่งหมายให้มีการใช้วัตถุอันตรายเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางการค้า

การโฆษณาวัตถุอันตรายจะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้อื่นหรือใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ทั้งนี้ ไม่ว่าข้อความดังกล่าวนั้นจะเป็นข้อความที่เกี่ยวกับแหล่งกำเนิดสภาพคุณภาพ ลักษณะของวัตถุอันตราย หรือการใช้วัตถุอันตราย

ข้อความดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้อื่นหรือเป็นข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียต่อสังคมเป็นส่วนรวม ๖๗

(๑) ข้อความที่เป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริง

(๒) ข้อความที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับวัตถุอันตราย ไม่ว่าจะกระทำโดยใช้หรืออ้างอิงรายงานทางวิชาการ สถิติ หรือสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันไม่เป็นความจริงหรือเกินความจริงหรือไม่ก็ตาม

(๓) ข้อความอย่างอื่นตามที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบประกาศกำหนดโดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและนอกจากนี้การโฆษณาวัตถุอันตรายยังมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้

- การโฆษณาจะต้องไม่กระทำด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพร่างกายหรือจิตใจหรือขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น ๖๘

- กรณีที่มีเหตุจำเป็นเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์หรือสิ่งแวดล้อมจากการโฆษณาวัตถุอันตรายใด หน่วยงานผู้รับผิดชอบโดยความเห็นของคณะกรรมการมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษากำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขสำหรับวัตถุอันตรายนั้นในเรื่องดังต่อไปนี้ ๖๙

(๑) การโฆษณาวัตถุอันตรายที่ต้องกระทำไปพร้อมกับคำแนะนำหรือคำเตือนเกี่ยวกับวิธีใช้หรืออันตราย

(๒) จำกัดการใช้สื่อโฆษณาสำหรับวัตถุอันตราย

(๓) ห้ามการโฆษณาวัตถุอันตราย

- ในกรณีที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบเห็นว่าการโฆษณาใดฝ่าฝืนมาตรา ๕๑ มาตรา ๕๑/๑หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๕๑/๒ ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้าผู้มีไว้ในครอบครอง หรือผู้ทำการโฆษณาซึ่งวัตถุอันตรายดำเนินการ ดังต่อไปนี้ ๗๐

(๑) ให้แก้ไขข้อความหรือวิธีการในการโฆษณา

(๒) ห้ามการใช้ข้อความบางอย่างที่ปรากฏในการโฆษณา

(๓) ระงับการโฆษณาหรือห้ามใช้วิธีการนั้นในการโฆษณา

(๔) ให้โฆษณาเพื่อแก้ไขความเข้าใจผิดของผู้อื่นที่อาจเกิดขึ้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนด

ในการออกคำสั่งตาม (๔) ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายกำหนด โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้บริโภคประกอบกับความสุจริตในการกระทำของผู้ผลิตผู้นำเข้า ผู้มีไว้ในครอบครอง หรือผู้ทำการโฆษณาซึ่งวัตถุอันตราย

- กรณีหน่วยงานผู้รับผิดชอบมีเหตุอันควรสงสัยว่า ข้อความใดที่ใช้ในการโฆษณาเป็นเท็จหรือโอ้อวดเกินความจริงตามมาตรา ๕๑ วรรคสอง (๑) ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจออกคำสั่งให้ผู้ผลิตผู้นำเข้า ผู้มีไว้ในครอบครอง หรือผู้ทำการโฆษณาซึ่งวัตถุอันตรายพิสูจน์เพื่อแสดงความจริงได้

กรณีที่ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้มีไว้ในครอบครอง หรือผู้ทำการโฆษณาซึ่งวัตถุอันตรายอ้างรายงานทางวิชาการ ผลการวิจัย สถิติ การรับรองของสถาบันหรือบุคคลอื่นใด หรือยืนยันข้อเท็จจริงอันใดอันหนึ่งในการโฆษณา ถ้าผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้มีไว้ในครอบครอง หรือผู้ทำการโฆษณาซึ่งวัตถุอันตรายไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่ใช้ในการโฆษณาเป็นความจริงตามที่กล่าวอ้าง ให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบมีอำนาจออกคำสั่งตามมาตรา ๕๑/๓ ได้ ๗๑

- ผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้มีไว้ในครอบครอง หรือผู้ทำการโฆษณาซึ่งวัตถุอันตรายผู้ใดสงสัยว่าการโฆษณาของตนจะเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕อาจขอให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบพิจารณาให้ความเห็นในเรื่องนั้นก่อนทำการโฆษณาได้ ทั้งนี้ หน่วยงานผู้รับผิดชอบจะต้องให้ความเห็นและแจ้งให้ผู้ขอทราบภายในหกสิบวันนับแต่วันที่หน่วยงานผู้รับผิดชอบได้รับคำขอซึ่งการขอความเห็นและค่าป่วยการในการให้ความเห็นเป็นไปตามกรณีข้างต้น โดยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบประกาศกำหนด โดยความเห็นของคณะกรรมการ ค่าป่วยการที่ได้รับให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดินรวมถึงการให้ความเห็นของหน่วยงานผู้รับผิดชอบดังกล่าว ไม่ถือว่าเป็นการตัดอำนาจของหน่วยงานผู้รับผิดชอบที่จะพิจารณาวินิจฉัยใหม่เป็นอย่างอื่นเมื่อมีเหตุอันสมควร และการใดที่ได้กระทำไปตามความเห็นของหน่วยงานผู้รับผิดชอบกรณีข้างต้น ถ้าได้กระทำโดยสุจริตมิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดทางอาญา ๗๒


(๓.๓) มาตรการควบคุมฉลากวัตถุอันตราย

ฉลาก ๗๓ หมายความว่า รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ซึ่งแสดงไว้ที่วัตถุอันตรายหรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุ หรือสอดแทรก หรือรวมไว้กับวัตถุอันตราย หรือภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุและหมายความรวมถึงเอกสาร หรือคู่มือประกอบการใช้วัตถุอันตรายด้วย

ฉลากวัตถุอันตรายชนิดใดที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบโดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตรายมีอำนาจประกาศในราชกิจจานุเบกษา กำหนดปริมาณ องค์ประกอบ คุณสมบัติและสิ่งเจือปนภาชนะบรรจุ วิธีตรวจและทดสอบภาชนะ ฉลาก การผลิต การนำเข้า การส่งออก ด่านศุลกากรที่นำเข้า ส่งออกหรือนำผ่าน การขาย การขนส่ง การเก็บรักษา การกำจัด การทำลาย การปฏิบัติกับภาชนะของวัตถุอันตรายการให้แจ้งข้อเท็จจริง การให้ส่งตัวอย่าง หรือการอื่นใดเกี่ยวกับวัตถุอันตรายเพื่อควบคุม ป้องกัน บรรเทา หรือระงับอันตราย ที่จะเกิดแก่บุคคล สัตว์ พืช ทรัพย์ หรือสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงสนธิสัญญาและข้อผูกพันระหว่างประเทศประกอบด้วย ๗๔ ซึ่งตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ และมาตรา ๒๐ (๑) แห่งพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย (ฉบับที่ ๓) พ.ศ. ๒๕๕๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นของคณะกรรมการวัตถุอันตรายออกประกาศไว้ดังต่อไปนี้ ๗๕

(๑) วัตถุอันตรายที่นำเข้ามาในหรือส่งออกไปนอกราชอาณาจักรจะต้องแสดงฉลากภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษไว้ที่หีบห่อบรรจุหรือภาชนะบรรจุ และฉลากดังกล่าวจะต้องมีเครื่องหมายและข้อความดังต่อไปนี้

(๑.๑) ชื่อสารสำคัญที่เป็นวัตถุอันตรายให้ระบุเป็นชื่อสามัญ หรือชื่อทางเคมีตามระบบไอยูแพ็ค (IUPAC ; The International Union of Pure and Applied Chemistry) หรือชื่อทางเคมีในระบบอื่น ๆ ที่เป็นที่ยอมรับ หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์

(๑.๒) อัตราส่วนของสารสำคัญที่เป็นวัตถุอันตราย

(๑.๓) ชื่อทางการค้า (ถ้ามี)

(๑.๔) รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (hazard pictograms) คำสัญญาณ (signal words)และข้อความแสดงความเป็นอันตราย (hazard statements) ตามระบบสากลการจำแนกประเภทความเป็นอันตรายและการติดฉลากสารเคมีที่เป็นระบบเดียวกันทั่วโลก (Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals ; GHS) หรือตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ

(๑.๕) หมายเลขสหประชาชาติ (UN number ; United Nations number) ชื่อที่ถูกต้องในการขนส่งของสหประชาชาติ (UN proper shipping name ; United Nations proper shipping name)และสัญลักษณ์ตาม UN hazard class (United Nations hazard class) (ถ้ามี)

(๒) วัตถุอันตรายที่ผลิต ขาย หรือมีไว้ในครอบครองในประเทศจะต้องแสดงฉลากไว้ที่ภาชนะบรรจุหรือหีบห่อบรรจุวัตถุอันตรายทุกชิ้น และฉลากดังกล่าวจะต้องมีเครื่องหมายและข้อความ ดังต่อไปนี้ ๗๖

(๒.๑) ชื่อสารสำคัญที่เป็นวัตถุอันตรายให้ระบุเป็นชื่อสามัญ หรือชื่อทางเคมีตามระบบไอยูแพ็ค(IUPAC ; The International Union of Pure and Applied Chemistry) หรือชื่อทางเคมีในระบบอื่น ๆที่เป็นที่ยอมรับ หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์

(๒.๒) อัตราส่วนของสารสำคัญที่เป็นวัตถุอันตราย

(๒.๓) ชื่อทางการค้า (ถ้ามี)

(๒.๔) ประโยชน์

(๒.๕) วิธีใช้

(๒.๖) คำเตือน หรือข้อควรระวัง (ใช้อักษรทึบหรือขีดเส้นใต้)

(๒.๗) วิธีเก็บรักษา

(๒.๘) อาการเกิดพิษ (ถ้ามี)

(๒.๙) วิธีแก้พิษเบื้องต้น (ถ้ามี)

(๒.๑๐) คำแนะนำสำหรับแพทย์ (ถ้ามี)

(๒.๑๑) วันหมดอายุการใช้ (ถ้ามี)

(๒.๑๒) การทำลายภาชนะบรรจุ (ถ้ามี)

(๒.๑๓) เลขทะเบียนวัตถุอันตราย (กรณีที่เป็นวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียน) หรือเลขที่รับแจ้ง (กรณีที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๑)

(๒.๑๔) ขนาดบรรจุ ให้แสดงหน่วยน้ำหนักหรือปริมาตรในระบบเมตริก กรณีของแข็งให้ใช้หน่วยน้ำหนักกรณีของเหลวให้ใช้หน่วยปริมาตรหรือหน่วยน้ำหนัก

(๒.๑๕) ชื่อ ที่ตั้ง และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ผลิตในประเทศ (กรณีผลิต) หรือชื่อ ที่ตั้งและหมายเลขโทรศัพท์ของผู้นำเข้า พร้อมชื่อผู้ผลิตในต่างประเทศและประเทศผู้ผลิต (กรณีนำเข้า)

(๒.๑๖) ชื่อ ที่ตั้ง และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ค้าส่งหรือผู้จัดจำหน่าย (ถ้ามี)

(๒.๑๗) วัน เดือน ปี ที่ผลิต

(๒.๑๘) เลขหรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต

(๒.๑๙) รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (hazard pictograms) คำสัญญาณ(signal words)และข้อความแสดงความเป็นอันตราย (hazard statements) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบและนอกจากนี้ข้อความบนฉลากดังกล่าว ต้องมีลักษณะดังนี้ ๗๗

(๑) ข้อความในชื่อสารสำคัญที่เป็นวัตถุอันตรายให้ระบุเป็นชื่อสามัญ หรือชื่อทางเคมีตามระบบไอยูแพ็ค (IUPAC ; The International Union of Pure and Applied Chemistry) หรือชื่อทางเคมีในระบบอื่น ๆ ที่เป็นที่ยอมรับ หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ ต้องเป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

(๒) ข้อความในอัตราส่วนของสารสำคัญที่เป็นวัตถุอันตรายต้องเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ

(๓) ข้อความที่เป็นชื่อทางการค้า (ถ้ามี) ประโยชน์ วิธีใช้ คำเตือน หรือข้อควรระวัง (ใช้อักษรทึบหรือขีดเส้นใต้) วิธีเก็บรักษา อาการเกิดพิษ (ถ้ามี) วิธีแก้พิษเบื้องต้น (ถ้ามี) คำแนะนำสำหรับแพทย์ (ถ้ามี)วันหมดอายุการใช้ (ถ้ามี) การทำลายภาชนะบรรจุ (ถ้ามี) เลขทะเบียนวัตถุอันตราย (กรณีที่เป็นวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียน) หรือเลขที่รับแจ้ง (กรณีที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๑) ขนาดบรรจุ ให้แสดงหน่วยน้ำหนักหรือปริมาตรในระบบเมตริก กรณีของแข็งให้ใช้หน่วยน้ำหนักกรณีของเหลวให้ใช้หน่วยปริมาตรหรือหน่วยน้ำหนัก ชื่อ ที่ตั้ง และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ผลิตในประเทศ (กรณีผลิต) หรือชื่อ ที่ตั้ง และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้นำเข้า พร้อมชื่อผู้ผลิตในต่างประเทศและประเทศผู้ผลิต (กรณีนำเข้า) ชื่อ ที่ตั้ง และหมายเลขโทรศัพท์ของผู้ค้าส่งหรือผู้จัดจำหน่าย (ถ้ามี) วัน เดือน ปี ที่ผลิต เลขหรืออักษรแสดงครั้งที่ผลิต รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (hazard pictograms) คำสัญญาณ (signal words) และข้อความแสดงความเป็นอันตราย(hazard statements) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๕๘ ต้องเป็นภาษาไทย

(๔) การแสดงเลขทะเบียนวัตถุอันตราย ในเลขทะเบียนวัตถุอันตราย (กรณีที่เป็นวัตถุอันตรายที่ต้องขึ้นทะเบียน) หรือเลขที่รับแจ้ง (กรณีที่เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ ๑) ให้มีรายละเอียดของข้อความและเครื่องหมายตามรายละเอียดท้ายประกาศนี้

(๕) รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย คำสัญญาณ และข้อความแสดงความเป็นอันตรายในรูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (hazard pictograms) คำสัญญาณ (signal words) และข้อความแสดงความเป็นอันตราย (hazard statements) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๕๘ ต้องมีขนาดเหมาะสม เห็นได้ชัดเจน

(๖) ชื่อทางการค้าภาษาไทยจะต้องมีขนาดเหมาะสม เห็นได้ชัดเจนและหากมีชื่อทางการค้าภาษาต่างประเทศ จะต้องตรงกันหรือมีความหมายอย่างเดียวกันกับชื่อทางการค้าภาษาไทย

(๗) ข้อความที่เป็นสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภค ได้แก่ คำเตือนข้อควรระวัง และวิธีใช้ ถ้าจะมีภาษาอื่นด้วย จะต้องมีความหมายตรงกันกับความในภาษาไทย

(๘) รูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย คำสัญญาณ และข้อความแสดงความเป็นอันตรายในรูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (hazard pictograms) คำสัญญาณ (signal words) และข้อความแสดงความเป็นอันตราย (hazard statements) ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๕๘ ต้องมีขนาดเหมาะสม เห็นได้ชัดเจน และประโยชน์ วิธีใช้ วิธีเก็บรักษา อาการเกิดพิษ (ถ้ามี) วิธีแก้พิษเบื้องต้น (ถ้ามี) คำแนะนำสำหรับแพทย์ (ถ้ามี) อาจอยู่ในฉลากหีบห่อบรรจุหรือใบแทรกได้

กรณีที่ภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายมีขนาดเล็กมากจนไม่อาจแสดงข้อความได้ทั้งหมด ฉลากที่จะปิดบนภาชนะดังกล่าวอย่างน้อยจะต้องแสดงข้อความในชื่อสารสำคัญที่เป็นวัตถุอันตรายให้ระบุเป็นชื่อสามัญหรือชื่อทางเคมีตามระบบไอยูแพ็ค (IUPAC ; The International Union of Pure and Applied Chemistry)หรือชื่อทางเคมีในระบบอื่น ๆ ที่เป็นที่ยอมรับ หรือชื่อทางวิทยาศาสตร์ อัตราส่วนของสารสำคัญที่เป็นวัตถุอันตราย ชื่อทางการค้า (ถ้ามี) และรูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย (hazard pictograms) ส่วนข้อความอื่น ๆให้แสดงในฉลากหีบห่อบรรจุหรือใบแทรกได้

(๙) ขนาดของตัวอักษรต้องไม่น้อยกว่า ๑ มิลลิเมตร และอ่านได้ชัดเจน

(๑๐) การแสดงข้อความบนฉลากของวัตถุอันตราย ต้องไม่เป็นเท็จหรือเกินความจริง หรือในทำนองโอ้อวดสรรพคุณ หรือทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ

ทั้งนี้ ในระหว่างที่ให้ระยะเวลาดำเนินการจำแนกประเภทความเป็นอันตราย ติดฉลากและจัดทำเอกสารข้อมูลความปลอดภัยให้แล้วเสร็จสำหรับผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าซึ่งวัตถุอันตรายที่เป็นสารเดี่ยวและสารผสมตามข้อ ๒ วรรคสอง แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบบการจำแนกและการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๕๘ ให้ความในข้อ ๕ ข้อ ๖และข้อ ๗ แห่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ฉลากและระดับความเป็นพิษของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยามีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๓๘ ยังคงมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดระยะเวลาให้ดำเนินการดังกล่าว ๗๘

หมายเหตุ

ฉลากวัตถุอันตรายทางการเกษตรที่ต้องควบคุมอย่างเข้มงวด คือ ไกลโฟเซต ๗๙คลอร์ไพริฟอส ๘๐ พาราควอต ๘๑ เนื่องจากเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ ๔ ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรกรผู้บริโภคในระยะยาวเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็ง และส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม



 


๕๒ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔๕ ประกอบประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการผลิต การนำเข้า การส่งออก การมีไว้ในครอบครอง และกำหนดให้มีบุคลากรเฉพาะรับผิดชอบในการควบคุมการขาย ซึ่งวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับไกลโฟเซต คลอร์ไพริฟอส และพาราควอต

ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๖๒

๕๓ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔๗

๕๔ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๗๕

๕๕ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔๘

๕๖ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา มาตรา ๗๖

๕๗ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔๙

๕๘ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๗๗

๕๙ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔๐ ประกอบประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง กำหนดรายละเอียด หลักเกณฑ์ และวิธีการขึ้นทะเบียน การออกใบสำคัญและการต่ออายุใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายที่กรมวิชาการเกษตรเป็นผู้รับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๕๒ และฉบับที่ ๑๑ พ.ศ. ๒๕๖๑

๖๐ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔๕ (๔)

๖๑ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๗๘

๖๒ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔๑

๖๓ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๕๒ วรรคสอง

๖๔ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๕๒ วรรคสาม

๖๕ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๕๒ วรรคสี่

๖๖ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔

๖๘ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๕๑

๖๗ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๕๑/๑

๖๙ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๕๑/๒

๗๐ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๕๑/๓

๗๑ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๕๑/๔

๗๒ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๕๑/๕

๗๓ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๔

๗๔ พระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๒๐ (๑) ประกอบประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ฉลากของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๕๘

๗๕ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ฉลากของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๕๘ ข้อ ๓

๗๖ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ฉลากของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๕๘ ข้อ ๔

๗๗ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ฉลากของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบพ.ศ. ๒๕๕๘ ข้อ ๕

๗๘ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ฉลากของวัตถุอันตรายที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยารับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๕๘ ข้อ ๖

๗๙ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจำกัดการใช้ การกำหนดฉลากและภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับคลอไพริฟอส ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๖๒

๘๐ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจำกัดการใช้ การกำหนดฉลากและภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับคลอไพริฟอส ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๖๒

๘๑ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การจำกัดการใช้ การกำหนดฉลากและภาชนะบรรจุวัตถุอันตรายที่เกี่ยวกับพาราควอต ที่กรมวิชาการเกษตรรับผิดชอบ พ.ศ. ๒๕๖๒



******************************




( ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศ )