Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








สคบ. ตรวจสอบผู้ขายอัญมณี สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

05 มี.ค. 2567


วันที่ 5 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. ดร. พวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค  มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นำโดยรองเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (พันตำรวจเอกประทีป  เจริญกัลป์) เจ้าหน้าที่ สคบ. พร้อมด้วย กรมการค้าภายใน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องศ์การมหาชน) ลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายอัญมณีเจียระไน และเครื่องประดับอัญมณีเจียระไน ทั่วกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในการเลือกซื้ออัญมณีเจียระไน และเครื่องประดับอัญมณีเจียระไน และป้องกันการเอารัดเอาเปรียบ
พันตำรวจเอกประทีปฯ กล่าวว่า สินค้าประเภทอัญมณีได้รับความนิยมอย่างมาก แต่มีทั้งอัญมณีแท้ อัญมณีสังเคราะห์ และอัญมณีเลียนแบบ ซึ่งอาจมีการหลอกลวงหรือเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค โดยจำหน่ายสินค้าคุณภาพต่ำในราคาสูง หรือจัดทำฉลากไม่ถูกต้อง จากการตรวจสอบ 5 ร้านค้า ได้แก่ 

1) บริษัท แก้วมณี 2018 จำกัด 2) บริษัท แพน เฮาส์ อ๊อฟ จิวเวลรี่ จำกัด 3) บริษัท เจมส์ แกลอรี่ อินเตอร์เนชั่นแนล แมนูแฟคเจอเร่อ จำกัด 4) บริษัท ไพรม ดรากอน จิวเวลรี่ จำกัด 5) บริษัท เจม โปรดัคชั่น จำกัด จากการลงพื้นที่ตรวจสอบผู้ประกอบการทั้ง 5 ร้าน พบว่ายังมีการจัดทำฉลากไม่ถูกต้อง แต่ทุกร้านให้ความร่วมมือกับพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี

พันตำรวจเอกประทีปฯ ได้กำชับว่า ผู้ซื้อควรมีความรู้เกี่ยวกับอัญมณี เพื่อให้ได้สินค้าที่มีคุณภาพเหมาะสมกับราคา สำหรับผู้ประกอบธุรกิจต้องปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2544 เรื่อง ให้อัญมณีเจียระไน และเครื่องประดับอัญมณีเจียระไนเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยต้องระบุรายละเอียดบนฉลากสินค้า เช่น ชื่อและสถานที่ประกอบการ ชื่ออัญมณี น้ำหนัก ปริมาณ ความบริสุทธิ์ของทองรูปพรรณ และราคา กรณีที่ไม่ปฏิบัติตาม มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

หากผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ สามารถร้องเรียนผ่านแอปพลิเคชัน OCPB Connect ได้ตลอด 24 ชั่วโมง  หรือขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วน 1166  หรือ Chat bot พี่ปกป้อง



( กองเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ )