Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








สคบ. ควบคุมวัตถุสังเคราะห์แต่งกลิ่น "แมงดานา"

12 ม.ค. 2554

ลำดับที่ : 1271
   

หัวข้อข่าว :

สคบ. ควบคุมวัตถุสังเคราะห์แต่งกลิ่น "แมงดานา"  
 

รายละเอียด :


      นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ( สคบ.) กล่าวว่า สคบ.ได้รับร้องเรียนจากสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร กรณีการนำวัตถุแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์กลิ่นแมงดานา มาทำนำพริกแมงดา ซึ่งเมื่อรับประทานแล้วมีอาการปวดท้อง และเมื่อสัมผัสโดนผิวหนังเกิดอาการผื่นคัน รวมทั้งหยดลงบนกล่องโฟมแล้วสารเคมีจะทำปฏิกริยาละลายโฟมได้ จึงได้ให้ ศูนย์เฝ้าระวังและพิสูจน์สินค้าอันตราย สคบ.ร่วมกับ 8 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เครือข่ายนักวิชาการ เพื่อผู้บริโภค สมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจพิสูจน์ข้อเท็จจริง พบว่า วัตถุแต่งกลิ่น รส สังเคราะห์แมงดานาที่จำหน่ายในท้องตลาด เป็นสารเคมีสังเคราะห์ขึ้น เพื่อให้เกิด กลิ่น รส ตามต้องการ

      รมต.สำนักนายกฯ กล่าวว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายตามท้องตลาด มักแสดงฉลากไม่ครบถ้วน ผู้ประกอบการบางรายไม่ระบุส่วนประกอบ และปริมาณการใช้ที่ชัดเจน ซึ่งหากผู้บริโภคไม่อ่านฉลาก และไม่ทำความเข้าใจกับวิธีการใช้งานในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว จะทำให้ผู้บริโภคได้รับสารเคมีมากเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพได้ เช่น คลื่นไส้ เวียนศรีษะ ปวดท้อง ท้องร่วง เป็นต้น จากการสำรวจตลาดและการใช้งานวัตถุสังเคราะห์แต่ง กลิ่น รสชาติอาหาร พบว่า มีวางจำหน่ายอยู่ 3 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ 1 วัตถุแต่งกลิ่นรสธรรมชาติ เป็นการนำพืชหรือวัตถุจากธรรมชาติมาสกัด กลิ่น รส โดยวิธีทางกายภาพ เช่น ใบเตย อ้อย ฝักวนิลา ใบตะไคร้หอม มะนาว เป็นต้น ส่วนประเภทที่ 2 วัตถุแต่งกลิ่นรส เลียนธรรมชาติ เป็นการสกัด กลิ่น รส จากพืชหรือวัตถุจากธรรมชาติโดยวิธีทางเคมี ซึ่งผู้บริโภคสังเกตได้จากฉลากจะปรากฏคำว่า "สารแต่ง กลิ่นรส เลียนธรรมชาติ” เช่น กลิ่นวนิลา กลิ่นนมแมว กลิ่นแอลมอนด์ กลิ่นช้อคโกแลต เป็นต้น และประเภทที่ 3 วัตถุแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์ เป็นการนำสารเคมีมาผสมกันและสังเคราะห์ให้เกิด กลิ่น รส ตามที่ต้องการ เช่น กลิ่นแมงดานา กลิ่นสตอเบอรรี่ เป็นต้น

      รมต.สำนักนายกฯ กล่าวว่า สำหรับสินค้าควบคุมฉลากนั้นได้มอบหมายให้ คณะกรรมการว่าด้วยฉลาก มีอำนาจกำหนดให้สินค้านั้นเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก โดยจะเร่งรัดให้มีการออกประกาศให้เป็นสินค้าควบคุมฉลากภายใน 30 วัน หลังจากนั้นหากพบว่ามีการฝ่าฝืน ผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้าเพื่อจำหน่ายในราชอาณาจักร จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และกรณีที่เป็นผู้จำหน่ายสินค้าที่ควบคุมฉลากแต่ไม่จัดให้มีฉลากหรือมีฉลากที่ไม่ถูกต้อง มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        นายองอาจ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการควบคุมการใช้วัตถุแต่งกลิ่น รส สังเคราะห์นั้น จะกำหนดให้ผู้ผลิตนำเข้า หรือจำหน่าย ต้องจดแจ้งรายละเอียดให้ครบถ้วนต่อหน่วยงานที่รับผิดชอบได้แก่ ส่วนประกอบหลัก ผลการทดสอบความปลอดภัยและการรับรองด้านอาหาร ติดฉลากระบุส่วนประกอบ ปริมาณการใช้ที่เหมาะสม ระบุวันผลิตและหมดอายุ สถานที่ตั้งของผู้ผลิต นำเข้า รวมทั้งคำเตือนต่างๆ โดยใช้ตัวอักษรที่สามารถเห็นได้ชัดเจน และเข้าใจได้ง่าย ในขณะเดียวกัน ก็แนะนำให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ควรอ่านฉลากและใช้วัตถุแต่งกลิ่น รส ในปริมาณตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสุขภาพของผู้บริโภคเป็นสำคัญ ส่วนผู้บริโภคเอง ที่มักจะเข้าใจว่า น้ำพริกแมงดาที่ว่างจำหน่ายทั่วไป ทำมาจากตัวแมงดานา ก็ควรอ่านฉลาก วิธีการใช้ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการวัตถุแต่งกลิ่นรสอย่างครบถ้วนและเลือกใช้เท่าที่จำเป็นเท่านั้น หรืออาจหันมาใช้วัตถุแต่งกลิ่นรสจากธรรมชาติแทน สคบ.จะร่วมกับ อย.ตรวจสอบผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายวัตถุแต่งกลิ่นรสสังเคราะห์ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 223 ที่ว่าด้วยวัตถุแต่งกลิ่นรส ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 อย่างเคร่งครัด ผู้ใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท และเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินไปอย่างต่อเนื่อ และสคบ.จะสุ่มเก็บตัวอย่างสินค้าในท้องตลาด โดยเน้นสินค้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันของประชาชน เพื่อเฝ้าระวังและทดสอบพิสูจน์ความไม่ปลอดภัย

  

 

----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------