Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








ดื่มนมแพะไม่ฆ่าเชื้อระวัง “โรคบรูเซลโลสิส”

15 มิ.ย. 2549

            พบโรค "บรูเซลโลสิส” ในไทย เป็นแล้ว 2 ราย หลังจากหายไปกว่า 30 ปี ระบุเหตุมาจาก "ดื่มนมแพะสด” ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรือพาสเจอร์ไรซ์ กลายเป็นไข้เรื้อรังนานนับเดือน เหนื่อย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร อาจมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ควรรีบพบแพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยทันที มิฉะนั้นอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ย้ำนมแพะมีประโยชน์ แต่การรับประทานจะต้องทำให้สุกต้มนมอย่างน้อย 10 นาที
 
           นพ.กำธร มาลาธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลรามาธิบดี พร้อมด้วย นพ.พนาสนธิ์ ธรรมกุล อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลภูมิพล ร่วมแถลงเตือนประชาชนเรื่อง โรคบรูเซลโลสิส (Brucellosis) ซึ่งมีสาเหตุจากการดื่มนมแพะสด ๆ ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ นพ.กำธร กล่าวว่า มีผู้ป่วยโรคบรูเซลโลสิสทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน กลุ่มประเทศอาหรับ อินเดีย จีน เม็กซิโก อเมริกากลาง และอเมริกาใต้
 
           ส่วนในประเทศไทยมีการรายงานผู้ป่วยครั้งแรกในปีพ.ศ. 2513 เป็นผู้ป่วยชายจาก อำเภอแกลง จังหวัดระยอง โดยได้รับเชื้อจากการดื่มนมแพะ ซึ่งหลังจากนั้นมาไม่มีการรายงานตัวเลขผู้ป่วยในประเทศไทย จนกระทั่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบผู้ป่วยชาย 1 ราย อาศัยอยู่ใน กทม. ติดเชื้อจากการดื่มนมแพะที่นำมา จ.ราชบุรี และล่าสุดเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบผู้ป่วยชายอีก 1 ราย เป็นชาว จ.กาญจนบุรี ติดเชื้อดังกล่าวและมารักษาตัว
 
           โดยทั้ง 2 ราย มีอาการเหมือนกันคือเป็นไข้เรื้อรังนานนับเดือน ก่อนที่จะมารักษากับตนได้ไปตรวจรักษาที่ต่างๆ แล้วแต่อาการไข้ไม่หาย จากการสอบถามคนไข้ทราบว่าคนไข้ทั้ง 2 ราย ดื่มนมแพะที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้ออย่างถูกวิธี และไม่ผ่านการพลาสเจอร์ไรซ์ อย่างไรก็ตามการที่พบในผู้ชาย ไม่ได้หมายความว่าผู้ชายจะมีความเสี่ยงแต่ทุกเพศทุกวัยอาจติดเชื้อได้หากมีความเสี่ยง
 
            นพ.กำธร กล่าวต่อว่า เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกาย คนไข้จะมีอาการไข้ และมีอาการของระบบต่างๆ ในร่างกาย เนื่องจากเมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าสู่กระแสโลหิตและแพร่กระจายไปทั่วร่างกาย ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อย อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระร่วง ท้องผูก ปวดตามข้อหรือกระดูก เนื่องจากข้อหรือกระดูกเกิดการอักเสบและอาจมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีที่เยื่อหุ้มประสาทไขสันหลัง ลิ้นหัวใจอักเสบ ปอดบวม เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ผู้ป่วยอาจมีอาการอยู่นาน และอาจเสียชีวิตได้หากมีการอักเสบของอวัยวะสำคัญ
 
            ส่วนในสัตว์ที่เป็นโรคมักจะแท้งลูก การวินิจฉัยสามารถทำได้ด้วยการเพาะเชื้อจากเลือดในห้องปฏิบัติการ ทำให้การวินิจฉัยทำได้ยาก เพราะเชื้อเจริญเติบโตช้ากว่าเชื้อทั่วๆ ไป ซึ่งเชื้อทั่วไป 2-3 วันก็สามารถทราบผลได้ แต่เชื้อบรูเซลโลสิส อาจไม่พบเชื้อภายใน 3 วันห้องปฏิบัติการที่ไม่ชำนาญอาจวินิจฉัยไม่ได้และทิ้งเลือดที่ส่งมาเพาะเชื้อ โดยกรณีคนไข้ที่ จ.กาญจนบุรี ใช้เวลาเพาะเชื้อประมาณ 1 สัปดาห์ จึงจะพบเชื้อดังกล่าว
 
          "ที่ต้องออกมาเตือนเพราะไม่ต้องการให้ประชาชนเกิดความแตกตื่น หรือห้ามไม่ให้ทุกคนดื่มนมแพะ เพราะนมแพะเป็นนมที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และปัจจุบันเป็นที่นิยมเพราะคนหันใส่ใจสุขภาพมากขึ้น แต่การรับประทานอาหารที่มาจากธรรมชาติไม่ว่านมหรือเนื้อจะต้องทำให้สุกเสียก่อน ควรต้มนมอย่างน้อย 10 นาทีก่อนดื่ม ขอย้ำว่านมแพะเป็นนมที่มีประโยชน์ มีคุณค่าทางอาหาร คนไข้ของผมที่ จ.กาญจนบุรี ทราบว่าเลี้ยงแพะและมีการรีดนมแพะมาดื่ม หรือบางครั้งมีเพื่อนบ้านนำมาให้ ซึ่งก่อนดื่มเขาได้นำมาต้ม แต่พอเดือดจะเกิดฟองล้นพาชนะจึงรีบยกลง กระบวนการดังกล่าวอาจทำให้นมไม่สุก และติดเชื้อได้” น.พ.กำธร กล่าว และว่า ทราบว่าใน จ.กาญจนบุรีมีการเลี้ยงแพะทั้งจังหวัดประมาณ 80,000 ตัว
 
            อย่างไรก็ตาม นพ.กำธร กล่าวว่า โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อจากคนสู่คน แต่จะติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งคนที่มีความเสี่ยงได้แก่ เกษตรกรที่เลี้ยงแพะ สัตวแพทย์ หรือผู้ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสัตว์ที่มีโรค ส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อจากการดื่มนมที่ไม่ผ่านการฆ่าเชื้อ หรืออาจได้รับเชื้อผ่านทางผิวหนังที่มีรอยถลอก ดังนั้นคนที่มีความเสี่ยงหากมีอาการไข้ และรักษาไม่หายภายใน 2 สัปดาห์ ควรพบแพทย์เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยทันที หากติดเชื้อแพทย์จะทำการรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะทุกวันอย่างน้อย 6 สัปดาห์ ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อสามารถที่จะกลับมาติดซ้ำได้อีกหากมีพฤติกรรมเสี่ยง
 
            ด้าน นพ.พนาสนธิ์ กล่าวว่า การพบผู้ป่วย 2 ราย ติดต่อกัน หลังจากที่ไม่พบมานานประมาณ 30 ปี จึงอยากให้ความรู้แก่พี่น้องประชาชนเพื่อระมัดระวังและป้องกันตัวเอง ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้สำรวจมาโดยตลอด โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียในตระกูลบรูเซลโลสิส มีหลายสายพันธุ์ และพบได้ในสัตว์จำพวกวัว ควาย หมู แพะ และสุนัข แต่ในไทยไม่มีการรายงานว่าพบเชื้อในสุนัขและหมู ส่วนนมวัว ควาย พบเพียงร้อยละ 0.01 เท่านั้น และกรมปศุสัตว์สามารถควบคุมได้ เพราะได้มีการออกสำรวจตรวจตราตลอดเวลา หากพบสัตว์ที่ติดเชื้อจะทำลายซากทิ้งทันที
 
  
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=4629398781657
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ