Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








อย.คุมเข้มอาหารนำเข้า หวั่นคนไทยตกเป็นเหยื่อ

03 ก.ค. 2549

            อย.ออกมาตราเข้มหลังตรวจพบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายจากอาหารนำเข้า ระบุจากนี้ไปต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี ประกอบการนำเข้าทุกครั้ง เผยโดยมากพบเชื้อแบซิลลัส ซีเรียสปนเปื้อน ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคทางเดินอาหารที่ถึงแม้อาการจะไม่รุนแรงมากนักแต่ถือว่าบั่นทอนและทำลายต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก
 
            เมื่อเวลา 14.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย ศ.ดร.ภักดี โพธิศิริ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขา อย. นพ.สถาพร วงษ์เจริญ รองเลขาอย. ได้ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง กระทรวงสาธารณสุขตรวจสอบอาหารนำเข้าอย่างเข้มงวด หลังจากพบสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภคจำนวนมาก และยังได้ออกมาตรการใหม่เพื่อควบคุมอาหารนำเข้าโดยอาหารที่จะนำเข้าจะต้องมีหนังสือรับรองมาตรฐานจีเอ็มพี ประกอบการนำเข้าทุกครั้ง เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภายในประเทศ ซึ่งนอกจากการตรวจสอบอาหารที่นำเข้าแล้ว กระทรวงสาธารณสุขจะตรวจสอบเคมีภัณฑ์ที่นำเข้ามาเพื่อผลิตอาหารด้วยว่าปลอดภัยกับการนำไปประกอบเป็นอาหารหรือไม่
 
           นพ.ศุภชัยกล่าวว่า จากการตรวจสอบตั้งแต่เดือนตุลาคม 2546-พฤษภาคม 2547 ซึ่งได้สุ่มตรวจอาหารนำเข้าที่ด่านอาหารและยาทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค จำนวน 24 ด่าน เช่น ด่านท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ด่านท่าเรือกรุงเทพฯ (คลองเตย) ด่าน รพท. การรถไฟลาด- กระบัง ด่านท่าเรือแหลมฉบัง ด่านเชียงแสน ทั้งหมด 67,028 รายการ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท พบข้อบกพร่อง 412 รายการ เป็นข้อบกพร่องในการติดฉลาก แสดงสารบบ และการแสดงในรับรองสถานที่ผลิตสำหรับการเก็บตัวอย่างอาหารนำเข้าส่งตรวจวิเคราะห์ 12,710 รายการ พบข้อบกพร่อง 164 รายการ
 
          ทั้งนี้จากการตรวจวิเคราะห์พบเชื้อโรคอาหารเป็นพิษแบซิลลัส ซีเรียส (Bacillus cereus) ในอาหารประเภท บะหมี่ ซึ่งนำเข้าจากเกาหลี ฮ่องกง ญี่ปุ่น ขนมนำเข้าจากฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เวียดนาม และพบในซุปงาดำชนิดผง และสาหร่าย ซึ่งนำเข้าจากจีน พบในเครื่องเทศ (สำหรับน้ำชา) ซึ่งนำเข้าจากอินเดีย พบในลูกเดือยผสมถั่วและมันเทศรสแอ๊ปเปิ้ลชนิดผง ซึ่งนำเข้าจากสหรัฐ พบในข้าวโอ๊ตสุกเร็ว อาหารเสริมสำหรับเด็ก เครื่องดื่มรสช็อกโกแลต ซึ่งนำเข้าจากมาเลเซีย พบในเนย ซึ่งนำเข้าจากฮอลแลนด์ พบในครีมซุปรสเนื้อวัว ซึ่งนำเข้าจากเกาหลี พบในเต้าเจี้ยวบด ผงโรยข้าวสุกี้ยากี้ ซุปเข้มข้นผสมซอสถั่วเหลือง ซุปถั่วเหลืองบด ซุปเต้าเจี้ยว เครื่องแกงกะหรี่ ซึ่งนำเข้าจากญี่ปุ่น โดยอันตรายจากเชื้อแบซิลลัส ซีเรียส จะทำให้เกิดโรคทางเดินอาหาร มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้องเกร็ง และท้องเสีย
 
          และพบซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (สารฟอกขาว) ในปริมาณสูงเกินระดับความปลอดภัยที่ผู้บริโภคควรได้รับ ในอาหารประเภท เยื่อไผ่แห้ง เม็ดบัว ดอกไม้จีน เห็ดหูหนูขาว เห็ดหอม สาหร่าย มะเขือเทศ อบแห้ง พุทราตากแห้ง ลูกท้อแห้ง และแอปริคแห้ง โดยนำเข้ามาจากจีน แคนาดา ออสเตรเลีย และตุรกี ซึ่งอาหารดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งนี้ อันตรายจากสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ หากมีในปริมาณสูงอาจทำให้เกิดอาการหายใจขัด ความดันโลหิตต่ำ เวียนศีรษะ สำหรับผู้ที่แพ้อย่างรุนแรงหรือ ผู้ป่วยที่เป็นโรคหอบหืด จะมีอาการช็อกหมดสติ และเสียชีวิตได้
 
          "ทาง อย. ได้รับข้อมูลจาก อย.ของจีนว่า มีการผสมยาแผนปัจจุบันลงไปในอาหารเสริม ซึ่งอย.ของไทยก็พบสารฟีนอล์ฟทาลีน ที่มีคุณสมบัติเป็นยาระบายในวัตถุดิบชาเขียว ซึ่งนำเข้ามาจากจีน โดย นำเข้ามาขายแฝงในลักษณะผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อลดความอ้วนหรือลดน้ำหนัก และทางอย.กำลังเก็บตัวอย่างอาหารเสริมจากจีนอย่างเข้มข้น เพราะจากรายงานของทางการจีนแจ้งมาว่า ในอาหารเสริมลดคอเลสเตอรอล ป้องกันอาการเบาหวาน ความดัน มียาแผนปัจจุบันผสมอยู่อย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการด้วย” นพ.ศุภชัยกล่าว
 
           นพ.ศุภชัยกล่าวว่า จากการพบปัญหาดังกล่าว ทาง อย. ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังผู้รับอนุญาตนำเข้า ทั้งหมด เพื่อเรียกเก็บจากท้องตลาดแล้ว นอกจากนี้ หากยังพบมีการนำเข้าอาหารชนิดเดียวกับที่เคยตรวจพบ ตกเกณฑ์มาตรฐานจะทำการอายัดไว้และเก็บตัวอย่างวิเคราะห์ หากปลอดภัยจึงอนุญาตให้จำหน่ายได้ แต่หากพบไม่ได้มาตรฐานก็จะทำลายสินค้าหรือส่งคืนประเทศต้นทาง และดำเนินการตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
 
           นพ.สถาพรกล่าวว่า สำหรับอาหารที่นำเข้ามานั้น เพื่อความปลอดภัยกับการบริโภคขอให้ประชาชนเลือกซื้ออาหารที่มีฉลากภาษาไทย และมีเครื่องหมาย อย. ติดอยู่ เพราะอาหารเหล่านี้จะได้รับการสุ่มตรวจวิเคราะห์มาแล้วในระดับหนึ่ง แต่หากเป็นอาหารที่ไม่มีเครื่องหมาย อย. และไม่มีฉลากภาษาไทย ถือว่าเป็นอาหารลักลอบนำเข้าที่ทาง อย.ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยได้ 
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9470000002985
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ