Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








ชอบหม่ำสาหร่ายทะเลแห้งต้องระวัง เพราะมันเปลี่ยนไปแล้ว

03 ก.ค. 2549

          ในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมานี้ "สาหร่ายทะเลแห้ง" เป็นสินค้าอีกชนิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากประชาชนคนไทยค่อนข้างมาก เนื่องเพราะมีคุณสมบัติและคุณประโยชน์ที่ค่อนข้างมากมาย ถือเป็นแหล่งอาหารที่มีไอโอดีนและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในปริมาณสูง จัดอยู่ในกลุ่มอาหารเสริมที่แพร่หลาย ชาวบ้านร้านตลาดล้วนแล้วแต่รู้จักสาหร่ายทะเลแห้งทั้งสิ้น
 
           แต่ในวันนี้ สาหร่ายทะเลแห้งกำลังเปลี่ยนไป และเปลี่ยนไปในทิศทางที่น่าเป็นห่วงเสียด้วย เนื่องจากตรวจพบการปนเปื้อนที่มีนัยสำคัญทางสถิติและอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้รับประทานด้วย
 
           ในเรื่องนี้ น.พ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ เลขาธิการ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้ข้อมูลว่า ทางสถาบันอาหารได้ตรวจสอบพบสาหร่ายทะเลแห้งที่จำหน่ายในท้องตลาด มีการปรุงแต่งรส และกลิ่นให้ถูกปากคนไทยมากขึ้น เป็นที่ชื่นชอบของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ที่สำคัญคือ บางตัวอย่างมีสารแคดเมียมปนเปื้อนเกิน 2 มก./กก. ซึ่งเกินกว่ามาตรฐานที่หลายประเทศกำหนดไว้
 
           ทั้งนี้ โดยปกติสาหร่ายทะเลจัดเป็นพืชที่มีขีดความสามารถในการดูดซับสารที่อยู่ในทะเลได้มาก ดังนั้น หากบริเวณที่สาหร่ายทะเลขึ้นอยู่มีสารปนเปื้อน เช่น ตะกั่ว แคดเมียม สารหนูหรือโลหะหนักที่เป็นพิษสูง สาหร่ายก็จะดูดซับสารเหล่านั้นเข้ามาไว้ เมื่อนำมาบริโภคก็จะเข้าไปในร่างกายมนุษย์ได้
 
            อย่างไรก็ตาม ก็เป็นที่คลายกังวลไปได้เปลาะหนึ่ง เนื่องเพราะคนไทยไม่ได้บริโภคสาหร่ายทะเลเป็นอาหารหลักเหมือนกับญี่ปุ่น หรือ จีน และไม่ได้บริโภคกันในปริมาณมากนัก แต่ก็สามารถดูดซับ ตะกั่ว
 
            ประเด็นที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งก็คือ แต่ละประเทศจะมีมาตรฐานของการปนเปื้อนสารแคดเมียมในปริมาณที่แตกต่างกัน เแต่ส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับไม่เกิน 2 มก./กก. ส่วนในประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของแคดเมียมในอาหาร
 
             แต่ได้กำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของแคดเมียมในน้ำดื่มว่า หากเป็นน้ำตามแหล่งธรรมชาติจะกำหนดไม่ให้เกิน 0.003 พีพีเอ็ม และหากเป็นน้ำดื่มบรรจุขวดจะต้องไม่เกิน 0.005 พีพีเอ็ม
 
             จากเรื่องสาหร่ายทะเลแห้ง ก็มาถึงเรื่องความปลอดภัยในอาหารการกินกันบ้าง เพราะเรื่องนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง และที่ผ่านมารัฐบาลก็ดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจังด้วย
 
              เมื่อได้ตรวจสอบข้อมูลไปที่ สิริกร มณีรินทร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขก็ทำให้พบข่าวดีอยู่ไม่น้อย เพราะจากการตรวจสอบอาหารที่ผลิตและจำหน่ายในประเทศ ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีปัญหาลดลง โดยในกลุ่มอาหารสด สารเร่งเนื้อแดง เคยพบปัญหาในปี 2546 ถึง 96% ลดลงเหลือ16.30% ในปี 2547 สารฟอกขาวเคยพบ 10% ลดเหลือ 3.15% สารกันราเคยพบ 17.2% ลดเหลือ 4.34% บอแรกซ์ เคยพบ 42% เหลือเพียง 0.75% ฟอร์มาลินเคยพบ 10% ลดเหลือ 2.74% และสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชที่เคยพบ 20.6% เหลือเพียง 5.56%
 
              ก็เป็นอันว่า เวลานี้ ประชาชนคนไทยได้ค่อยๆ หลุดพ้นจากสภาพความเป็นพลเมืองชั้น 2 ไปได้บ้างแล้ว ซึ่งก็คงต้องฝากกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาลเฝ้าจับตาเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็หวังอย่างยิ่งว่าในอีกไม่ช้าสภาพที่เลวร้ายเหล่านี้จะหมดไปจากสังคมไทยในที่สุด
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9470000002175
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ