Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








แพทย์ เตือน “เมาเห็ด” อย่าสวนทวารล้างท้อง ส่งผลร้ายอาจตายได้

03 ก.ค. 2549

          กรมควบคุมโรคเตือนอันตรายการรับประทานเห็ดพิษ หากเป็นเห็ดป่าที่ไม่รู้จัก อย่าเสี่ยงรับประทาน ผลได้ไม่คุ้มเสีย หากมีอาการเบื่อเมาเห็ดให้รีบปฐมพยาบาลโดยทำให้อาเจียน อย่าสวนทวารหนักล้างท้อง เพราะเสี่ยงต่อร่างกายขาดน้ำถึงขั้นเสียชีวิต รีบนำส่งแพทย์ เตือนอย่ากินเห็ดมาก เพราะจัดเป็นอาหารที่ย่อยยาก ผู้ที่ระบบการย่อยอ่อนแอทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ ระวังเห็ดระโงกหินมีสารพิษ Cyclopeptides จัดเป็นพิษที่ร้ายแรง ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตภายใน 4-10 ชั่วโมง 
 
          นายองอาจ เจริญสุข ที่ปรึกษาสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายนของทุกปี มักมีข่าวการป่วยและเสียชีวิตจากการรับประทานเห็ดพิษเป็นประจำ เนื่องจากทั่วทุกภาคมีเห็ดขึ้นเองธรรมชาติ เห็ดที่รับประทานได้ เช่น เห็ดโคน เห็นจูน เห็ดไข่ห่าน เห็ดเผาะ เห็ดตับเต่าบางชนิดและเห็ดลม เป็นต้น แต่เห็ดบางชนิดมีอันตรายถึงชีวิตเพราะมีพิษมาก เช่น เห็ดตับเต่าบางชนิด เห็ดระโงกหิน เห็ดสมองวัว เห็ดน้ำหมึก เห็ดหิ่งห้อย เห็ดเกล็ดดาว เป็นต้น บางชนิดจัดเป็นยาเสพติด ใครครอบครองมีความผิดตามกฎหมาย เช่น เห็ดขี้ควาย เห็ดขี้วัว เป็นต้น 
 
          เห็ดระโงกหิน ก็อันตรายเช่นกัน 

          นายองอาจ กล่าวว่า กลุ่มสารพิษในเห็ดแบ่งออกได้หลายกลุ่ม เช่น สารพิษ Cyclopeptides จัดเป็นพิษที่ร้ายแรง แสดงอาการภายใน 6-24 ชั่วโมงภายหลังรับประทาน ผู้ป่วยอาจเสียชีวิตภายใน 4-10 ชั่วโมง เนื่องจากพิษนี้มีผลต่อระบบทางเดินอาหาร อุจจาระร่วงอย่างแรง เป็นตะคริวที่ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ระบบเลือดระบบหายใจ ระบบประสาทล้มเหลว พวกเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก มีสารพิษ Cyclopeptides สูง นอกจากนี้ยังมีสารพิษ Monomethylhydrazine แสดงอาการภายใน 6-8 ชั่วโมง ถึงขั้นเสียชีวิตได้โดยมีพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ทำลายเซลล์ตับและไต ทำให้เม็ดเลือดแดงแตกสลาย สารพิษ Coprine แสดงอาการภายใน 5-10 นาที ชาตามตัว แขนขาอ่อนแรง เวียนศีรษะคลื่นไส้ อาการรุนแรงอาจหมดสติ 
 
          "อาหารที่ทำจากเห็ดควรบริโภคแต่พอควร อย่ากินจนอิ่มมากเกินไป เพราะเห็ดเป็นอาหารที่ย่อยอยาก ทำให้ระบบย่อยอาหารที่อ่อนแอเกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้ การปรุงอาหารก็ต้องระวังเลือกเห็ดที่เน่าเสียออก เพระเห็ดเน่าอาจทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ อย่ากินเห็ดดิบ ๆ สุก ๆ เห็ดดิบดอง เพราะเห็ดบางอย่างยังมีพิษอย่างอ่อนอยู่ พิษสะสมในร่างกายจนเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ในภายหลัง หลีกเลี่ยงการกินเห็ดพร้อมเหล้า เพราะเห็ดบางชนิดจะเกิดพิษทันทีและทำให้พิษกระจายได้รวดเร็ว รุนแรงขึ้น ควรเลือกกินเห็ดที่รู้จัก ถ้าไม่มั่นใจ อย่าทดลองกิน เพราะผลที่เกิดขึ้นไม่คุ้มค่า”นายองอาจ กล่าว 
 
           ทำให้ผู้ป่วยอาเจียนเมื่อเมาเห็ด คือวิธีที่ดีที่สุด

           ที่ปรึกษาสำนักระบาดวิทยา กล่าวว่า หากมีอาการเบื่อเห็ดหรือกินเห็ดพิษ ต้องรีบปฐมพยาบาลโดยทำให้ผู้ป่วยอาเจียน นำเศษอาหารที่ตกค้างออกให้มากที่สุด ใช้น้ำอุ่นผสมผงถ่านกัมมันต์ (activated charcoal)โดยแก้วแรกให้ล้วงคอให้อาเจียนแล้วค่อยดื่มแก้วที่ 2 และล้วงคอให้อาเจียนอีกครั้ง เป็นการช่วยดูดพิษออกจากผู้ป่วย รีบนำส่งแพทย์ พร้อมตัวอย่างเห็ดพิษ หากผู้ป่วยอาเจียนยากให้ใช้เกลือแกง 3 ช้อนชาผสมน้ำอุ่นจะทำให้อาเจียนง่ายขึ้น แต่วิธีนี้ห้ามใช้กับเด็กอายุ 5 ขวบ ประการสำคัญห้ามล้างท้องด้วยการสวนทวารหนัก วิธีนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยเท่านั้น เพราะวิธีนี้เป็นอันตรายหากร่างกายขาดน้ำ 
 
          "การรักษาผู้ป่วยที่เบื่อเห็ด กินเห็ดพิษ แพทย์จะรักษาตามอาการของสารพิษที่ได้รับ แนวทางในการรักษาเช่น สารพิษพวก Amanitin และ Helvellic acid หลังล้วงคอให้ผู้ป่วยอาเจียนแล้ว ให้ล้างกระเพาะ ใช้น้ำสุก 1-2 ลิตร ผสมผงถ่านและทำ Colonic lavage เพื่อไม่ให้มีเศษอาหารเหลือในระบบทางเดินอาหาร ให้กลูโคสทางเส้นเลือดดำ วิตามินบำรุงตับ ฟื้นการทำงานของไต”นายองอาจ กล่าวและย้ำว่า เห็ดที่ไม่ควรนำมาบริโภคคือ เห็ดที่เป็นสีน้ำตาล เห็ดที่มีหมวกเห็ดสีขาว เห็ดที่มีปลอกหุ้มโคน เห็ดที่มีวงแหวนใต้หมวก เห็ดที่มีโคนอวบใหญ่ เห็ดที่มีปุ่มปม เห็ดที่มีลักษณะคล้ายสมองหรืออานม้า เห็ดตูมที่มีเนื้อในสีขาว เห็ดที่ขึ้นใกล้กับมูลสัตว์หรือขึ้นบนมูลสัตว์ 
 
           ข้อมูลจากกลุ่มส่งเสริมสนับสนุนวิชาการ สำนักระบาดวิทยา แจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่าน รายงานว่า มีผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดป่า 4 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย ที่อำเภอปัว จังหวัดน่าน สำนักระบาดวิทยาจึงส่งเจ้าหน้าที่ไปสอบสวนโรคร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดน่านและโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว พบว่า ตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคมถึง 8 กรกฎาคม จังหวัดน่านมีผู้ป่วยอาหารเป็นพิษจากการกินเห็ดป่า จำนวน 22 ราย ซึ่งที่อำเภอปัว ประชาชนนิยมบริโภคเห็ดป่ามาก โดยนำเห็ดที่เก็บจากป่าหลายชนิดมาปรุงในเหมือเดียวกันเรียกว่า "เห็ดเครื่อง” ทำให้แยกได้ยากว่า ชนิดใดเป็นเห็ดพิษ เจ้าหน้าที่นำเห็ดจากแหล่งที่ประชาชนนำมารับประทานส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=4681802193521
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ