Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








คนไทยกิน “ยา” มากเกินจำเป็น แถมราคาแพงไม่เกิดผลดีต่อสุขภาพ ...

13 ก.ค. 2549

           เผยคนไทยบริโภคยาสูงถึงปีละ 50,000 ล้านบาท เปรียบเทียบสัดส่วนสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้วอื้อ ส่วนใหญ่บริโภคเกินจำเป็น และใช้ยาราคาแพง ใช้ไม่เหมาะสม ไม่เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพ ขณะที่ผลวิจัยการใช้ยาของผู้ป่วยจากโรงพยาบาลภูมิภาค 18 แห่ง พบมีการสั่งจ่ายยาเป็นประจำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจ ลมชัก หอบหืด โดยเฉพาะผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี
 
           รศ.นพ.ปิยะ เนตรวิเชียร ตัวแทนคณะทำงานประสานผลการพิจารณาในบัญชียาหลักแห่งชาติ เปิดเผยว่า บัญชียาหลักมีทั้งหมดกว่า 900 รายการ จัดแบ่งตามบัญชียา ก.ข.ค.ง. และ จ.ซึ่งแต่ละบัญชีจะมีความต่างกันขึ้นอยู่กับความแรงของโรค ทั้งนี้คนไทยบริโภคยาประมาณปีละ 50,000 ล้านบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายด้านยาต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยสูงถึงร้อยละ 35 สูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 10-20 เท่านั้น ขณะที่สุขภาพของคนไทยไม่ได้ดีไปกว่าประเทศอื่น ที่มีการบริโภคยาต่ำกว่า เนื่องจากการบริโภคยาที่ไม่เหมาะสมเกินความจำเป็นและใช้ยาราคาแพง
 
           ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ได้ประมาณการว่า ทั่วโลกมากกว่าครึ่งหนึ่งของยา ที่มีการสั่งใช้ หรือจำหน่ายเป็นไปอย่างไม่เหมาะสมและมีเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยนำยาที่ได้ไปใช้อย่างถูกต้อง การใช้ยาที่ไม่ถูกต้องมากเกินไปหรือน้อยเกินไป ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทรัพยากรและการแพร่กระจายของโทษที่เกิดจากการใช้ยาไม่เหมาะสมอย่างกว้างขวาง 
 
           นอกจากนี้ มีรายงานการศึกษาวิจัยของ ดร.สุพล ลิมวัฒนานนท์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นและคณะ ได้ศึกษาวิจัยเรื่องค่าใช้จ่ายและการใช้ยาของผู้ป่วยที่รับการรักษาจากโรงพยาบาล:ผลกระทบของนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พบว่า มีข้อมูลการสั่งจ่ายยาของแพทย์จากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของโรงพยาบาลในภูมิภาค 18 แห่งจากทุกภูมิภาค โดยศึกษายาที่มักใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานานสำหรับโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด ภาวะไขมันในเลือดสูง โรคลมชัก หอบหืด ยาที่ใช้สำหรับกลุ่มอาการที่พบได้บ่อย คือ โรคกระดูกและข้ออักเสบ และแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ ยาที่ใช้สำหรับโรคที่มีความรุนแรงต่อชีวิตและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการติดเชื้อเอชไอวี พบข้อมูลในปี 2545 บ่งชี้ว่า ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทองเข้าถึงบริการโรคค่าใช้จ่ายสูง เช่น ยาต้านไวรัสเอชไอวี โรคหัวใจ รวมทั้งโรคหลอดเลือดมากขึ้น หลังมีโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว 
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000088291
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ