Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








ทอนซิลอักเสบ..ควรผ่าตัดเมื่อใด/เอมอร คชเสนี

05 ก.ย. 2549

หน้าที่ของต่อมทอนซิล

ต่อมทอนซิล คือต่อมน้ำเหลืองที่อยู่บริเวณด้านข้างลำคอตรงโคนลิ้น เป็นส่วนหนึ่งของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ภายในต่อมมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิดทำหน้าที่คอยดักจับเชื้อโรค
 
ต่อมทอนซิลจะทำหน้าที่ด้านระบบภูมิคุ้มกันมากที่สุดเมื่ออายุ 4-10 ปี หลังจากนั้นจะมีขนาดเล็กลง แต่ยังทำงานเกือบตลอดชีวิต ถ้าต่อมทอนซิลเกิดการอักเสบบ่อยๆ จะทำให้เม็ดเลือดขาวในต่อมทอนซิลลดลง ส่งผลให้ฆ่าเชื้อโรคและสร้างภูมิคุ้มกันได้ลดลงด้วย และบางครั้งแทนที่ต่อมทอนซิลจะเป็นที่กำจัดเชื้อโรค กลับกลายเป็นที่เก็บเชื้อโรคแทน ทำให้เกิดการอักเสบได้บ่อยๆ
 
อาการของทอนซิลอักเสบ
 
ทอนซิลอักเสบจะมีอาการคล้ายคออักเสบธรรมดา แต่อาการจะรุนแรงกว่า ทอนซิลอักเสบเป็นภาวะอักเสบเฉพาะที่ต่อมทอนซิล ส่วนคออักเสบเป็นภาวะอักเสบของเนื้อเยื่อในลำคอที่อยู่บริเวณหลังช่องปากเข้าไป บางครั้งภาวะทั้งสองอาจเกิดพร้อมกันได้

หากสงสัยว่าเป็นทอนซิลอักเสบหรือไม่ ลองส่องกระจกดูจะพบว่าบริเวณต่อมทอนซิลบวม แดง โต และมีหนอง ผู้ป่วยมักจะมีอาการเจ็บคอ มีไข้ หนาวสั่น และเวลากลืนอาหารจะเจ็บมาก
 
สาเหตุของทอนซิลอักเสบ
 
ทอนซิลอักเสบอาจเกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย สำหรับเด็กก่อนวัยเรียน มักเกิดจากเชื้อไวรัส และติดต่อกันได้ง่าย เพราะยังไม่รู้จักวิธีป้องกันโรค ส่วนเด็กโตและผู้ใหญ่ มักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนใหญ่เป็นเชื้อกลุ่มเดียวกับที่ทำให้เป็นหวัด หรือเชื้อที่ทำให้เกิดการอักเสบของระบบหายใจตอนบน
 
การรักษาทอนซิลอักเสบ
 
ปกติแพทย์จะให้การรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ ให้ยาลดน้ำมูก ให้ยาแก้อักเสบ เพื่อกำจัดเชื้อต้นเหตุ หากเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ ในปัจจุบันยาในกลุ่มเพนนิซิลินยังใช้ได้ผลดี ยกเว้นเชื้อบางกลุ่มที่ดื้อยา แพทย์จำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะที่แรงขึ้น ในรายที่มีอาการมากๆ เช่น เจ็บคอจนรับประทานอาหารไม่ได้ และมีไข้สูง แพทย์จะแนะนำให้นอนโรงพยาบาลเพื่อให้น้ำเกลือและยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะทำให้อาการดีขึ้นเร็วกว่าการให้ยากลับไปรับประทานที่บ้าน แต่หากเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการเท่านั้น เพราะยาปฏิชีวนะไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ หากเป็นทอนซิลอักเสบบ่อยๆ ต่อมทอนซิลจะโตขึ้น เกิดร่องหรือซอก ทำให้เศษอาหารเข้าไปตกค้าง และจะทำให้กลายเป็นการอักเสบแบบเรื้อรัง
 
กรณีที่ทอนซิลโตมากๆ อาจรบกวนการนอน ทำให้นอนกรน นอนหลับไม่สนิท กระสับกระส่าย บางครั้งรุนแรงจนทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย และหากเป็นทอนซิลอักเสบแล้วปล่อยทิ้งไว้โดยไม่รักษา หนองที่ทอนซิลจะลามไปที่บริเวณข้างเคียง เช่น บริเวณช่องว่างรอบทอนซิล ทำให้เกิดเป็นฝีรอบต่อมทอนซิล แล้วลุกลามผ่านช่องคอ เข้าสู่ช่องปอดและหัวใจ นอกจากนี้ เชื้อแบคทีเรียยังอาจเข้าสู่กระแสเลือด แล้วกระจายไปทั่วร่างกาย จนอาจทำให้เสียชีวิตได้
 
เมื่อใดที่ควรจะผ่าตัดต่อมทอนซิล แพทย์จะพิจารณาผ่าตัดต่อมทอนซิลก็ต่อเมื่อ
 
1.ต่อมทอนซิลอักเสบเรื้อรัง รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือเกิดการอักเสบซ้ำซาก ปีละ 6-7 ครั้ง หรือปีละ 2-3 ครั้ง แต่เป็นหลายปีติดต่อกัน
 
2.ต่อมทอนซิลโตมากๆ เป็นอุปสรรคต่อการหายใจ ซึ่งจะทำให้ปอดฟอกอากาศได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรือเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
 
3.ผู้ป่วยที่เป็นพาหะของเชื้อคอตีบ ซึ่งปัจจุบันพบได้น้อยแล้ว หรือผู้ป่วยที่เคยเป็นหนองบริเวณช่องรอบต่อมทอนซิลมาก่อน
 
4.ผู้ป่วยที่มีต่อมทอนซิลโต และแพทย์สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งของต่อมทอนซิลโดยตรง หรือมีมะเร็งที่ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอแล้วหาตำแหน่งมะเร็งต้นเหตุไม่พบ และสงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งที่มาจากต่อมทอนซิล
 
หลังผ่าตัด แพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ และให้อาหารเหลวในวันแรกหลังการผ่าตัด จากนั้นจึงเปลี่ยนเป็นอาหารอ่อนเมื่ออาการเจ็บคอดีขึ้น ส่วนในรายที่ไม่สามารถกลืนอาหารและน้ำได้เพราะเจ็บมาก แพทย์จะให้สารอาหารทางหลอดเลือดด้วย
 
ภายใน 24 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด มีผู้ป่วยประมาณร้อยละ 1-2 ที่มีเลือดออก แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักในโรงพยาบาล 1 คืนเพื่อสังเกตอาการ ประมาณร้อยละ 3 จะมีเลือดออกหลังจากที่ผู้ป่วยกลับบ้านไปแล้ว ส่วนผู้ป่วยที่มีเลือดออกในวันที่ 5-10 หลังผ่าตัดนั้น มักเกิดจากสะเก็ดแผลหลุดออก แต่โดยทั่วไปเลือดจะหยุดได้เอง
 
จากรายงานพบว่า หลังจากตัดต่อมทอนซิลแล้ว ภูมิคุ้มกันของร่างกายอาจจะลดลงชั่วคราว แต่ไม่พบว่ามีการติดเชื้อบ่อยขึ้นกว่าปกติ นอกจากนี้ที่บริเวณคอยังมีต่อมน้ำเหลืองอีกหลายร้อยต่อม ซึ่งจะช่วยกันทำงานหลังจากตัดต่อมทอนซิลไปแล้ว
ทอนซิลอักเสบเป็นโรคที่พบได้บ่อย แต่ยังไม่มีวิธีป้องกันโรคนี้แบบเฉพาะเจาะจง ทำได้เพียงดูแลร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อให้ภูมิต้านทานของร่างกายเป็นเกราะป้องกันโรค โดยการรับประทานผัก ผลไม้ และดื่มน้ำให้มากขึ้น พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และระมัดระวังหากต้องอยู่ใกล้กับผู้ป่วย
 
และหากเกิดโรคขึ้นแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้อง และรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงมากขึ้น 
 
 
เว็บไซต์ที่มา : http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9490000080636
แหล่งที่มา    : เว็บไซต์หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ