Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








น้ำมันแพง. . . พลังงานทดแทนช่วยคุณได้

27 มิ.ย. 2551

           ในยุคที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทั่วโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ทำให้ผู้ขับขี่รถยนต์ เริ่มมองหาพลังงานทางเลือกมากขึ้น ซึ่งพลังงานทดแทนที่ได้รับความนิยมในปัจจุบันก็คือ ก๊าชธรรมชาติ (เอ็นจีวี) และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี)
 
           การนำก๊าซธรรมชาติ (เอ็นจีวี) และก๊าซปิโตรเลี่ยมเหลว (แอลพีจี) มาใช้เป็นเชื้อเพลิงในรถยนต์ มีความแตกต่างกันระหว่างตัวก๊าซทั้ง ๒ ชนิด ที่สภาพของเนื้อก๊าซ วิธีการเก็บก๊าซ และการลดแรงดันก๊าซก่อนการใช้งาน โดยแอลพีจีต้องมีหม้อต้มเพื่อทำให้ก๊าซเหลวภายในกลายเป็นไอและมีปริมาณมากพอแก่การใช้งาน การนำก๊าซออกจากถังไปเป็นเชื้อเพลิงใช้เพียงแรงกดอากาศ ของตัวก๊าซเอง ไม่ต้องใช้เครื่องกำเนิดแรงดัน ถังเก็บแอลพีจีจึงใช้แรงดันไม่สูงมากระหว่าง ๑๐๐–๑๓๐ ปอนด์ ต่อตารางนิ้ว ซึ่งแอลพีจี ขณะอยู่ในถังมีสถานะเป็นของเหลว จะมีค่าแรงดันประมาณ ๔-๖ bar ขณะที่เอ็นจีวีต้องทำให้ไอก๊าซมีความดันมากพอจึงต้องอัดเข้าไปให้หนาแน่นมากเท่าที่จะบรรจุได้ด้วยเครื่องสร้างแรงดันประมาณ ๓,๒๐๐ psi ขณะอยู่ในถังมีสภาพเป็นก๊าซจะมีค่าแรงดันเกือบ ๒๐๐ bar ทำให้ถังเอ็นจีวีบรรจุก๊าซได้น้อยกว่าถังแอลพีจี ดังนั้น เอ็นจีวีจึงมีระยะทางในการใช้งานต่อครั้งสั้นกว่า แอลพีจี ประการสำคัญ เมื่อไปต่างจังหวัดอาจมีปัญหา เพราะทั้งประเทศ มีสถานบริการรองรับรถที่ใช้ เอ็นจีวีประมาณ ๒๘๐ แห่ง ทั้งนี้เป็นสถานบริการในเขตกรุงเทพฯ ประมาณ ๒๐๐ แห่ง ราคาค่าติดตั้ง สำหรับรถเก๋งเล็ก ๔ สูบ หรือรถกระบะดีเซล การติดตั้งอุปกรณ์และ ส่วนควบของเอ็นจีวีมีราคาประมาณ ๖๓,๐๐๐ บาท ส่วนราคาค่าติดตั้งอุปกรณ์ฯ แอลพีจี ถ้าใช้ระบบดูด ราคาประมาณ ๑๗,๐๐๐ บาท และระบบหัวฉีด ราคาประมาณ ๓๓,๐๐๐ – ๔๐,๐๐๐ บาท
 
ข้อเปรียบเทียบในการตัดสินใจติดตั้งก๊าซแอลพีจีและเอ็นจีวี
๑. เอ็นจีวีมีความปลอดภัยสูง เพราะเบากว่าอากาศ เมื่อเกิดรั่วไหลจะลอยขึ้นสู่อากาศทันที ขณะที่ก๊าซหุงต้มหนักกว่าอากาศ เมื่อเกิดการรั่วไหล จะกระจายตามพื้นราบ จึงต้องเติมกลิ่น ในก๊าซหุงต้มเพื่อให้ทราบในกรณีที่มีการรั่วไหล
 
๒. ค่าใช้จ่ายในการใช้เอ็นจีวีประหยัดกว่าแอลพีจี ซึ่งปัจจุบันเอ็นจีวีกิโลกรัมละ ๘.๕๐ บาท ในขณะที่ LPG ลิตรละ ๑๐.๘๐ – ๑๑.๐๐ บาท และในระยะทางที่เท่ากัน เอ็นจีวีจะสิ้นเปลืองน้อยกว่า นอกจากนี้เอ็นจีวียังเสียค่าภาษีรถประจำปีน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง
 
๓. ในระยะยาวเอ็นจีวีจะได้เปรียบกว่าในด้านราคาค่าติดตั้ง (ถ้ารัฐยังให้ การสนับสนุน)
 
๔. บริการติดตั้งและบริการหลังการขาย เอ็นจีวีได้มาตรฐานกว่าแอลพีจี เนื่องจากว่า รัฐให้การส่งเสริม
 
๕. การดูแลรักษาในระยะยาวไม่ต่างกัน
 
๖. ในด้านความแรงของเครื่องยนต์ อาจได้เปรียบกว่าเล็กน้อย
 
๗. การดัดแปลงเครื่องยนต์เพื่อติดตั้งแอลพีจีน้อยกว่าเอ็นจีวี
 
๘. ระยะการใช้งานด้วยปริมาณก๊าซเต็มถังต่อครั้ง แอลพีจีไปได้ไกลกว่าเอ็นจีวีแน่นอน
 
๙. ความเสื่อมของเครื่องยนต์ในเงื่อนไขเดียวกัน แอลพีจีมีน้อยกว่าเอ็นจีวี
 
๑๐. จุดบริการเติมก๊าซแอลพีจีมีมากกว่าเอ็นจีวีอย่างเห็นได้ชัด
 
            ในช่วงที่ผ่านมามีการติดตั้งอุปกรณ์ฯ ก๊าซเชื้อเพลิง เฉลี่ยเดือนละประมาณ ๕,๐๐๐ คัน แต่ช่วงมีนาคม ๒๕๕๑ เป็นต้นมา มีการติดตั้งเดือนละ ๒๕,๐๐๐ คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง ๔ เท่าตัว การนำรถยนต์ไปติดตั้งก๊าซตอนนี้อาจถูกปฏิเสธ เพราะหลายร้านไม่มีอุปกรณ์ให้ติดตั้งแล้ว บางร้านหัวใส
อ้างขาดตลาด เอาไว้คิดราคาใหม่ยามผู้ใช้รถเดือดร้อนอีกด้วย จากข้อมูลข้างต้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) หวังว่าผู้บริโภค
จะได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ประกอบการตัดสินใจในการเลือกใช้พลังงานทดแทน หากผู้บริโภคสงสัยข้อมูลเกี่ยวกับการติดตั้งดังกล่าว สามารถสอบถามได้ที่กระทรวงพลังงาน โทร. ๐๒-๒๒๓-๓๓๔๔

( )