Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








สคบ. ร่วมกับ ปคบ. ตรวจสอบ “ปืนอัดลมเลเซอร์” ...

20 ม.ค. 2554     489 views

            วันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๓๐ น.รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายองอาจ คล้ามไพบูลย์) ประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นประธานแถลงข่าวผลการทดสอบพิสูจน์ความไม่ปลอดภัยหรืออันตรายจาก "ปืนอัดลมเลเซอร์” ณ ห้องประชุมปราศจากศัตรู ชั้น ๓ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กรุงเทพมหานคร

            สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับหนังสือจาก ศาลากลางจังหวัดลำพูนกรณีเรื่องร้องเรียนที่พบว่ามีเด็กที่อยู่ใกล้บ้านกับผู้ร้อง ได้ซื้อปืนอัดลม คล้ายปืน HK ซึ่งลักษณะปืนอัดลมดังกล่าวมีลำกล้องเล็งที่มีแสงเลเซอร์สีแดง และเห็นว่าเลเซอร์แสงในกล้องอาจเป็นอันตรายต่อเด็กหรือผู้เล่นได้ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ (๑) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (๒) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (๓) ศูนย์วิจัยเพื่อส่งเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี(๔) กรมการปกครอง(๕) สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (๖) ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิคส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (๗) บริษัท อินเตอร์เทค เทสติ้ง จำกัด และ (๘) สมาคมอุตสาหกรรมของเล่นไทย ร่วมกันดำเนินการเก็บตัวอย่างปืนอัดลมจากแหล่งจำหน่ายรายใหญ่ เพื่อพิสูจน์ความไม่ปลอดภัยและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้บริโภค โดยทำการทดสอบ ๔ รายการวิเคราะห์ ได้แก่ (๑) ความยาวคลื่นแสงเลเซอร์ (๒) กำลังแสงเลเซอร์ (๓)ความเร็วของวิถีกระสุนปืน และ (๔) ความแรงของวิถีกระสุนปืน ทั้งนี้ จากข้อมูลการศึกษาทางสถิติในประเทศไทย พบว่า มีจำนวนเด็กได้รับบาดเจ็บจากปืนอัดลมประมาณ ๔,๗๙๒ รายต่อปี ซึ่งอันตรายจากปืนอัดลมเลเซอร์ส่วนใหญ่มักเกิดจาก ๒ สาเหตุหลักคือลำแสงเลเซอร์ และความแรงและความเร็วของกระสุนปืน โดยลำแสงเลเซอร์จะมีผลต่อผิวหนังและนัยน์ตา หากเข้าตาอาจส่งผลให้ตาบอดได้ ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้กำหนดแนวทางการบูรณการคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้บริโภคเกี่ยวกับสินค้าประเภท "ปืนอัดลมเลเซอร์" โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าหรือผู้ผลิตต้องได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนท้องที่ก่อน และมีการติดฉลากระบุถึงช่วงอายุที่เหมาะสมกับการใช้งาน นอกจากนี้ จะมีการควบคุมและจำกัดพื้นที่การจำหน่าย ส่วนแนวทางในการแก้ไขกรณีความไม่ปลอดภัยของปืนอัดลมเลเซอร์ ผู้ผลิตต้องดำเนินการจัดทำฉลากเพื่อให้ทราบถึงสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้านั้น หากผู้ประกอบการธุรกิจรายใดฝ่าฝืน จะมีความผิดตามกฎหมาย
 

( )