Website
1166
facebook
twitterx
youtube
Instagram
pantip
TikTok
line
connect








เอกชนต้านยกเลิกใช้ "แร่ใยหิน" ยันไม่พบเคยทำใครตาย เหมาะทำหลังคา-เบรก

11 ก.พ. 2554

           นายอุฬาร เกรียวสกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทกระเบื้องโอฬาร จำกัด กล่าวว่า กรณีที่เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศยื่นหนังสือถึงกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้ยกเลิกการใช้และนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพนั้น ในส่วนของตนมองว่าตลอด 30 ปี ที่มีการนำเข้าใยหินมาใช้กับอุตสาหกรรมในประเทศไทย ยังไม่เคยมีรายงานว่ามีผู้ป่วยจากแร่ใยหิน และเมื่อประเด็นด้านอันตรายต่อสุขภาพไม่มีหลักฐานยืนยันชัดเจน จึงควรพิจารณาในเชิงเศรษฐกิจและสังคม ถ้ารัฐบาลห้ามนำเข้าจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ที่ใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบกว่า 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 50% ของตลาดผู้ใช้กระเบื้องมุงหลังคาทั้งประเทศ
            นอกจากนี้ สารทดแทนที่นำมาใช้แทนใยหินก็มีราคาสูงกว่าถึง 10 เท่า ส่งผลให้ไทยต้องเสียดุลการค้าเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 3,000 ล้านบาท และราคาจำหน่ายกระเบื้องมุงหลังคาที่ไม่มีแร่ใยหินจะสูงขึ้นทันทีกว่า 30% ถือเป็นภาระของผู้บริโภคที่จะมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้นจากราคากระเบื้องมุงหลังคาที่แพงขึ้น และต้องเปลี่ยนกระเบื้องบ่อยขึ้น เพราะความแข็งแรงของกระเบื้องไม่มีแร่ใยหินสู้กระเบื้องที่มีแร่ใยหินไม่ได้ ขณะที่กลุ่มแรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า จะได้รับผลกระทบ เพราะจำเป็นต้องปรับลดคนงานกว่า 3,000-4,000 คน
 
            ด้านนายอัศนี ชันทอง กรรมการผู้จัดการ บริษัทผลิตภัณฑ์ตราเพชร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์หรือทางการแพทย์ที่ออกมาระบุได้ชัดเจนว่าในประเทศไทยมีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่เกิดจากการสัมผัสแร่ใยหินแต่อย่างใด
 
             ส่วนนายวิเชียร ผู้พัฒน์ ประธานที่ปรึกษา บริษัทไทยกระเบื้องหลังคา จำกัด กล่าวว่า ถ้ารัฐบาลยกเลิกการใช้แร่ใยหินภายใน 3 เดือน บริษัทคงต้องหยุดกิจการทันที ซึ่งจะส่งผลให้คนงานในโรงงาน 170 คนต้องตกงานทันที เพราะบริษัทมีขนาดเล็ก ไม่มีองค์ความรู้ในการผลิตที่ใช้สารทดแทนใยหินที่มากพอ อีกทั้งการผลิตกระเบื้องมุงหลังคาที่ไม่มีใยหิน ต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่าเครื่องละ 30 ล้านบาท ถ้าต้องปรับเปลี่ยนเครื่องจักรทั้งหมดต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 1,000-2,000 ล้านบาท และต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต 3-4 ปี
 
              ขณะที่นายสุวิทย์ ปัญญาเสวนมิตร กรรมการผู้จัดการ บริษัทโปลีเท็กซ์ อินดัสทรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผ้าเบรกรายใหญ่ในประเทศไทย กล่าวว่า แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในการนำมาใช้ผลิตเป็นผ้าเบรกรถยนต์ เพราะทนความร้อน ทนไฟ มีความยืดหยุ่น ถ้าต้องใช้ผ้าเบรกที่ทำมาจากสารทดแทนที่มีคุณสมบัติทนความร้อนด้อยกว่า ย่อมมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้มากกว่า